“มาสเตอร์คูล” สู่ บริษัทมหาชน นพชัย วีระมาน เคล็ดลับความสำเร็จ “มองปัญหา คือ โอกาส”
CHANGE Inspiration เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : ชวกรณ์ สะอาดเอี่ยม
“มาสเตอร์คูล” สู่ บริษัทมหาชน
นพชัย วีระมาน เคล็ดลับความสำเร็จ “มองปัญหา คือ โอกาส”
13 ปีแห่งการเปลี่ยนของชีวิต “นพชัย วีระมาน” จากลูกจ้าง สู่เจ้าของธุรกิจมาสเตอร์คูล ผู้นำด้านนวัตกรรมลมเย็นระดับโลก กระทั่งนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างภาคภูมิ เฉลยเคล็ดลับความสำเร็จด้านการตลาด “ใกล้ชิดลูกค้า คือ จุดแข็งของเรา”
จากที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายพัดลมไอน้ำ พัดลมไอเย็น แบรนด์ มาสเตอร์คูล ที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างเข้าใจจนทำให้ “นพชัย วีระมาน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กลายเป็นนักธุรกิจพันล้านไปแล้ว ปัจจุบันนำทัพสินค้าสู่ตลาดโลก อาทิ ประเทศในแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และกลุ่มตลาด AEC
//จากลูกจ้าง...สู่เจ้าของธุรกิจพันล้าน
ภายหลังคุณนพชัยเรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรม สาขา ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง และศึกษา MBA เพื่อเพิ่มเติมความรู้ และเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น ขณะนั้นเป็นผู้จัดการประจำประเทศไทยให้กับ บริษัท อินโฟ เน็ต ไปเข้าศึกษาดูงานต่างประเทศและเดินทางผ่านเครื่องสร้างบรรยากาศแบบพ่นไอน้ำในบูธแสดงสินค้า จึงสนใจในนวัตกรรมและมองว่าน่าจะเหมาะกับตลาดในเมืองไทย
“ผมกลับมาก็เลยมาคุยกับเพื่อนๆ ที่เรียนจบวิศวะด้วยกัน แล้วมีความคิดเห็นตรงกันว่าเป็นโอกาสที่ดีในเชิงธุรกิจ เพราะถ้าทำธุรกิจแอร์นอกห้องแอร์ได้น่าจะเป็นธุรกิจที่ดี” ต่อมาได้ลงขันลงทุนกับเพื่อน 3 คน คิดค้นนวัตกรรมพัดลมไอน้ำที่พ้นละอองน้ำออกมา โดยในเบื้องต้นคือ การลองผิดลองถูกจนได้เครื่องพ่นหมอก แต่ขณะนั้นมีต้นทุนสูงต้องขายในราคาเครื่องละ 80,000 บาท เบื้องต้นผลิตออกมา 5 เครื่อง ออกขายที่บูธในอิมแพค เมืองทองธานี มีลูกค้าสนใจแต่ติดอยู่ที่ราคาสูงเกินไป
“แม้สินค้าจะแพง แต่มีลูกค้าที่ซื้อไปก็สอนให้เรารู้ว่า สินค้าจะแพงหรือถูกมันขึ้นอยู่กับธุรกิจ ว่ามันคุ้มค่ากับการลงทุนหรือเปล่า ผลตอนแทนเป็นอย่างไร แก้ปัญหาให้เขาได้ไหม ถ้าแก้ปัญหาให้เขาได้ แพงแค่ไหนเขาก็มองว่าถูก โจทย์หลักของเราไม่ได้มาขายสินค้า แต่เรามาแก้ปัญหาอากาศร้อนให้กับลูกค้าได้จริง แถมมาสเตอร์คูลยังประหยัดไฟด้วย เพราะกินไฟน้อยกว่าแอร์เป็นสิบเท่า แล้วการบริการของเราก็สำคัญมันเลยต้องทำไปให้ครบทุกด้าน”
//เคล็ดลับนักขาย “ใกล้ชิดลูกค้า”
