ดีแทค กรมส่งเสริมการเกษตรและเนคเทค-สวทช. จับมือพัฒนา “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” ผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (IoT) หวังขับเคลื่อนไทยสู่เกษตร 4.0

ดีแทค กรมส่งเสริมการเกษตรและเนคเทค-สวทช. จับมือพัฒนา “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” ผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (IoT) หวังขับเคลื่อนไทยสู่เกษตร 4.0

 

 

 

 

ดีแทค กรมส่งเสริมการเกษตรและเนคเทค-สวทช. จับมือพัฒนา “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” ผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (IoT) หวังขับเคลื่อนไทยสู่เกษตร 4.0

 

 

24 มีนาคม 2560 - ดีแทค กรมส่งเสริมการเกษตรและเนคเทค-สวทช. ร่วมมือกันพัฒนา “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” ฟาร์มต้นแบบในการพัฒนาเกษตรแม่นยำผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) หวังเสริมแกร่งเกษตรกรรายย่อย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพทางการเกษตร คิกออฟประเทศไทยสู่ยุคเกษตรกรรม 4.0 เต็มรูปแบบ

 

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาให้เกษตรกรไทยก้าวไปสู่ความเป็น Smart Farmer ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของดีแทค โดยบริษัทมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง       เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยทุกคน ภายใต้ยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของดีแทค อันได้แก่ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ลดความ     เหลื่อมล้ำผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และไม่ทิ้งขยะไว้ให้คนรุ่นหลัง เพื่อการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

“นี่ถือเป็นอีกบทบาทหนึ่งของดีแทค ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล เพื่อส่งต่อและเชื่อมโยงข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนกลไกของอินเทอร์เน็ตในการขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม” นางอรอุมา กล่าว

 

สำหรับ “ดีแทค ฟาร์มแม่นยำ” เป็นโครงการทดลองและวิจัยโดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาด้านการเกษตร โดยหวังผลในการเพิ่มผลผลิต ควบคุมคุณภาพ และลดต้นทุนให้กับเกษตรกรไทย ซึ่งดีแทคและเนคเทค-สวทช. ได้ร่วมกันพัฒนาโซลูชั่น IoT เพื่อควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ แสง และปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องในการเพาะปลูก ซึ่งจะเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันในการแสดงผล การตั้งค่า เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำ โดยเนคเทค- สวทช. รับผิดชอบในการวิจัยและผลิตอุปกรณ์ในส่วนของระบบเซนเซอร์ ขณะที่ดีแทครับผิดชอบด้านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบ dtac Cloud Intelligence

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากความร่วมมือทางการเกษตร หลังจากความร่วมมือระหว่างดีแทคและกรมส่งเสริมการเกษตรในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านเกษตรครบวงจร ตั้งแต่การผลิต แปรรูปและการตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและสร้างเครือข่ายเกษตรกรเข้มแข็ง

 

นางอรอุมา กล่าวเสริมว่า โครงการดีแทคฟาร์มแม่นยำ ได้นำร่องทดลองที่ฟาร์มแตะขอบฟ้า อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรีแล้ว โดยหลังจากนี้ จะเปิดให้เกษตรกรที่เคยผ่านการอบรมโครงการ Young Smart Farmer ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการเกษตรและดีแทคมาแล้วในการสมัครร่วมทดลอง เพื่อหาสูตรที่ดีที่สุดในการปลูกพืชแต่ละชนิด และในพื้นที่สภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งนี้ จะคัดเลือกเกษตรกรจำนวน 30 ฟาร์ม โดยจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้แอปพลิเคชันในระดับดี     มีความต้องการที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการทำเกษตรของตนเอง และสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน นอกจากนี้ จะต้องเป็นเจ้าของฟาร์ม และทำการเกษตรในโรงเรือน ตลอดจนทำการเกษตรแบบปลอดสารเคมี ทั้งนี้ ฟาร์มจะต้องตั้งอยู่ในรัศมีไม่เกิน 300 กิโลเมตรจากกรุงเทพ เพื่อความสะดวกในการวิจัย ติดตามผลและให้คำแนะนำ

 

สำหรับการคัดเลือกฟาร์มและประเภทของพืชนั้น ดีแทค ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรในด้านวิชาการ   ซึ่งประเภทของพืชในระยะทดลองนี้ จะเป็นพืชที่มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด 3 ชนิด ได้แก่ มะเขือเทศ เมล่อน  และผักปลอดสารพิษ

“ดีแทค หวังว่า โครงการดีแทคฟาร์มแม่นยำจะเป็นโซลูชั่นหนึ่งในการทำเกษตรอย่างยั่งยืน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสูงสด ด้วยงบประมาณที่น้อยลง” นางอรอุมา กล่าว

สำหรับโครงการ “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” นี้ เป็นหนึ่งในโครงการร่วมสร้าง Smart Farmer ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศ ตั้งแต่การผลิต การขาย (โครงการเกษตรเชิงพาณิชย์) และการเชื่อมโยงกับผู้บริโภค โดยผ่าน Freshket สตาร์ทอัพในโครงการ dtac Accelerate เชื่อมโยงเกษตรกรผู้ผลิตกับร้านอาหารชั้นนำ

 

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร       ได้มีเป้าหมายในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เป็น Young Smart Farmer เพื่อรองรับแรงงานภาคเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง     โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเสริมศักยภาพเกษตรกรไทย และเสริมสร้างให้เกิดเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้มีแนวคิดในการเปลี่ยนการทำเกษตรแบบดั้งเดิมสู่การเกษตรสมัยใหม่  เพื่อนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานสินค้า และมุ่งสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น อาหารสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีมูลค่าสูง สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก

 

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อที่จะสนับสนุนและพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เกิดการเรียนรู้ และพร้อมรับกับนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ทันสมัย สำหรับโครงการ “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” นั้น กรมฯ ได้คัดเลือกเกษตรกรรุ่นใหม่ กว่า 30 คน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่สำคัญในครั้งนี้ และมั่นใจว่า เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ได้คัดสรรมา พร้อมที่จะพัฒนาจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทยให้ยั่งยืนต่อไป

 

ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค กล่าวว่า ภาคเกษตรกรรม ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ตามแผนปฏิบัติการเนคเทคระยะ 5 ปี พ.ศ.2560 - 2564 ที่มุ่งเน้นงานวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ประเทศ ยกระดับมาตรฐานของผลผลิตทางการเกษตรในแง่ของปริมาณและคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุน Smart Farm อาทิ เทคโนโลยี what2grow ที่นำไปใช้ใน AgriMap Online สถานีตรวจวัดข้อมูลสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช และเครื่องรับเมล็ดปาล์มอัตโนมัติ

 

สำหรับโครงการ “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดของเนคเทค ได้พัฒนาด้านเทคโนโลยีด้านเซนเซอร์ โดยสร้างระบบควบคุมการเพาะปลูกแบบเครือข่ายเกษตรกร จำเพาะเจาะจงตามชนิดของพืช ในระยะแรกจะเน้นการติดตามและเก็บบันทึกปัจจัยการเพาะปลูก เช่น ความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ อุณหภูมิในอากาศ และปริมาณแสงในโรงเรือน

 

ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย เนคเทคคาดว่า ระบบจะช่วยเกษตรกรในการเก็บข้อมูล ประมวลผล และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่รู้จักใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างตลาดและโอกาสให้ผู้ประกอบการใหม่ที่สนใจเป็นผู้ประกอบการหรือสตาร์ตอัพ

สำหรับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดทั่วประเทศ