20 ปี จากพีอาร์สู่เจ้าของธุรกิจ “อเกต” “ผึ้ง “อัญญาพร ธรรมติกานนท์

20 ปี จากพีอาร์สู่เจ้าของธุรกิจ “อเกต” “ผึ้ง “อัญญาพร ธรรมติกานนท์

 

 

 

 

 

CHANGE Live has changed
เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : ประเสริฐ เทพศรี
 
 
 
 
20 ปี จากพีอาร์สู่เจ้าของธุรกิจ “อเกต”
“ผึ้ง “อัญญาพร ธรรมติกานนท์
สร้างพลังบวก “หัวโขนไม่สำคัญเท่า ตัวตน”
 
 
 
 
 
จากวัยเด็กวาดฝันเป็นนักบัญชี “ผึ้ง “อัญญาพร ธรรมติกานนท์ เจอวิกฤตต้มยำกุ้งพาตัวเองบินลัดฟ้าไปเรียนภาษา South Africa จากนั้นก้าวสู่งานพีอาร์กระทั่งเป็นเจ้าของธุรกิจด้วยแนวคิดดีๆ หัวโขนไม่สำคัญเท่า “ตัวตน” หมวกหรือหัวโขนไม่ได้สำคัญอะไรเลย ความสุขสำคัญที่สุด ความเป็นตัวเราสำคัญที่สุด
 
 
คุณอัญญาพร ธรรมติกานนท์ (ผึ้ง) กรรมการผู้จัดการ บริษัท อเกต คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บอกเล่าประสบการณ์ของตัวเธอเองในสายงานพีอาร์ 20 ปี โดยเฉพาะในวงการอสังหาริมทรัพย์ที่มอบโอกาสให้เธอได้เรียนรู้งานเป็นอย่างดี กลายเป็นประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย ทั้งพีอาร์เชิงการตลาด คิดประเด็น อ่านงานวิจัย , ดาต้าเบส, ซีเอสอาร์ , คอร์ปอเรท มาร์เก็ตติ้ง, กราฟฟิค ดีไซน์ กระทั่งมาเปิด บริษัท อเกต คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เมื่อปี 2555 บริการงานด้านประชาสัมพันธ์ให้กับลูกค้าแบบครบวงจร แต่กว่าจะเดินก้าวมาสู่ความสำเร็จได้นั้นต้องเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง CHANGE into มาเปิดใจในทุกเรื่องราวแบบครบรส พร้อมมุมมองใหม่ๆของการทำงานพีอาร์ในยุค 4.0
 
 
 
 
 
 
วาดฝันในวัยเด็ก “นักบัญชี”
ชีวิตในวัยเด็กของ “ผึ้ง” เป็นคนไทยเชื้อสายจีนในตลาดจังหวัดนครปฐม “ตอนเป็นเด็กเรียนไม่ค่อยเก่ง แต่พ่อแม่ก็ย้ำเสมอว่าการเรียนเป็นเรื่องสำคัญ และภาษาอังกฤษก็เป็นเรื่องสำคัญ ผึ้งต้องเรียนให้เก่งภาษาอังกฤษต้องดีในอนาคต เราก็เชื่อว่าต้องพยายามเรียนหนังสือให้เก่งๆ แล้วก็เรียนจบที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนเป็นเด็กฝันชัดเจนมากเลย(หัวเราะ) คือฝันตั้งแต่อยู่ ป.4 เห็นภาพตัวเองเดินถือกระเป๋าใบหนึ่งแบบคนสมัยก่อน เป็นผู้หญิงตัวเล็กถือกระเป๋าใบหนึ่งแล้วก็เดินฉับๆๆ ตอนนั้นผึ้งก็ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไรตอนเด็กๆ แต่พอโตมาเรื่อยๆ คิดว่าเรียนอะไรดีหนอ พอตกลงว่าอยากเรียนบัญชี จึงต้องเรียนเลขให้เก่งๆ เพื่อสอบเข้าบัญชี พอตอนสอบก็เลือกบัญชีทุกอันดับเลย อันดับท้ายๆก็จะเป็นนิเทศ วรสารธรรมศาสตร์
 