จุดแข็งในการพัฒนาระบบเพื่อลดต้นทุน ราคาสินค้าของมาสเตอร์คูลถูกลงอย่างต่อเนื่อง จากเครื่องละ 12,000 บาท เป็น 9,000 บาท และ 6,500 บาท จนปัจจุบันราคาต่ำสุดอยู่ที่ 2,900 บาท ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเกิดปัญหาค่อนข้างมาก จากความไม่เชี่ยวชาญในการทำแบรนด์ จนในช่วงแรกที่ทำตลาดสินค้ามีคนสนใจมาก จึงจะไปดำเนินการจดสิทธิบัตร แต่เนื่องจากสินค้ามีการเผยแพร่และทำตลาดไปแล้ว จึงไม่สามารถจดสิทธิบัติหรือคุ้มครองให้ได้ จึงเปลี่ยนกลยุทธ์ให้มาทำโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักสินค้ามากขึ้น แต่อีกสิ่งหนึ่งที่คุณนพชัยย้ำตลอดเวลาด้วย
เรียกว่ามาสเตอร์คูลเปรียบเสมือนเรือไม้ที่ลอยอยู่กลางทะเล ก่อนถึงฝั่งต้องเจอคลื่นลมมรสุมมากมาย ท่ามกลางสมรภูมิธุรกิจอาจจะทำให้เรือไม้แตกได้ ทำอย่างไรให้เรือไม้กลายเป็นเรือเหล็กที่แข็งแรง ฟันฝ่าคลื่นสมรภูมิไปถึงฝั่งให้ได้ สำคัญคือ ต้องทำแบรนด์ให้แข็งแรง เหนือคู่แข่งทั้งคุณภาพ บริการ และราคาอีกสิ่งหนึ่งที่คุณนพชัยใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้ามากที่สุด คือ ใกล้ชิดกับลูกค้า และให้ลูกค้าได้ทดลองใช้สินค้าด้วย
“สิ่งสำคัญเราต้องใกล้ชิดลูกค้าให้มากที่สุด เพราะถือว่าเป็นจุดแข็งแรงธุรกิจมาสเตอร์คูล ลูกค้าใช้สินค้าแล้วมีปัญหาเราก็จะเข้าไปดูแก้ไขให้ได้จนลูกค้าพอใจ จนไว้ใจเรา การที่ลูกค้ามีปัญหา เราก็ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา แต่เรามองว่าเป็นโอกาส ถ้าเราแก้ได้โอกาสข้างหน้าลูกค้าก็จะเลือกเรา” ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าของมาสเตอร์คูล แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกค้าบ้าน ขายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด อาทิ แม็คโคร โฮมโปร และเทรดเดอร์ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มลูกค้าองค์กรธุรกิจ ทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ด้วยการขายตรง
//ก้าวสู่...ตลาดหลักทรัพย์ฯ
สำหรับผลิตภัณฑ์ของ บริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในการทำตลาดแบ่งออก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพัดลมไอน้ำ กลุ่มพัดลมไอเย็น และกลุ่มพัดลมระบายอากาศโดยมีทั้งแบรนด์มาสเตอร์คูลและไฟล์ติ่งแบรนด์ สำหรับยอดขายในปี 2556 ยอดขาย 300 บาท เติบโตขึ้นจากปีก่อน 50 % เมื่อเทียบกับปี 2555 อยู่ที่ 150 ล้านบาท ปี 2557 มียอดขาย 450-500 ล้านบาท และเป้าหมายใน 3 ปีหลังจากนี้ยอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท ล่าสุด ประสบความสำเร็จด้วยการนำบริษัทเข้าจะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนนำไปปรับปรุงโรงงานการผลิตสินค้าใหม่ และเพิ่มกำลังการผลิต รองรับการขยายฐานของกลุ่มลูกค้าที่จะมีการเติบโตมากขึ้น
