อดีตผู้ประกาศสาว คนเก่ง สู่ เจ้าของค่ายเพลงยุค 5.0 “ต้อม” อภิญญา มาลีนนท์ (เจริญวงศ์) สูตรความสำเร็จ “ต้องไม่เปลี่ยนในตัวตน”
CHANGE Inspiration เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : ประเสริฐ เทพศรี
อดีตผู้ประกาศสาว คนเก่ง สู่ เจ้าของค่ายเพลงยุค 5.0
“ต้อม” อภิญญา มาลีนนท์ (เจริญวงศ์)
สูตรความสำเร็จ “ต้องไม่เปลี่ยนในตัวตน”
ย้อนวันวานที่คิดถึงเธอ “ต้อม” อภิญญา มาลีนนท์ (เจริญวงศ์) อดีตผู้ประกาศสาว คนเก่ง เสียงหวาน สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่โด่งดังในยุคนั้น แต่ไม่เคยลุ่มหลงในชื่อเสียง เพราะใช้สูตรความสำเร็จ “ต้องไม่เปลี่ยนในตัวตน”
อดีตผู้ประกาศสาว คนเก่ง “ต้อม” อภิญญา มาลีนนท์ (เจริญวงศ์) ได้ตัดสินใจแต่งงานกับ นายประสาร มาลีนนท์ รองประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC ผู้ดำเนินงานสถานีโทรทัศน์วิทยุไทยทีวีสี ช่อง 3 มีบุตรด้วยกัน 3 คน จนกระทั่งวันที่ 16 ตุลาคม 2559 คุณประสารได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งอย่างสงบ สิริรวมอายุ 73 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เธอต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว พร้อมคืนวงการด้วยการจับไมค์อีกครั้ง และเปิดค่ายเพลงภายใต้ชื่อ AVS record
-ห่างหายไปนานมากจากวงการสื่อสาร หายไปทำอะไรบ้างครับ?
“หายไปเป็นแม่บ้านค่ะซึ่งก็ต้องปรับตัวเยอะมาก เพราะจากอดีตทำงานทุกวันทั้งวัน ตั้งแต่เช้ายันดึกก็ว่าได้ ที่นี้พอชีวิตเปลี่ยนก็กลายเป็นว่างานที่เราเคยทำต้องอยู่ต่อหน้าคนอื่นตอนนี้มันไม่ใช่ล่ะ แต่เป็นงานที่ต้องอยู่ต่อหน้าเด็ก 3 คน ถามว่าชีวิตเปลี่ยนมั๊ย ก็เปลี่ยนเยอะค่ะ แต่ว่าเราก็รับมือได้”
-พอมีครอบครัวแล้วก็ห่างจากวงการไปเลย?
“ใช่ค่ะ! แต่ก็คิดถึงวงการมากเพราะจริงๆ เป็นคนชอบทำงาน และตัวเองเป็นคนโชคดีที่ได้ทำงานที่รัก ก็คิดถึงมากเหมือนกันแต่มีหน้าที่ต้องทำ คือมีลูก 3 คน เป็นฝาแฝดคู่หนึ่ง และคนเล็กเป็นผู้หญิง ตอนนี้โตเรียนจบปริญญาตรีแล้ว”
-วาดฝันหรือวางแผนชีวิตให้กับลูกทั้ง 3 คน อย่างไรบ้างครับ?
“พี่เลี้ยงลูกแบบเพื่อนเพราะฉะนั้นอะไรที่ทำแล้วเขาคิดว่าอะไรดีสำหรับเขา และมีความสุขเราสนับสนุนเต็มที่ แต่ต้องมีจุดยืนอยู่อย่างเดียวว่าต้องเป็นคนดี และก็ไม่เบียดบังหรือว่าทำร้ายคนอื่น ซึ่งพวกเขาก็รู้ว่าคุณแม่เป็นผู้ประกาศเป็นนักร้อง ยิ่งช่วงนี้ ยุคแห่ง social มี youtube บางทีก็มีเพื่อนส่งมาให้ดู ว่าแม่คุณหรอ และความที่เราอยู่กันแบบเพื่อน เขาฟังเพลงเราเขาก็ยิ้มๆ แต่พี่ว่าเขาคงแอบภูมิใจบ้างล่ะ(หัวเราะ)
“พี่เป็นคนกรุงเทพ เมื่อก่อนเคยเป็นเด็กฝั่งธน คุณพ่อคุณแม่ท่านอยู่ฝั่งธน เรียนหนังสือที่โรงเรียนคอนแวนต์ จบอัสสัมชันคอนแวนต์ ก็มาเรียนปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเมื่อก่อนถ้าใครจะเรียนนิเทศศาสตร์ต้องที่นี่ ไม่ ม.กรุงเทพ ก็ นิเทศาสตร์จุฬา สมัยเรียนก็ยังไม่ได้คิดอะไรเลยคือมีหน้าที่เรียน ก็เรียนเราก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นเราชอบอะไร แต่รู้ว่าชอบร้องเพลงกับงานอะไรที่แบบนี้ ประเภทบันเทิง แต่วิชาที่เราเลือกเรียนตอนนั้นยังไม่มีด้านโทรทัศน์ พี่ก็เลือกเรียนเป็นโฆษณา เพราะหวังว่าเป็นงานที่อาจจะได้เจอคนเยอะ”
-ในช่วงนั้นเรียนจบแล้วทิศทางการเป็นผู้ประกาศมายังไงครับ?
“ถือว่าเป็นโชคดีด้วย พอเรียนจบ ช่อง 3 ประกาศรับคนพอดีสำหรับทำงานข่าว ผู้สื่อข่าว ช่างกล้อง รับล็อตใหญ่เลย พี่มองว่าเป็นโอกาสดี และเพื่อนก็ชวนไปสมัครกัน ลองดูเพราะมันตรงกับสายงานที่เราเรียนมา ตอนไปสมัครจำได้ว่าคนล้านแปดเยอะมาก พี่มองว่าเวลาที่เราจะทำอะไรต้องมีจุดมุ่งหมาย และช่วงที่เราไปสอบ เป็นการอ่าน เรื่องของการใช้เสียง อ่านคำราชาศัพท์ ซึ่งพี่คิดว่าตัวเรามีภาษีดีเพราะเราเป็นคนใช้เสียงมา เราชอบร้องเพลงอาจจะยังไม่ได้เข้าวงการตั้งแต่เล็กจนโต ร้องเพลงเล่นมาโดยตลอด เราก็อาจจะรู้จักวิธีการคอนโทรลเสียงนะ คงเป็นข้อได้เปรียบสำหรับพี่ ตอนนั้นดีเดย์ออกอากาศวันที 1 เมษายน และทางช่อง 3 ก็รับเราเข้ามาตั้งแต่วันที่ 10 เดือนมีนาคม มีเวลาฝึกแค่ไม่ถึงเดือน กว่าจะคัดเลือกกว่าจะเข้ามา ต้องฝึกหน้ากล้องทุกวัน ฝึกเสมือนจริงทุกวันและก็มีการอัดเทปไว้ นำมาดูข้อดีข้อเสียว่าเราต้องปรับปรุงตัวเองอย่างไรบ้าง อักขระชัดไหม เวลาออกหน้าจอแล้ว หน้าตาเป็นอย่างไร บุคลิกเป็นอย่างไร แล้วเราก็มีกรรมการคอยดู กรรมการก็จะคอยบอกว่าวันนี้ตรงนี้ไม่ดี ก็เอาส่วนนี้ที่เขาแนะนำมาปรับปรุงและก็แก้ไข กดดันมากเพราะว่าจริงๆ แล้วออกอากาศจริงวันแรกต้อง 3 คน แต่ ณ วันนั้นฝึกกันอยู่ประมาณ 10 คน ซึ่งเราก็ไม่มีโอกาสรู้เลยว่าเราจะได้รับเลือกให้ออกอากาศหรือเปล่า ก็ฝึกกันไป มีการเก็บคะแนนด้วย”
-ย้อนกลับไปในสมัยที่เป็นผู้ประกาศกับยุคนี้แตกต่างกันไหมครับ?
“ต่างกันมากค่ะ สมัยก่อนคนจะเป็นผู้ประกาศได้นั้นต้องครบเครื่อง เรียกว่าต้องอ่านข่าวได้ ทำข่าวได้ คือความสามารถต้องมีหลากหลาย หลายอย่าง ในยุคนี้พี่มองว่าการทำข่าวในปัจจุบันอิงกระแสsocial ซะเป็นส่วนใหญ่ บางทีคนอ่านก็ไม่ได้ออกไปทำข่าวเอง ไม่ได้ไปเห็นภาพจริงว่าเป็นอย่างไร อาจอธิบายไม่ได้ดีเท่ากับคนในสมัยนั้น เพราะเราได้เห็นจริง ลงพื้นที่จริงทำข่าวหลายสาย ข่าวราชสำนัก ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสังคม ข่าวการเมือง ข่าวอาชาญกรรม คือ ต้องลงสนามจริง ใน 1 สัปดาห์ลงสนาม 2 วัน สมัยนี้คือนั่งอ่านข่าวเพียงอย่างเดียวจะไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าเราหัวโบราณหรือเปล่านะ พี่ว่ารูปแบบเดิมสามารถทำให้เรามีประสบการณ์ และทำให้เราสร้างความเป็นคนข่าวได้ดีมากกว่าในความคิดของพี่นะคะ”
-วันแรกที่มานั่งอ่านเป็นผู้ประกาศหน้าจอรู้สึกอย่างไรบ้างครับ?
“ก็เหมือนแบบว่าฉันทำได้แล้ว (ยิ้ม) ถามว่าตื่นเต้นไหม อาจจะน้อยเพราะว่ามีการฝึกเหมือนจริงมาเป็นเวลาเกือบเดือน แต่ก็มีบ้างลึกๆ ที่วิตกว่าเราจะทำออกไปได้ดีไหม คนจะยอมรับไหม เพราะว่ากดดัน ไม่เรียกว่าคู่แข่งนะคะ พี่ ๆ ที่เขาทำกันมา ยกตัวอย่าง อาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล พี่แอ้ กรรณิการ์ ธรรมเกสร พี่ติ๋ว ศันสนีย์ นาคพงศ์ ทุกคนล้วนแบบมีออร่าเปล่งประกายหมดแล้ว และเราแบบเป็นเด็กใหม่พึ่งเข้ามาก็มีความรู้สึกกดดันตรงนี้ แต่ถามว่าตื่นเต้นไหมไม่นะคะ เพียงแต่กดดัน ซึ่งบุคคลไอดอลต้นแบบงานของพี่ น่าจะเป็นพี่แอ้นะคะ เพราะว่า 1. มีความน่าเชื่อถือ 2. มีความสบายๆ 3.เป็นคนที่มีอารมณ์ขัน พี่ว่าพี่แอ้มีครบเครื่อง ช่วงนั้นการทำงานก็ถาโถมมาเรื่อยๆ นะคะหมายถึงว่างานก็มีมากขึ้น เริ่มมีคนรู้จัก เวลาที่ออกไปข้างนอกก็จะมีคน ทัก อุ๊ย!!! อภิญญา เราก็จะรู้สึกเขินๆ ไม่คุ้นชิน แต่ต่อๆ ไปคิดว่าก็โอเคเขามีความรู้สึกที่ดีกับเรา ต้องยิ่งทำผลงานของเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้สมกับที่เขาไว้วางใจที่จะชอบและเลือกที่จะดูเรา”
-จากนั้นมาเป็นนักร้องได้อย่างครับ?
“พี่ถือว่าเป็นคนโชคดีนะ คือผู้ใหญ่ให้โอกาส อย่างเช่นว่า การอ่านข่าวเราก็ได้รับเลือกให้มาอ่าน พอช่อง 3 คิดจะทำค่ายเพลง คือช่อง 3 ผลิตละคร มีละคร มีข่าวเป็นหลักก็คิดจะทำค่ายเพลง เพื่อผลิตเพลงละครป้อนช่องตัวเอง พี่ก็เลยเหมือนมีครั้งหนึ่งช่องมีงาน แล้วพี่ถูกได้รับเลือกขึ้นไปร้องเพลง นายก็เลยพอเห็นว่า คงร้องได้มั้งเลยได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินเบอร์แรกของค่ายเพลง ไม่รู้จำกันได้หรือเปล่า ค่ายเอสพีศุภมิตร มีนักร้องในค่ายหลายคนเช่น นก จริยา แอนโฟเน่(สรณะคม) ปรีณา ชารีฟสกุล พาเมลล่า บาวเด้น ปู แบลคเฮด ในยุคนั้นนะคะ เพลงที่สร้างชื่อเสียง ชุดแรก มีเพลงรักประกาศิต และมีเอกซ์ตร้าเพลง ซึ่งเพลงนี้กลายเป็นsignature เอกลักษณ์ของเราเลย คือ เพลง สัญญาใจ ประกอบละครจากละครเรื่องแม่นาคพระโขนง สำหรับชื่อเสียงในยุคนั้น ก็ถือว่าอยู่ในระดับหนึ่งค่ะ คนเริ่มรู้จัก ให้การต้อนรับและก็มีงานเพิ่มเข้ามาเยอะขึ้น งานพิธีกร งานพากย์หนัง อ่านหมด โฆษณา ช่วงนั้นถือว่า peakที่สุดสำหรับเรา เพราะว่ามีรางวัลมาการันตี รางวัลเมขลาจากการอ่านข่าว เมขลาจากการพากย์ โทรทัศน์ทองคำจากการอ่านข่าว มันก็ทำให้เป็นตัวต่อยอดทำให้เรามีงานมากขึ้น”
-สำหรับงานพากย์หนังเข้ามาทำได้อย่างไรเขาเห็นความสามารถเราตรงไหนครับ?