 
“แล้วมาติดคณะวรสารฯ ธรรมศาสตร์ ดีใจมาก เพราะนั้นคณะวรสารฯ คะแนนสูงมาก แต่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าเขาเรียนอะไร ในความคิดตอนนั้นไม่ได้มีความฝันที่จะมาทำงานด้านประชาสัมพันธ์อะไรเลย คิดจะทำบัญชีอย่างเดียว(หัวเราะ) เพราะที่บ้านค้าขาย ก็จะรู้จักแต่บัญชีกับวิศวกร เพราะพี่ชายเป็นวิศวกร พอติดคิดอย่างเดียวเรียนก็เรียน จึงเลือกเรียนเอกวิทยุโทรทัศน์ แล้วเลือกเรียนพีอาร์จนจบ พอจบมาปี 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ฟองสบู่แตก จำได้เลยว่า พี่แหน แนวหน้า เป็นรุ่นพี่ที่คณะ มาพูดให้น้องที่คณะฟัง แล้วพูดว่า สงสารรุ่นน้องรุ่นนี้จัง สอบเข้ามาก็ยาก แต่จะไม่มีงานทำ ตอนนั้นเป็นนักศึกษาคณะเดียวที่จะไม่มีงานทำ”
 
 
 
วิกฤตต้มยำกุ้ง “บินเรียนภาษา”
ภายหลังจากจบปริญญาตรี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง คนตกงานจำนวนมาก นักศึกษาเรียนจบมาก็ไม่มีงานทำ เธอจึงตัดสินใจเดินทางไปเรียนภาษาอังกฤษที่ South Africa (แอฟริกาใต้)“พอรู้ว่าเรียนจบแล้วไม่มีงานทำ ค่าเงินบาทก็ขึ้นด้วยผึ้งเลยไปเรียนต่อด้านภาษาที่South Africa (หัวเราะ) ไม่ได้ไปอเมริกา ออสเตรเลีย ตอนแรกจะไปเรียนที่อเมริกาป๊าบอกว่าไปไม่ได้แล้วลูกค่าเงินบาทจาก 25 บาท เป็น 50 แล้ว พอดีพี่เขยรับราชการอยู่ที่สถานทูตที่นั้น แล้วก็สอบปริญญาโทที่นิด้าติด แต่กว่าจะได้เรียนก็อีกปีหนึ่ง
 
 
 
“พอไปเรียนภาษาที่แอฟริกาใต้จะขยันมาก เขียนหนังสือส่งอาจารย์ทุกวัน เพราะต้องการให้ภาษาเราดีขึ้นในเวลา 6 เดือน เพราะเราไม่ได้มีเวลาเรียนยาวๆ เหมือนคนอื่น เวลาว่างก็จะนั่งพูดภาษาอังกฤษใส่ซาวน์เบาท์สมัยก่อน(หัวเราะ) เพื่อฟังสำเนียงของตัวเองให้คุ้มกับค่าเงินของอาปามากที่สุด ตอนแรกจะต่อปริญญาโทที่ South Africa พอดีเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำสัญญากับมหาวิทยาลัยที่ผึ้งไปเรียน แต่สมัยนั้นประเทศไทยยังไม่ยอมรับปริญญาโท South Africa แต่ประเทศเขาเจริญมากจริงๆ แต่ก็กลับมาเรียนปริญญาโทที่นิด้า ด้านเทคโนโลยีการบริหาร ไม่ชอบเรียน MBA ผึ้งเป็นแปลกอะไรที่คนเรียนเยอะๆเราจะไม่เรียน พอเรียนก็จะมีเรื่องของวิจัย เพราะสมัยเรียนที่วรสารฯเรียนแล้วก็ยังไม่เข้าใจ แต่พอมาเรียนที่นิด้าเรียนยากมาก ในรุ่นมี 9 คน แล้วต้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด อาจารย์ที่สอนก็จบจากเมืองนอก เห็นเด็กเมืองนอกอ่านหนังสือทั้งวันทั้งคืน แล้วแกจะให้รู้ศิษย์ของแกเป็นแบบนั้น อ่านเทควันละเล่ม แต่ไม่เคยอ่านจบสักเล่ม โดยอ่านเฉพาะเนื้อหาด้านหน้า พอเข้าเรียนก็จะยกมือตอบเป็นคนแรกของห้องเพื่อให้รู้ว่า เราก็จะรอดจากคำถามนี้แล้ว(หัวเราะ) ทำแบบนี้จนเรียนจบ”
 
