“กระท่อมเห็ด ฟาร์ม” สร้างเงินล้านเพื่อชุมชน “จุ๊บ” นัยนา ยังเกิด “ต้องลงมือทำก่อน อย่าไปกลัว”
CHANGE Inspiration
เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : ชวกรณ์ สะอาดเอี่ยม
เปิด “กระท่อมเห็ดฟาร์ม” ต้นแบบเพื่อชุมชนของ “จุ๊บ” นัยนา ยังเกิด ที่เดินตามรอย “พ่อหลวง” มีแล้วแบ่งปันเพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน ย้ำ ให้ความรู้ผู้สนใจเพาะเห็ดอย่างจริงใจและซื่อสัตย์ พร้อมแนวคิดในการดำเนินชีวิต “อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา”
ชีวิตคนเราไม่ว่าจะลงมือทำอะไรต้องชอบและรักในสิ่งที่ทำ... นี่เป็นคำบอกเล่าจากใจของ นัยนา ยังเกิด หรือ คุณจุ๊บ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ในฐานะเจ้าของ กระท่อมเห็ดฟาร์ม “Mushroom Cottage Farm” ที่ร่วมหุ้นกับเพื่อนซี้ “กุ๊ก” ปรียานันท์ แสงดี ที่ทั้งสองอยากมีอาชีพเสริมจากงานประจำ จึงเกิดเป็นฟาร์มเห็ดที่สร้างรายได้หลักล้าน เป็นต้นแบบและแบ่งปันความรู้สร้างอาชีพให้กับชุมชน
*สร้างอาชีพเสริม...เพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน
คุณจุ๊บ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจฟาร์มเห็ดว่า มองหาอาชีพเสริมที่ลงทุนน้อย เก็บเงินได้ทุกวันและมีความสุขแบบพอเพียง ประกอบกับได้อ่านหนังสือการเกษตรผสมผสาน เกษตรพอเพียงแล้วชอบ คิดว่าเป็นวิถีที่ยั่งยืน และอยากเดินตามรอยพ่อหลวง มากกว่าที่จะไปเปิดร้านอาหารที่ต้องลงทุนเยอะและต้องหาทำเลที่ราคาแพง หรือจะเป็นร้านกาแฟที่มีเจ้าใหญ่ ๆ ครองตลาดอยู่มากมาย ด้วยสาเหตุนี้จึงเลือกมาทางเกษตรผสมผสาน โดยเริ่มจากการทำฟาร์มเห็ด ชื่อกระท่อมฟาร์มเห็ด อำเภอบางบัวทอง จ. นนทบุรี เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา
“ตลอด 7 ปี ที่ทำฟาร์มเห็ดเป็นอะไรที่เหนื่อยมาก(หัวเราะ) เพราะที่นี่เรายังทำเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้เพื่อสังคมครบวงจร ทั้งเพาะดอกเห็ดขาย ทำก้อนเห็ด รวมถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ให้สามารถอยู่ได้นานขึ้นและขายได้ราคามากกว่าขายแค่ดอกเห็ดอย่างเดียว โดยการนำไปทำเห็ดกรอบรสชาดต่าง ๆ แหนมเห็ด หมูยอเห็ด นํ้าพริกเผาเห็ด น้ำพริกเห็ดแซ่บ และข้าวเกรียบเห็ด เป็นต้น หรือจะนำดอกเห็ดไปทำอาหารภายในฟาร์ม โดยได้เปิดร้านกาแฟและร้านอาหารเล็ก ๆ กลางฟาร์มเห็ด ชื่อ “Mushroom Cafe” ตั้งใจเปิดให้เป็นต้นแบบ เพื่อลูกค้าหลาย ๆ คนที่เข้ามาเยี่ยมชมมองเห็นเกษตรหลากหลายมิติ ไม่ใช่เกษตรแบบเดิม ๆ ปัจจุบันการทำการเกษตรไม่จำเป็นต้องผลิตสินค้าเกษตรขายเพียงอย่างเดียวเหมือนสมัยก่อน เราสามารถพัฒนาต่อยอดออกไปได้ตามความถนัดของเรา เมื่อนำมาแปรรูปหรือต่อยอดผลิตภัณฑ์สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เนื่องจากอาชีพเพาะเห็ด ทุกขั้นตอนไม่เคยต้องทิ้งให้สูญเปล่า เช่น ดอกเห็ดสวยก็นำไปขาย ดอกไม่สวยก็นำไปแปรรูป เมื่อไหร่ผลผลิตออกมาเยอะเกินความต้องการของท้องตลาด ก็นำไปตากแห้งเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามขาดแคลนอีกทางหนึ่งด้วย และที่สำคัญส่วนหนึ่งของการเปิดร้านกาแฟ กากเมล็ดกาแฟที่เหลือจากการทำกาแฟให้ลูกค้า ยังสามารถนำมาทดแทนขี้เลื่อยที่ใช้สำหรับการทำก้อนเห็ดได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันจะใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราจากใต้ ซึ่งนับวันยิ่งลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ
“คนมาเรียนรู้แล้วสามารถนำไปสร้างอาชีพได้จริง เพราะเราสอนจนกว่าเค้าจะเป็น คอยเป็นที่ปรึกษาให้ในทุกๆ ด้าน เราตั้งใจทำศูนย์แห่งนี้เพื่อทดแทนคุณของแผ่นดิน ซึ่งในวันที่เราทำงานหรือไม่อยู่ เราจะสอนคนงานที่ฟาร์มให้คอยต้อนรับแขกที่มาเที่ยวชมฟาร์มเห็ด ส่วนการตลาดเราจะควบคุมคุณภาพ สินค้าและบริการหลังการขายอยู่เสมอ อยากบอกว่าคนเราทำอะไรต้องทำด้วยใจรัก แม้จะเหนื่อยมากแค่ไหนจากงานประจำ แต่เราก็ยังอยากที่จะทำงานที่ฟาร์มเห็ด เพราะสิ่งนั้นเราเรียกว่าความสุข และรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำงาน เป็นการได้มาพบปะพูดคุยกับเพื่อนที่ชอบอะไรเหมือนกัน คุยในภาษาเดียวกัน คือ ภาษาคนรักเห็ด ดังนั้น เราจึงอยากทำฟาร์มตรงนี้ให้เป็นต้นแบบ เป็นบันไดขั้นหนึ่ง ขั้นสอง ให้ทุกคนได้เรียนรู้ว่าตัวเองมีทักษะด้านไหน และลงมือทำในแบบฉบับที่ตัวเองถนัด จะเป็นการทำฟาร์มเห็ด การแปรรูปผลิตภัณฑ์ หรือจะทำร้านอาหารเมนูเห็ด ทางเราจะเป็นเหมือนพี่เลี้ยงอบรมให้จนคุณสามารถนำไปสร้างธุรกิจเองได้”
*เดินตามรอย “พ่อหลวง”
จากจุดเริ่มต้นของทำฟาร์มเห็ดเกิดปัญหามากมาย ทางคุณจุ๊บได้นำแนวทางพระราชดำรัส ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ “การน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการดำเนินชีวิต คือความพอเพียง เราจะไม่ทำการเกษตรเกินกำลังของตัวเอง หรือหากมีใครอยากให้เราผลิตสินค้าจำนวนมาก ๆ เกินความสามารถของเรา เราจะไม่รับทำเพราะเราต้องประเมินกำลังของตัวเองก่อน หากมันเป็นการเหนื่อยเกินไป หรือผูกมัดตัวเองเกินไป เราจะไม่รับทำ และแนวคิดดังกล่าวก็สามารถพิสูจน์ได้ว่า เมื่อครั้งที่มีปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี รับข้อมูลมาว่าบางฟาร์มจะได้รับผลกระทบเพราะมีการจ้างแรงงานไว้เป็นจำนวนมากเพื่อผลิตสินค้าจำนวนมาก แต่ในทางกลับกันฟาร์มของเราไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เพราะเราไม่ได้มองที่ตัวเงินเป็นตัวตั้ง แต่เรามองที่ความสุขในการทำงาน มองกำลังในการทำไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไปตามกำลัง จึงทำให้รายได้ของฟาร์มไม่ได้รับผลกระทบในภาวะเศรษฐกิจขาลง เรียกได้ว่าเป็นการอยู่แบบพอเพียง พอใจในสิ่งที่ตนเองมี
“ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้ของเราสอนผู้สนใจเพาะเห็ดไปแล้ว 75 รุ่น มีทั้งรุ่นที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ สองสามปีแรกคนที่มาเรียนบางส่วนมาตามกระแส แต่ปัจจุบันมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบจากเมื่อก่อน แต่คนที่มาเรียนจะมาแบบจริงจังทำเป็นอาชีพเลยทันที เราคิดเสมอว่า สิ่งที่เราได้สอนและอบรมสร้างอาชีพให้กับคนที่มาเรียนเหมือนได้ทดแทนคุณแผ่นดิน ได้ให้คนส่วนใหญ่ได้สืบทอดองค์ความรู้ด้านเกษตร เราขอเพียงให้ทุกคนที่มาเรียนตั้งใจและมุ่งมั่นทำอย่างจริงจัง อย่าท้อ ครั้งแรกจะทำอะไรทุกอย่างต้องมีปัญหาอยู่แล้ว แต่เราควรหาความรู้และพยายามแก้ไขปัญหานั้น ๆ เพราะปัญหาหรืออุปสรรคมีเข้ามาเพื่อทดสอบเรา เราต้องก้าวข้ามมันไปให้ได้ มีหลายๆ คนอยากทำอาชีพเพาะเห็ด แต่กลัวเรื่องการตลาด เราก็จะบอกว่าอย่าเอาความกลัวมาหยุดความฝันนของเรา แต่ถ้าเรากลัวเรื่องการตลาดเราจะต้องศึกษาเรื่องนั้นให้หนักขึ้น เข้าไปคลุกคลี ไปหาตลาดให้มากขึ้น ให้รู้ลึกรู้จริง เดี๋ยวความกลัวก็จะกลายเป็นความเข้าใจในการตลาดนั้นๆ และต้องลงมือทำทันที อย่ากลัว” เธอเล่าอย่างมีความสุขที่ได้สร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชน
*จากเลขานุการ...สู่ พีอาร์ธนาคาร
คุณจุ๊บฉายภาพในวัยเด็กเป็นสาวเหนือ จ.เชียงใหม่ กระทั่งมาเรียนปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย “สมัยเด็กครอบครัวก็ทำเกษตรบ้างนิดหน่อย แต่เราก็ไม่ได้เข้าไปคลุกคลีอะไรมากมาย(หัวเราะ) สมัยเด็กๆก็มีความฝันเหมือนเด็กผู้หญิงหลาย ๆ คน คืออยากเป็นนางฟ้า เป็นแอร์โฮสเตสได้ท่องเที่ยวโลกกว้าง แต่พอเรียนจบมาก็ได้มีโอกาสไปทำงานเป็นเลขาฯ ผู้บริหารบริษัทนำเข้ารถยนต์ รถซุปเปอร์คาร์ ทำงานได้ไม่ถึง 3 เดือน ก็ได้พบคุณนิวัตต์ จิตตาลาน ซึ่งเป็นลูกค้ามาดูรถ และได้พูดคุยกันจึงได้ทราบว่าท่านกำลังมองหาเลขาฯ จึงนึกถึงเพื่อนอยากให้ไปสมัคร แต่ปรากฏว่าเพื่อนกำลังจะเดินทางไปเรียนต่างประเทศ คุณนิวัตต์จึงชักชวนให้มาสัมภาษณ์ และจุดนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงาน และคุณนิวัตต์ จิตตาลาน จึงเป็นเจ้านายคนแรก และได้ทำงานในตำแหน่งเลขาฯ MD ของบริษัท บัตรกรุงไทย หรือ KTC ซึ่งชีวิตก็ได้เดินทางมาทำงานด้านประชาสัมพันธ์องค์กร แล้วก็ไม่คิดว่าจะได้โอกาสเข้ามาทำงานสถานบันการเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ ทำให้เรามีประสบการณ์ชีวิตเพิ่มมากขึ้นมากมาย
“ทำงานกับ KTC ได้ 10 ปี ในด้านประชาสัมพันธ์องค์กร หลังจากนั้นแต่งงานและได้ลาออกมาดูแลลูกชายประมาณ 3 ปี จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่ดาว สุภาลักษณ์ ตั้งจิตต์ศีล ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารและบริหารแบรนด์ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ได้ชักชวนมาดูแลงานด้านพีอาร์ และได้รับโอกาสให้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้งจากพี่ดาว โดยให้มาดูแลงานด้านประชาสัมพันธ์องค์กร นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เราโตขึ้นมากตลอด 9 ปีที่ผ่านมาที่ได้ร่วมงานกับธนชาต และอีกก้าวที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” เธอย้อนวันวานด้วยน้ำเสียงเปื้อนยิ้มตลอดเวลา
*หลักดำเนินชีวิต “อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกินฯ”
“ชีวิตคนเราจะประสบความสำเร็จได้ต้องรู้จักแบ่งปัน คนที่มาเรียนเราก็ให้ความรู้ด้วยความซื่อสัตย์และจริงใจ เราจะคอยดูแลทุกคนที่มาเรียนรู้ที่ฟาร์มเราแบบเสมอภาค และสอนทุกคนในการดำเนินชีวิตต้องสู้กับทุกปัญหา อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา
“อย่านอนตื่นสาย จุ๊บเองเป็นคนตื่นเช้า ถ้าวันไหนเด็กไม่อยู่ฟาร์มเราก็จะตื่นมาเก็บเห็ดเอง แล้วกรณีอย่าอายทำกิน เมื่อครั้งเป็นช่วงที่เห็ดออกมาเยอะๆ พอดีเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์พ่อค้าแม่ค้าหยุดกัน เราก็ไม่อายที่จะไปเป็นแม่ค้าขายเอง อยากจะบอกว่าเราต้องพร้อมที่ลุยในทุกสถานการณ์จนมาถึงทุกวันนี้ค่ะ”
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ทั้ง 2 สาขา กระท่อมเห็ด ฟาร์ม สาขาบางบัวทอง เลขที่ 99/10 ซ.เทศบาล 9 วัดเน่งเล่ยยี่ 2 ตรงข้ามโรงเรียนบางบัวทอง ถ.โสนลอย อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี และกระท่อมเห็ด ฟาร์ม สาขาไทรน้อย เลขที่ 25/17 ม.8 ถ.บางกรวย-ไทรน้อย ถ.คลองขวาง อ.ไทยน้อย จ.นนทบุรี โทรศัพท์ 081-903-1331(จุ๊บ),095-619-6295(กุ๊ก)