“ตอนนั้นต้องบอกว่าเป็นคนโชคดี เพราะช่อง 3 ให้โอกาส สนับสนุนอยากให้คนอ่านข่าวในช่อง มีความสามารถหลากหลายมัลติสกิล(multi-skill) เลยให้ทดลองพากย์ พอทำได้ พี่ที่ห้องพากย์ก็ช่วยสอน ตำหนิติชม เราก็พัฒนาฝีมือมาเรื่อยๆจนได้มาเป็นคนพากย์ เป็นตัวหลักของช่อง การพากย์นะคะเป็นงานที่ต้องใช้อารมณ์ อย่างเวลาเราอ่านข่าวเราจะอ่านเป็นตัวเรา แต่เมื่อไปพากย์ เราต้องตั้งตัวละครไว้ก่อน เป็นเด็ก 12 ขวบ เด็ก 6 ขวบ เด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง เป็นตัวการ์ตูน เป็นผู้หญิง เป็นสาว เป็นคนแก่คนชรา ได้พากย์เสียงนางเอกก็มีพวกหนังจีน หนังฝรั่ง และช่วงนั้นช่อง 3 กำลังบูมเรื่องหนังจีนอยู่ หนังจีนจากทีวีบูมฮ่องกง”
-มีอะไรอยากบอกคนรุ่นใหม่ จากการเป็นผู้ประกาศ เป็นนักพากย์ เป็นนักร้อง ไหมครับ?
“ทุกอย่างอยู่ที่ความตั้งใจ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ไม่ว่า จะพากย์หนังก็ดี อ่านข่าวก็ดี หรือร้องเพลงก็ดี เราต้องหาตัวตนแล้วก็ความเป็นประกายของเราให้เจอว่าอยู่ตรงไหน ร้องเพลงแบบไหนดีที่สุด อ่านข่าวจังหวะแบบไหนดีที่สุด หรือพากย์หนังใช้ช่องเสียงไหน มันเป็นเรา คือทุกอย่างมันต้องอยู่กับความตั้งใจ”
-ช่วงที่หันหลังให้วงการมีครอบครัวเสียดายไหมครับ?
“มันถึงจุดๆ หนึ่งถ้าถามว่าเสียดายไหม ก็เสียดาย แต่ว่าเสียดายตอนนั้นไม่เท่าเสียดายตอนนี้ คือตอนนั้นเรามีจุดเบี่ยงเบนความสนใจ คือการเลี้ยงลูก เราจะปล่อยให้ลูกเราเติบโตในอ้อมอกคนอื่นหรือเติบโตในอ้อมอกเรา คิดแล้วก็ขอดูแลลูกดีกว่า แต่ถามว่าคิดถึงวงการไหม ก็คิดถึงค่ะ พี่หายไปจากวงการเมื่อปีพ.ศ. 2539 ประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว”
-ปัจจุบันทำอะไรบ้างครับ?