 
 
 
 
 
ก้าวแรก...อาชีพพีอาร์
ระหว่างที่เธอเรียนต่อปริญญาโท สาขาวิธีวิทยาการวิจัย (Research Methodology) คณะเทคโนโลยีการบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ปิดเทอมในปีแรกได้ไปสมัครเป็นพีอาร์เป็นครั้งแรก ให้กับธุรกิจยานยนต์ของ บริษัท สยามกลการ จำกัด
 
 
“พอปิดเทอมรู้สึกตัวเองว่างเกินไป พอดีสยามกลการรับสมัครงานด้านประชาสัมพันธ์ ก็ส่งใบสมัครไป สรุปว่าได้ก็ดีใจมาก เพราะสมัยก่อนสยามกลการเขาใหญ่ เขามีนิสสัน มีโรงเรียนสยามดนตรียามมาฮ่า แอร์ไดกิ้น ฯลฯ แล้วก็ไปสัมภาษณ์แล้วรับ พอได้งานแล้วเรื่องเรียนปริญญาโทจะทำยังไง พอดีผึ้งโชคดีมากๆที่เจอนายที่เก่งและใจดี ได้รับเป็นพนักงานชั่วคราวจะมาวันไหนก็ได้ แต่ผึ้งจะไม่ได้สิทธิพิเศษอะไรเลย นอกจากเงินเดือน ทำอยู่ปีครึ่งเรียนจบ ก็เข้าทำงานเต็มเวลา แล้วทำทุกอย่าง ทดสอบรถกับนิสสัน สยามกลการ แล้วก็มี CSR เจ้าแรกๆของเมืองไทย แล้วก็มีโครงการพิเศษ Think Earth ที่มีคู่แข่งเป็นตาวิเศษ ทำตรงนี้ได้ 3 ปี คุณพรเทพ พรประภา ส่งให้ไปเป็นพีอาร์ที่โรงเรียนดนตรียามาฮ่า เป็นทั้งพิธีกรและพีอาร์หลากหลายงานมาก ทำอยู่คนเดียวไม่มีลูกน้อง แล้วก็ทำได้ 6 เดือนก็ลาออก ตรงนี้ถ้ามีโอกาสที่พูดบอกกับน้องๆว่า ไม่ดีเลย เพราะเราไม่อดทน อย่ามีอีโก้ ใช้งานกันเยอะๆ ทนไม่ไหวก็ลาออก เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย เพราะต้องว่างอยู่สองสามเดือน ไม่กล้าบอกป๊า(หัวเราะ)”
 
 
 
ก้าวเข้าสู่พีอาร์ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
“จากนั้นได้ทำงานกับบริษัท Organizer (ออแกไนซ์เซอร์) แห่งหนึ่ง ที่รับงานด้านรถยนต์ เขารับเพราะเห็นโปรไฟล์ว่าผึ้งมาจากสยามกลการ โดยทางเขามองว่าจะได้คอนเนคชั่นนักข่าวสายรถยนต์จากเรา แต่ก็ทำอยู่กับเขาปีหนึ่ง ลาออกแล้วไปได้งานที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ อยากจะบอกว่าแต่ละที่ ที่ผึ้งไปพี่ๆนักข่าวแนะนำให้ทั้งหมด(หัวเราะ) ผึ้งทำงานไว แต่พอมาทำงานกับสายราชการ เราก็คิดแล้วว่าคงไม่เหมาะกับเรา เพราะเป็นคนชอบทำงานที่รวดเร็วเชิงธุรกิจก็ทำได้ 4 ปี
 
 
 
“พอลาออกมาก็เริ่มเข้าสู่วงการอสังหาริมทรัพย์ เริ่มแรกที่ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ในเครือแสนสิริ แล้วก็อยู่ในวงการนี้ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ยาวเลย เพราะงานด้านอสังหาฯ ไม่ใช่แค่บิสสิเนส มีทั้งไลฟ์สไตล์ การเงิน การลงทุน มันเป็นงานที่หลากหลาย ตอนนั้น พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เป็นบริษัทเล็กๆ ในเครือของแสนสิริ จึงได้ทำงานทั้งพีอาร์ ซีอาร์เอ็ม ซีเอสอาร์ ทำคอร์ปอเรทมาร์เก็ตติ้ง ได้ดูแลน้องๆที่ทำกราฟิกดีไซน์ โชคดีมีเจ้านายที่ดี เจ้านายคนนี้(เมธา อังวัฒนพานิช)บอกผึ้งว่า ถ้าผึ้งไม่เข้าใจให้ถามผมเลย แล้วผมจะอธิบายให้ผึ้งฟัง อย่ามาแกล้งทำเป็นเข้าใจมันจะไปต่อไม่ได้ เพราะเราจะเป็นคนคุยกับนักข่าว แล้วยังบอกว่า ถ้าวันหนี่งผึ้งโตไปกว่านี้ ผึ้งอยากมีนายแบบไหนให้ผึ้งเป็นนายแบบนั้น แล้วตอนนี้ผึ้งชอบนายแบบไหนให้จำความรู้สึกนี้ไว้ ถ้าเราโตไปเป็นนายคนอื่นให้เป็นนายที่ผึ้งอยากได้ วันนี้ผึ้งก็จะดูแลน้องๆ ตามที่นายผึ้งบอก ให้ความรู้ คอยซัพพอร์ตอะไรหลายๆอย่าง
 
 
“มีพีอาร์จูเนียร์คนหนึ่งนั่งเขียนข่าวเสร็จสี่ทุ่ม แล้วยังต้องรอนายแอพพรูฟเสร็จ แต่ซีอีโอนั่งรอผึ้งถึงสี่ทุ่ม เขาให้โอกาสผึ้งมาเลย จึงเป็นโอกาสที่ผึ้งจะส่งโอกาสตรงนี้ให้กับน้องๆพนักงานของผึ้งกับการให้โอกาสคน จากนั้นก็ย้ายเข้ามาในแสนสิริ บริษัทแม่ แล้วได้ทำงานกับคุณเศรษฐา ทวีสิน ที่เป็นคนเก่งมาก ทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการทำงาน วิธีคิดดีๆจากคุณเศรษฐา ทำตรงนี้ได้ 3 ปี ก็ออกไปอยู่พฤกษา แต่ก็ไม่ได้ทำพีอาร์แล้ว เพราะรู้สึกเหนื่อย ก็เลยไปทำด้านดาต้าเบส เพราะเราเรียนจบวิจัยมา ก็เป็นที่ปรึกษาด้าน CRM ทำตรงนี้อยู่ 2 ปี ก็มีความฝันอยากมีธุรกิจส่วนตัวจึงมาเป็นบริษัท อเกตฯ”
 
 
 
“อเกต” ชื่อนี้ แทนผู้มีพระคุณ
หลายๆ คนเมื่อจะตั้งบริษัท จะหนักใจกับการตั้งชื่อบริษัทอย่างไรดี แต่คุณผึ้งตั้งชื่อบริษัทให้เชื่อมโยงกับคนในครอบครัวเป็นหลัก “ตอนที่กำลังหาชื่อบริษัท ดูจากชื่อตัวเอง อัญญาพร แล้ว Agate (อาเกต) แปลว่า หิน ประกอบกับคุณพ่อชื่อ ไพฑูรย์ แล้วสิ่งที่สูงสุดในชีวิตก็คือ คุณพ่อ คุณแม่ ผึ้งก็เลยเอาชื่อคุณพ่อมาเบิกฤกษ์มงคลให้กับบริษัท ก็เลยหาชื่อที่เกี่ยวกับอัญมณี หรือหิน ก็มาเจอชื่อ อเกต ที่แปลว่าหิน เป็นชื่อที่จำง่าย เพราะผึ้งชอบอะไรที่กระชับและสั้น ส่วนสีบริษัทที่ใช้เป็นสีส้ม เพราะผึ้งเกิดวันพฤหัสฯ แล้วเป็นคนทำอะไรเร็วๆ พร้อมที่จะเดินไปข้างหน้า
 
 
 
 
 
“ส่วนสโลแกน NOT AN AGENCY,WE ARE YOUR TRUE PARTNER เป็นผู้บริหาร ซึ่งเป็นลูกค้าผึ้งเป็นตั้งให้ เพราะเป็นคนที่ให้งานทางอเกตเยอะมาก ผึ้งก็เลยถามเขากลับไปว่า มองผึ้งเป็นอะไรกันแน่ เพราะผึ้งทำพีอาร์(หัวเราะ) ทำไมให้โจทย์งานเยอะขนาดนี้ เราก็บ่นไป พออีกอาทิตย์หนึ่งไปผู้บริหารคนนี้ใหม่ เขาก็บอกว่า ผมรู้แหละว่าคุณเป็นใคร คุณก็คือ PARTNER ของผม ที่ผมสามารถคุยกับคุณได้หมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องพีอาร์ การสื่อสาร เรื่องการจัดการในองค์กร พอได้ฟังเราก็รู้สึกดีใจจังเลยที่ลูกค้านึกถึงเราแบบนั้น ก็เลยเราแนวคิดของลูกค้ามาเป็นสโลแกนของบริษัท เพราะทุกวันนี้การเป็น PARTNER กัน ไม่ใช่แค่ทำธุรกิจ แต่เราก็ต้องช่วยเหลือเกื้อกูล ปรึกษาหารือกันได้” นี่เป็นแนวคิดในการบริหารงานลูกค้าที่สร้างมาจากหัวใจของ Agate
 
 
 
หัวโขนไม่สำคัญเท่า “ตัวตน”
เชื่อเหลือเกินว่า หลายคนที่เดินออกมาจากงานองค์กรใหญ่ๆ แล้วต้องมาพบกับความเป็นจริงว่า คุณคือใคร? จากคนที่เคยคุ้นเคยอาจถูกหมางเมิน กลายเป็นแปลกหน้าเช่นเดียวกับเธอ “แรกๆที่เริ่มต้นธุรกิจก็มีพี่ส้มโฟร์ดีคนแนะนำให้ตลอด ทำให้รู้ว่าโลกแห่งความฝันกับโลกแห่งความจริงมันคนละเรื่องเลย(หัวเราะ) เพราะตอนอยู่องค์กร ก็เป็นองค์กรใหญ่ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออก เป็น Manager เซ็นงบได้ พอมาเปิดอเกตปุ๊บ ใครอะ! ไม่มีใครคุยด้วย บางคนที่เคยรู้จักก็ทำเป็นเหมือนไม่รู้จักกัน(หัวเราะ) แต่ผึ้งเป็นคนอึด อดทน ร้องไห้อยู่ใม่นาน ก็คิดว่าทำไมวันนี้เขาไม่คุยกับเราเหมือนวันนั้น เราก็ถึงบางอ้อ วันนั้นเขาไหว้หมวกเรา เขาไหว้แสนสิริ เขาไหว้พฤกษา เขาไม่ได้ไหว้ผึ้ง แต่ถ้าผึ้งเก่งจริงๆ เขาต้องไหว้ผึ้ง ไม่ใช่ไหว้หมวกผึ้ง เราก็พยายามลุกขึ้นมาสู้ใหม่ คำว่า อีโก้ หายไปเลย สมัยจะเป็นคนอีโก้แรงเพราะองค์กร ทำให้เข้าใจว่า หมวกหรือหัวโขนไม่ได้สำคัญอะไรเลย ความสุขสำคัญที่สุด ความเป็นตัวเราสำคัญที่สุด หมวกกับอีโก้ทั้งหมดเราไม่เห็น แต่คนอื่นเห็นหมด เดินออกไปข้างนอกพร้อมอีโก้เราไม่เห็น แต่เพื่อนๆรอบข้างเห็นกันหมด ฉะนั้นหมวกไม่สำคัญ ความเป็นตัวตนของเราสำคัญและทำให้ดีที่สุด
 
 
“แต่วันหนึ่งที่ฮึดสู้ขึ้นมาก็มาจากเจ้านายคนเดิมที่พลัส วันรุ่งขึ้นจะต้องไปพรีเซนต์งานกับลูกค้าสิงคโปร์ต้องพรีเซนต์เป็นภาษาอังกฤษด้วย ก็โทรไปหาพี่เมธาว่า ผึ้งจะต้องพรีเซนต์งานกับ CEO ของสิงคโปร์ ผึ้งจะทำยังไงดี ผึ้งกลัวมากๆเลย พี่เมธาบอกว่ากลัวอะไรผึ้ง แต่ผึ้งได้เจอ CEO สิงคโปร์ที่เขาต้องเดินทางมาหาผึ้งเลยนะ ข้อที่หนึ่งถ้าผึ้งไม่ได้งาน คนอื่นอยากคุยกับเขาเยอะแยะแต่ไม่ได้คุย ข้อที่สองผึ้งได้งานแล้วยังได้ตังค์ด้วยนะ บอกพี่ซิว่าข้อเสียอยู่ตรงไหน แล้วร้องไห้ทำไม เราก็คิดเออแล้วร้องไห้ทำไมเก็บกระเป๋าไม่ร้องไห้แล้ว(หัวเราะ) แล้วขับรถไปนั่งคุย สุดท้ายได้งานก็ดีใจ แต่ก็ต้องขอบคุณเจ้านายเก่าทุกท่านที่ให้โอกาส พร้อมกับคำพูดดีๆที่เป็นพลังให้กับเรา” เธอเล่าถึงพลังบวกที่สร้างความสำเร็จมาถึงวันนี้
 
 
 
”พีอาร์” ยุค 4.0
คุณอัญญาพร ยอมรับว่าปัจจุบันงานพีอาร์มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทางอเกตฯ ต้องมีการปรับตัวไปพร้อมกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อเกตฯ ไม่ใช่แค่ให้คำปรึกษา ไม่ใช่แค่เอเจนซี่ แต่เราเป็น partner(พาร์ทเนอร์)กับลูกค้า ไม่ต่างจากสมาชิกในครอบครัวเลยทีเดียว
 
 
“ธุรกิจพีอาร์ในวันนี้ก็เป็นยุคเปลี่ยนถ่ายได้รับผลกระทบเหมือนธุรกิจสื่อเลย เราก็ต้องก้าวสู่การเปลี่ยนถ่ายงานพีอาร์ของเราเหมือนกัน เพราะถ้าเรายังยืนอยู่จุดเดิมมันก็จะทำให้เราทำงานยากกว่าเดิม เราต้องมีการปรับตัวเพราะธุรกิจพีอาร์ตอนนี้ก็มีคู่แข่งเยอะเหมือนกัน ทั้งบริษัทพีอาร์ และพีอาร์ Freelance (ฟรีแลนซ์) หรือ Social Media ที่เข้ามามีบทบาทกับเรา พอโลกของพีอาร์มันเปลี่ยน มันก็เป็นไปได้ที่พีอาร์จะไม่เปลี่ยน เราจึงต้องปรับเปลี่ยน แต่ผึ้งไม่ท้อ เพราะผึ้งมองแค่ว่า มันแค่เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจสื่อ ผึ้งแค่เดินผ่านมันไปให้ได้ ถ้าเราผ่านไปได้ก็จะดีใจมากๆ ทำให้เราต้องหาจุดแข็งของเราเป็นหลัก ส่วนลูกค้าผึ้งก็จะวางแผนดูแลโปรดักส์ให้ทั้งหมด ทั้งไอเดีย และภาพลักษณ์ ถ้ามีงานแถลงข่าวก็จะแนะนำเรื่องเสื้อผ้า แนะนำการนั่ง และการมองนักข่าวให้ทั่วถึงไม่มองแค่สื่อหลักๆเท่านั้น ตรงนี้ก็เพื่อสร้างความประทับใจนั่นเอง หรือถ้าลูกค้าอยู่บนเวทีแล้วไม่ยิ้ม ก็จะเขียนโพยไปบอกว่า ยิ้มคะ(หัวเราะ)”
 