“อยากบอกว่าไม่ง่ายกว่าบริษัทจะได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะว่าเขามีมาตรฐานของการเป็นบริษัทมหาชนค่อนข้างสูง เราเองก็ต้องยกบริษัทให้ขึ้นมาสูงพอสมควร แต่พอบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ทำให้บริษัทมีโอกาสในการขยายธุรกิจได้ดี เราเห็นตลาดของธุรกิจที่กำลังเติบโต และทุกการเติบโตมันต้องใช้เงินทุนทั้งนั้น การเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีก็มีปัญหาเรื่องเงินทุน พอเราเข้าตลาดได้ก็ทำให้เรามีความมั่นใจและพร้อมที่จะขยายตลาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างจริงจัง จากทีมงานและนักวิจัยของเรา”
//สร้างความสำเร็จด้วยตัวเอง
ธรรมชาติของคนเรามักมองหาความสำเร็จมาตอบสนองความสุขของชีวิต ซึ่งต้องถามว่า อะไรบ้างคือความสุข ถ้าไม่คิดอะไรมากความสุขก็คือวัตถุ และปัจจัยหรูหราภายนอกทั้งหลาย ต้องทำงานให้หนักหาเงินได้มาก เพื่อซื้อวัตถุที่ต้องการเพื่อตอบสนองความสุข ซึ่งมองว่าไมใช่เสมอไป ที่สุดคือ ต้องหาคำตอบให้กับตัวเอง อย่างคำพูดของ คุณโสภณ สุภาพงษ์ อดีตผู้บริหารบริษัทบางจาก ที่บอกว่า ความสำเร็จเป็นต้นเหตุของความล้มเหลว
“ผมมองว่าตราบใดที่มองว่าตัวเองสำเร็จ ก็จะไม่อดทน และก็จะประมาทกับชีวิต ผมว่าความสำเร็จมันมี ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ผมยืนยันว่า วันนี้บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว ผมดีใจ แต่ผมก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ขับรถคันเดิม เพราะความสำเร็จตรงนี้ไม่ได้เปลี่ยนวิธีคิดอะไรผม ยิ่งทุกวันนี้คนจะพูดถึงความสำเร็จต้องคิดทางบวก แต่ผมอาจจะขวางโลกไปหรือเปล่า(หัวเราะ) คือผมไม่เชื่อเรื่องคิดบวก แต่ผมก็ไม่ได้คิดลบ สำหรับผมประสบการณ์ที่ประสบมา สิ่งที่เราต้องเข้าใจในทีมคือ เราต้องคิดทุกอย่างตามความเป็นจริง คิดบวกก็ไม่ใช่ เพราะคิดบวกอาจหลอกตัวเองเหมือนกัน พอเจอปัญหาเรื่อยๆมันก็ท้อได้เหมือนกัน แต่เราต้องยอมรับความเป็นจริงก่อนเลยว่า เราทำงานมีปัญหาลูกค้าไม่จ่ายสตางค์เรา ถ้าเราคิดบวกว่า ลูกค้าไม่จ่ายสตางค์เพราะเขามีปัญหา วันหนึ่งเขามีก็คงมาจ่ายเรา ถ้าเราคิดแบบนี้เราคงไม่ทำอะไรสักเท่าไหร่ พูดในความเป็นจริง ลูกค้ามีโอกาสโกงเรานั่นแหละ
“ถ้าเรามองลงไปในความเป็นจริงว่านี่คือ ปัญหาของโลกธุรกิจ เรื่องแบบนี้ผมก็คิดว่ามันเป็นแนวทางของศาสนาพุทธที่ให้มองในเรื่องของความเป็นจริง ผมก็ศึกษาศาสนาพุทธมาเยอะ ก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้าสอนให้คิดบวก แต่ท่านสอนให้เรามองโลกในความเป็นจริง ทุกอย่างก็จะไปได้แบบที่เราไม่ต้องทุกข์ ผมจึงอยากบอกว่า การทำธุรกิจคือ ปัญหาและโอกาสที่จะมาสร้างความสำเร็จ เพราะโอกาสที่จะสร้างความสำเร็จได้นั้นก็ต้องผ่านปัญหามาทั้งนั้น” คุณนพชัยกล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงภูมิใจ