บ้านปูฯ ต่อยอดความสำเร็จกิจการเพื่อสังคม
บ้านปูฯ ต่อยอดความสำเร็จกิจการเพื่อสังคม
จัดกิจกรรมพิเศษเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญ
กรุงเทพฯ 21 มิถุนายน 2559 – หลังจากบ่มเพาะผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ใน “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” หรือ Banpu Champions for Change มาเป็นเวลากว่า 6 ปี บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านธุรกิจพลังงานแห่งเอเชียที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ได้จัดกิจกรรมพิเศษ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม Keep on Growing: เติบโต ต่อเนื่อง ยั่งยืน” เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่เป็นศิษย์เก่าจากโครงการฯ ระหว่างปีที่ 1-5 ได้มีโอกาสนำเสนอความคืบหน้าของกิจการ พร้อมรับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดด้านการบริหารจัดการกิจการเพื่อสังคม และการสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อนำไปต่อยอดการดำเนินกิจการต่อไป ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ ถนนสุขุมวิท
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปัจจุบันกิจการเพื่อสังคมถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญมากขึ้น จุดมุ่งหมายของกิจกรรมพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม Keep on Growing: เติบโต ต่อเนื่อง ยั่งยืน ในวันนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการเพื่อสังคมที่มีผลการดำเนินงานคืบหน้ามากที่สุดจากแต่ละรุ่นในโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ตั้งแต่ปี 2554 ได้เรียนรู้เพิ่มเติม รับฟังคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด ขยายผล ทั้งในด้านการสร้างการเติบโตทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด และประโยชน์แก่สังคมในด้านต่างๆ ซึ่งการเรียนรู้เช่นนี้ จะทำให้ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมเกิดความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์ด้วยตนเอง ที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิจการของตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดของบ้านปูฯ ที่ว่า “พลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา”
กิจการเพื่อสังคมที่ได้รับการคัดเลือกเข้านำเสนอแผนธุรกิจในงานนี้ ประกอบด้วย 5 กิจการคือ 1. บริษัท อาชีฟ โซเชียล เอนเทอไพรส์ จำกัด ผู้จัดกิจกรรมค่ายและ เวิร์คช็อป รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้เยาวชนเข้าใจการทำงานในสาขาอาชีพที่สนใจ และสามารถวางแผนพัฒนาตนเอง เลือกเรียนต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. บริษัท โลเคิล อะไลค์ จำกัด พัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และนำรายได้ส่วนหนึ่งของชุมชนมาพัฒนาชุมชนนั้น 3. บริษัท นกฮูก กรุ๊ป ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ผลิตเกษตรกรวิถีอินทรีย์รายย่อยและผู้ซื้อให้มาทำการค้าร่วมกัน รวมถึงช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ควบคุมคุณภาพของสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ และช่วยเหลือทางด้านเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นแก่เกษตรกร 4. มาดี เป็นพื้นที่กลางสำหรับคนที่สนใจเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อมได้เข้ามาค้นหา รวมกลุ่มและร่วมมือกันขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงตามประเด็นที่สนใจ 5. ทูลมอร์โร โดยบริษัท สุรเสกข์ จำกัด ผลิตรายการออนไลน์ ในลักษณะของการแอบถ่าย เพื่อเตือนสติวัยรุ่น โดยให้ผู้ชมเห็นผลของพฤติกรรมจากความเชื่อผิดๆ นำเสนอในรูปแบบเข้าใจง่าย โดนใจวัยรุ่น
นอกจากนี้ กิจกรรม “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม Keep on Growing: เติบโต ต่อเนื่อง ยั่งยืน” เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมอื่นๆ ทั้งในและนอกโครงการฯ ได้มีโอกาสเข้ารับฟังการบรรยายในหัวข้อที่จะเป็นประโยชน์สำหรับนำไปพัฒนากิจการเพื่อสังคมของตนเอง อาทิ เครื่องมือทางธุรกิจที่จำเป็นต่อการต่อยอดกิจการเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน แหล่งเงินทุนและคุณสมบัติที่นักลงทุนมองหาในผู้ประกอบการเพื่อสังคม รวมถึงการจับกลุ่มทำเวิร์คช็อป แลกเปลี่ยนความคิด ปัญหาที่พบเจอ เพื่อรับคำปรึกษาและคำแนะนำจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้แก่ นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง จำกัด และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ดร. กุลภัทรา สิโรดม กรรมการตรวจสอบธนาคารไทยพาณิชย์และรองประธานศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ นางทิพย์สุคนธ์ ศุภสินธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ และนางเพ็ญศรี สุธีรศานต์ ผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เป็นต้น
นาย สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม บริษัท โลเคิล อะไลค์ จำกัด ศิษย์เก่าโครงการปีที่ 2 กล่าวว่า “ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานวันนี้ แม้กิจการโลเคิล อะไลค์ เริ่มดำเนินการไปได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีช่องว่างให้ต้องพัฒนาและปรับปรุงอีกมาก การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากบ้านปูฯ คำปรึกษาต่างๆ และโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้รู้และผู้ที่อยู่ในแวดวงกิจการเพื่อสังคม จะช่วยต่อยอดให้กับกิจการของเราได้ในอีกหลากหลายมิติและก่อให้เกิดผลกระทบด้านบวกต่อชุมชนที่เรากำลังดูแลได้อีกมาก รวมถึงรุ่นน้องในโครงการที่มาในวันนี้ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจ ให้เกิดแนวคิดและมุมมองใหม่ๆ ในการพัฒนากิจการต่อไปได้อีกด้วย”
“หัวใจของความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเพื่อสังคมและกิจการสตาร์ทอัพ คือการยื่นมือออกไปหา “ผู้รู้” หรือคนที่จะสามารถเข้ามาอุดช่องว่างด้านความรู้หรือความเชี่ยวชาญ เพื่อให้กิจการดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น บ้านปูฯยินดีให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษากิจการเพื่อสังคมอย่างเต็มที่ ด้วยเครือข่ายทั้งหมดที่เรามี เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจการเพื่อสังคมทั้งในและนอกโครงการฯ จะมีโอกาสพัฒนาไปเป็นกิจการที่สามารถขยายผลเพื่อให้เติบโตต่อไปได้ และสร้างสรรค์สิ่งดีๆกลับคืนแก่ชุมชน สังคม และประเทศ” นายชนินท์กล่าวสรุป