“ตอนนี้คิดว่าอยากจะ เพลง อยากจะทำค่ายเพลงเล็กๆ อยากจะrearrangeเพลงตัวเองมาทำใหม่ แต่ไม่รู้มีคนฟังหรือเปล่า คือด้วยวัยของเราจะให้พี่ไปร้องเพลงวัยรุ่นก็คงไม่เหมาะ ถามว่าร้องได้ไหมร้องได้ แต่คนดูก็คงไม่เหมาะ คงอยากจะดูใครที่เป็นไปตามวัยมากกว่า พี่คิดว่าเพลงลูกกรุงของเรามันมีความไพเราะ การแต่งในสมัยก่อน ครูเพลงในสมัยก่อนมีความสัมผัส ทั้งสัมผัสนอกและสัมผัสใน ทำไมเราถึงจำเนื้อเพลงได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะสัมผัสตรงนี้ ความไพเราะตรงนี้ ก็เลยคิดว่าอยากหยิบเขาขึ้นมาปัดฝุ่น และทำในรูปแบบปัจจุบันผสมผสานกันไป เช่นว่า 1 เพลง อาจจะมีคนร้องสัก 2 คน เป็นนักร้องรุ่นเก่าและเป็นนักร้องรุ่นใหม่ สืบสานให้เพลงลูกกรุงยังอยู่ต่อไป และคิดว่าคงเร็วๆ นี้ แต่พอดีมาติดช่วงโควิด ก็เลยเบรกไว้ก่อน ตอนนี้มีอัลบั้มทำไปบ้างแล้ว ของเราก็อยู่ในระหว่างขั้นตอนการทำเนื้อเพลง หาคนที่จะมาเรียบเรียงเสียงประสานให้แบบยุคเก่าๆ และผสมผสานความใหม่เข้าไปด้วย”
-ตอนนี้ค่ายเพลงมีชื่อหรือยังครับ?
“มีค่ะ ชื่อ AVS record ก็มีผลงานออกไปแล้วบ้างสัก 2-3 เพลงในค่ายนะคะเป็นการสืบสานเพลงลูกกรุงมา coverใหม่”
-อะไรทำให้หลงใหลกับบทเพลงลูกกรุงครับ
“จริงๆ พี่ร้องได้ทุกแนว เพลงสากล เพลงไทยแม้ กระทั่งเพลงวัยรุ่น แต่เพลงสมัยนี้แบบว่าพอดังสักพัก ก็หายไป ไม่อมตะ แต่เพลงลูกกรุงสมัยก่อน มันมีความอมตะมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ครูเพลงของพี่อาจารย์วิรัช อยู่ถาวร เพลงของพี่เองก็ดี หรือเพลงแต่ปางก่อน ก็ยังมีคนเอามาร้องจนปัจจุบันนี้ เป็นเพลงคู่ ปัจจุบันไปไหนเวลาร้องเพลงคู่พี่ก็ยังเห็นมีคนเอาเพลงนี้มาร้อง แม้กระทั้งของครูเพลงท่านอื่น เพลงรักข้ามขอบฟ้า เพลงรักอย่ารู้คลาย พอเราฟังแล้วเราก็ยังจำเนื้อเพลงได้อยู่ มีความละมุน สมัยก่อนครูเพลง บางเพลงแต่งเพียง 5 นที บางเพลงแต่ง3-4 วัน มันยิ่งใหญ่ พี่รู้สึกอย่างนั้น”
-เลือกเพลงลูกกรุงที่ประทับใจแล้วร้องหรือยังครับ?
“มี 2 ตัวเลือกค่ะ แต่งใหม่ หรือใช้เพลงเก่า พี่กำลังศึกษาอยู่ เรื่องลิขสิทธิ์ อาจจะเอาเพลงเก่าของตัวเองแล้วมาทำดนตรี arrangeใหม่ มาร้องช่วงวัยเราตอนนี้ดูว่าจะเป็นอย่างไร ในอัลบั้มเพลงของเราที่โด่งดัง มีเพลง สัญญาใจ และเพลงรักประกาศิต ตอนนี้ช่อง 3 ก็มีละครซึ่งใช้เพลงนี้เป็นเพลงประกอบ”
-หากถามถึงความสำเร็จที่ผ่านมาที่ยึดเป็นคติธรรมสอนใจมีอะไรบ้างครับ?
“จริงๆ แล้วเราอยู่ในความเป็นตัวตนของเรา คือ ในอดีตพี่ คือ อภิญญา เจริญวงศ์ ตอนเราเรียนหนังสือ เราก็คือ อภิญญาเจริญวงศ์ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อนๆ เรา แต่พอเรามา เป็น อภิญญา เจริญวงศ์ ที่เป็นผู้ประกาศข่าว ถามว่ามีตำแหน่งเป็นผู้ประกาศข่าว ถามว่าเปลี่ยนไปไหม มันก็เปลี่ยน แต่ต้องไม่เปลี่ยนในตัวตนของเรา เราเคยปฏิบัติกับคนนี้อย่างไร เราก็ปฏิบัติตามเดิม ให้เกียรติเพื่อนร่วมงานทุกคน ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ยันแม่บ้านภารโรงในออฟิต ทุกคนก็เป็นคนเท่าเทียมกับเรา ถ้าเข้าออฟฟิศ เราจะพูดเล่นได้กับทุกคน เราไม่ได้ทำตัวแปลกแยก ไม่มีอะไรที่ทำให้เราต้องหลงใหลไปกับชื่อเสียง เป็นตัวเรา มีคติธรรมสอนตัวเองว่า เวลาที่จะทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุดและต้องอยู่กับความเป็นจริงที่ไม่ได้สร้างความทุกข์ใจหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น โดยพี่มองว่าในปัจจุบันโอกาสเป็นของคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยมาก สมัยก่อนคนที่จะมาโด่งดังต้องใช้เวลา แต่สมัยนี้เป็นอะไรที่ดังเพียงชั่วข้ามคืน อายุ 12 – 14 –16บางทีความเด็ก อาจยังใช้ชีวิตไม่เป็น บางทีหลงไปกับเงินทอง ชื่อเสียงจนละเลย ความน่าจะเป็นในช่วงอายุของตนเอง คือ ถ้าเราอายุ 16-18 เราต้องสนใจเรียนหนังสือในสมัยก่อน แต่เด็กสมัยนี้คิดแค่จะ drop และมาทำงานหาเงินก่อน เข้าวงการก่อน ก็เลยขาดการเรียนรู้ ขาดประสบการณ์ในการใช้ชีวิต ขาดประสบการณ์ความเป็นคนตามลำดับในช่วงอายุที่ควรจะเป็น”
-การปรับตัวเรื่องคนยุคเก่าและใหม่?
“ไม่ยากค่ะ พี่เป็นคนชอบอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว ต้องตามยุคให้ทัน ร้องเพลงเราทำอยู่แล้ว แต่การใช้ชีวิต บางทีเราก็ต้องพิจารณาด้วยตัวเราเองว่าเหมาะไหม แต่เราก็พยามอินเทรนด์นะ ตอนนี้เขาทำอะไรกันในโลกใบนี้เราก็ต้องศึกษา”
-ชีวิตส่วนตัวดูแลตัวเองให้ยังสวยแบบนี้อย่างไรบ้าง?
“ดูแลตัวเองก็คือ ดูแลเรื่องอาหาร อาหารที่เราทานเข้าไป you are what you eat พี่อยู่ในเครือข่าย high cholesterolเพราะฉะนั้นเราก็ต้องระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ ออกกำลังกายบ้าง วิ่ง ไปเที่ยว พี่ถือว่าใช้ชีวิตคุ้มค่าแล้ว เป็นคุณแม่ที่ต้องดูแลลูก หัวหน้าครอบครัวเสียไปแล้ว ถามว่าใช้ชีวิตคุ้มค่าไหม เวลานี้พี่คิดว่าคุ้มค่า แต่ว่าเวลาที่เหลือต่อไปจะทำอย่างไรให้ตัวเองมีความสุข ไม่อึดอัด ไม่ลำบาก มีความสุขกับการใช้ชีวิต มีความสุขกับสิ่งที่ทำ ได้ทำในสิ่งที่เรารัก”
-มีอะไรฝากแฟนคลับบ้างครับ?
“อยากจะฝากว่า ไม่ทราบว่ายังจำกันได้หรือเปล่า เร็วๆ นี้พี่จะมีผลงานเพลงค่ะ และอยากจะฝากว่าถ้าในอดีตเคยรักกันอย่างไร ปัจจุบันก็ขอให้รักกันเหมือนเดิม เพิ่มเติมก็คือน้องๆ วัยรุ่นที่อาจจะยังไม่รู้จักเรา ถ้าอยากจะขอมาร่วมเป็นคนที่อนุรักษ์เพลงเก่าๆ ด้วยกัน มาลองมาเปิดใจฟังดูค่ะ” แหละนี่เป็นบทบาทใหม่และก้าวใหม่ของผู้หญิงเก่งที่ “ต้อม” อภิญญา มาลีนนท์ (เจริญวงศ์)