 
“สมัยก่อนเราต้องทำงานกับนักข่าวอย่างเดียว ต้นปีที่ผ่านมาก็บอกกับทีมงานว่า เราจะเป็น มิวนิเกทเตอร์ วันนี้โลกเปลี่ยนไปเราก็มาทำงานกับ บล็อกเกอร์ end user ที่ทำให้สารของผึ้งไปสู่กลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด เราต้องทำงานพีอาร์กันแบบไร้รอยต่อ เราต้องทำงานพีอาร์กับองค์กร ทำพีอาร์กับ บล็อกเกอร์ และการซื้อมีเดียกับพาร์ทเนอร์ รวมทั้งดิจิตอลผึ้งก็ต้องเข้ามาดูแลต้องนี้ด้วย ส่วนงานอีเว้นท์ของลูกค้าก็จะรับเฉพาะงานแถลงข่าว และงานเปิดตัวโครงการเป็นหลัก ผึ้งมองว่าเราจะทำงานที่เรารู้ว่าเราเด่นในเรื่องนี้เท่านั้น เพราะผึ้งมาจากสายงานอสังหาริมทรัพย์ก็จะเข้าใจตรงนี้ บางครั้งออแกไนซ์เซอร์ไม่เข้าใจงานแถลงข่าว โดยจับเอานักข่าวกับบล็อกเกอร์ไปนั่งหลังสุด เอาผู้บริหารมานั่งข้างหน้า แต่จริงๆ เราต้องการให้นักข่าวกับบล็อกเกอร์ เห็นทุกอย่างของงานที่จัดขึ้น
 
“ปัญหาของการเชิญสื่อทีวีทุกวันนี้ค่อนข้างยาก แล้วสื่อทีวีที่จะมาร่วมงานก็จะน้อยลง เพราะบางช่องจะมีปัญหาในเรื่องของการลงทุนด้วย ประกอบกับสื่อทีวีจะไปได้จริงๆ เราจะต้องสู้ด้วยประเด็นข่าวแรงๆ หรือข่าวที่อยู่ในกระแสของเวลานั้นๆอย่างเดียวเลย โชคดีที่ทีมงานผึ้งส่วนใหญ่จะมาจากนักข่าวสายเศรษฐกิจ พอเจองานชนกันเราก็ต้องคิดประเด็นขายทันที แต่วันนี้สื่อเปลี่ยนไป จากสมัยก่อนเราต้องลงแต่กระแสหลัก แต่วันนี้มีทางเลือกมากขึ้น เราก็มาลงบล็อกเกอร์ ซึ่งก็เป็นสื่ออีกช่องทางหนี่งเท่านั้น” เธอย้ำโลกเปลี่ยนไปแค่ไหนพีอาร์ต้องไม่หยุดก้าวให้ทันในทุกสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลง
 
 
Agate เดินมาไกลเกินฝัน
“แรกๆของการเปิดบริษัทอยากทำอะไรเล็กๆเพื่อเลี้ยงลูก ความฝันที่สวยหรูคือทำงานเลี้ยงลูกไปเท่านั้นเอง โดยไม่ต้องเหนื่อยเหมือนที่ทำงานในองค์กรใหญ่แล้ว พอเลี้ยงลูกไปสักพักเริ่มมีลูกน้องหนึ่งคนในปีแรก จนถึงวันนี้มีทั้งหมด 14 คน บริษัทเริ่มไม่เล็กจะเป็นกลางๆแล้ว จนมีเพื่อนๆพี่ๆบอกว่าเราโตเร็วไปหรือเปล่า ก็มองไปก็จริง แต่ผึ้งอยาก Support ให้กับลูกอย่างเต็มที่ ได้คนเขียนงานดีๆ ให้กับลูกค้า เพราะสมัยอยู่องค์กรก็จ้าง agency เราก็คาดหวัง พอมาทำเองก็พยายามทำทุกอย่างให้คุ้มค่ากับสิ่งที่ลูกค้าคาดหวัง
 
