บี.กริม “เพิ่มเสือ – ฟื้นป่า” ร่วมกับ WWF – ประเทศไทย
บี.กริม “เพิ่มเสือ – ฟื้นป่า” ร่วมกับ WWF – ประเทศไทย
จัดโครงการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) เพื่อผู้พิทักษ์ป่า
ปกป้องอนาคตและความหวังการอนุรักษ์เสือโคร่งและผืนป่าของไทย
บี.กริม ร่วมกับ WWF-ประเทศไทย และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสริมทักษะให้แก่เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน จำนวน 39 คน ด้วยการฝึกอบรมการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) หลักสูตรเทคนิคการลาดตระเวน ภายใต้ “โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.นครสวรรค์ และ จ.กำแพงเพชร”
บี.กริม ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 140 ปี ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า และพร้อมให้การสนับสนุนช่วยเหลือเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทฯได้ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์เสือโคร่ง เพราะในศตวรรษที่ผ่านมา จำนวนประชากรเสือโคร่งในผืนป่ารอบโลกลดลงอย่างน่าใจหาย บี.กริม จึงได้ให้การสนับสนุนโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ร่วมกับ WWF-ประเทศไทย โดยเน้นการสร้างเสริมประสิทธิภาพและเทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าติดต่อกันเป็นระยะมากว่า 4 ปีแล้ว โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการคือเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในผืนป่าของไทย เพราะการมีเสือโคร่งในผืนป่า คือ ดัชนีชี้วัดที่บอกได้ว่าผืนป่าของประเทศไทยนั้นอุดมสมบูรณ์และน่าภูมิใจเพียงใด
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนต้องเผชิญกับผู้กระทำความผิดที่มาพร้อมวิธีการแปลกใหม่และทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น การสนับสนุนด้านการฝึกอบรมเทคนิคลาดตระเวนเชิงคุณภาพให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถือเป็น การเสริมสร้างทักษะ ช่วยให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ทั้งด้านความเข้มแข็ง ระเบียบวินัย สมรรถนะทางด้านร่างกายและจิตใจ เทคนิคการป้องกันตัว การใช้ทัศนสัญญาณในการสื่อสาร การจับกุมผู้กระทำผิด ตลอดจน การใช้และดูแลรักษาอาวุธอย่างถูกวิธี โดยมุ่งหวังให้เจ้าหน้าที่นำความรู้และเทคนิคที่ได้ไปใช้ในงาน ด้านการป้องกันและรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจนำไปถ่ายทอดให้กับเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ในหน่วยงานต่อไป นอกจากนั้น ยังได้มอบอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการปฏิบัติงานลาดตระเวนภาคสนามให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั้งสองอุทยาน ฯ ด้วย เช่น เป้สนาม เปลมุ้ง ฟลายชีท ถุงกรองน้ำ เครื่องระบุทางภูมิศาสตร์ (GPS) แบตเตอรี่ กล้องถ่ายรูป แก๊สกระป๋อง เป็นต้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่จำเป็นระยะยาว คือการจัดการฝึกอบรมให้มีความต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกคนได้รับการฝึกฝน อย่างทั่วถึง ตลอดจนจัดหายุทโธปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีขวัญกำลังใจในการทำงานและสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
“บี.กริม เห็นว่า ปัจจุบันประชากรเสือโคร่งในประเทศไทย ลดลงกว่าร้อยละ 97 มีสาเหตุหลักมาจาก การถูกล่าเพื่อความเชื่อและนำอวัยวะใช้ทำยา รวมถึงสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือโคร่งก็ถูกล่าเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่ส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของผืนป่า เราเห็นใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานลาดตระเวนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จึงอยากช่วยให้เขามีทักษะในการทำงานอย่างถูกต้องและปลอดภัย จึงให้การสนับสนุนโครงการนี้”
ทางด้าน ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF-ประเทศไทย) กล่าวว่า เสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าที่คอยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ หากป่าใดมีเสือโคร่งแสดงว่าป่านั้นมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่อยู่สูงสุดบนห่วงโซ่อาหาร หากเสือโคร่งอยู่ได้ สัตว์ชนิดอื่น ๆ ก็อยู่ได้ การอนุรักษ์เสือโคร่งจึงเปรียบได้กับการอนุรักษ์สัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ และอนุรักษ์ระบบนิเวศไปด้วยพร้อม ๆ กัน ปัจจุบัน ประชากรเสือโคร่งมีจำนวนลดลงจากในอดีต เหลือประมาณ 3,890 ตัว จาก 13 ประเทศทั่วโลก
“ประเทศไทย มีประชากรเสือโคร่งอยู่ประมาณ 150 - 200 ตัว การนำเทคนิคลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาอบรมแก่เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยช่วยให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ ความมั่นใจในการการปฏิบัติงานซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะสามารถช่วยในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือโคร่งซึ่งถือป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามและมีประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง” ดร.รุ้งนภา กล่าว