 
 
“อนาคตของอเกตในวันนี้ผึ้งคิดว่ามันก็จะโตขึ้นไปเรื่อยๆ จากวันแรกที่ทำเพื่อเลี้ยงลูกตัวเอง เลี้ยงลูกน้อง แล้วถ้าวันหนึ่งลูกน้องอยากโต ผึ้งก็ต้องโตแล้วให้โอกาสดีๆกับพวกเขา วันนี้อเกตก็จะเติบโตไปในทาง Communication อาชีพพีอาร์ผึ้งมองว่ามันก็ดี ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี เม็ดเงินที่ลงมาพีอาร์ไม่เยอะ แต่เราสามารถกระจายข้อมูลของลูกค้าไปได้เยอะ สู่วงกว้างมากขึ้น ผิดกับโฆษณาที่มีขึ้นลงตามกระแสเศรษฐกิจ แต่งานพีอาร์จริงๆ เป็น คอนเซาท์ (Consult) กับลูกค้าว่าคุณจะต้องทำอะไรอย่างไง ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีผึ้งก็ยังทำงานได้เรื่อยๆ แต่มีกระทบในเรื่องของ Event (อีเวนท์) ที่ไม่มีเท่านั้นเอง งานพีอาร์ผู้บริหารก็ออกมาให้ข่าวเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับบริษัทตัวเอง”
 
 
 
 
 
 
เคล็ดลับพีอาร์ “ไม่ต้องสวย...แต่ต้องอดทน”
เพื่อจุดประกายความฝันให้หนุ่มสาวช่างฝันกับงานพีอาร์ “ผึ้ง “อัญญาพร ธรรมติกานนท์ กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้อย่างน่าฟัง “เป็นพีอาร์ต้องมี Content (คอนเทนต์) ในหัวเยอะๆ อ่านหนังสือเยอะๆ อ่านทุกอย่าง เพราะลูกค้องการ คอนเซาท์ (Consult) จากเราที่หลากหลายในเวลาที่คุยกับลูกค้า และ Connection(คอนเนคชั่น) ก็เป็นสิ่งสำคัญ ผึ้งมีวันนี้เพราะผึ้งมี Connection(คอนเนคชั่น) แบบนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่คอยดูแล และโตไปด้วยกัน เป็นพีอาร์ไม่จำเป็นต้องสวย(หัวเราะ) เกิดอะไรขึ้นต้องไม่ท้อแต่ต้องอดทน เพราะว่าจะต้องรองรับอะไรหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกับลูกค้า สื่อมวลชน หรือกับบล็อกเกอร์เอง
 
 
 
“เพราะงานไม่เคยจบในวันแถลงข่าว วันรุ่งขึ้นก็ต้องมาดูว่า ข่าวที่ลงนั้น เป็นไปตามที่เราต้องการหรือเปล่า บางครั้งลงผิดพลาดก็ต้องมีการโทรเพื่อขอการแก้ไขกับข่าวนั้นๆ เพราะถ้าบริษัทลูกค้าอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะมีผลกับหุ้นและตัวเลข ดังนั้น การเป็นพีอาร์จึงต้องอดทนและต้องมีข้อมูลหลากหลายในความคิดของเราอยู่ตลอดเวลา ผึ้งจะบอกกับน้องทีมงานว่า เราจะต้องเป็น lowcharacters ที่เป็นกลมๆ หมุนให้เราเป็นอะไรก็ได้ เจอลูกค้าสายอสังหาริมทรัพย์ก็แบบหนึ่ง สายสตาร์ทอัพก็เป็นอีกแบบ หรือสายการศึกษาก็เป็นอีกสไตล์หนึงเลย เป็นพีอาร์จะต้องรองรับทุกอย่างให้ได้ทั้งหมด”