จุดเปลี่ยนชีวิต ของ ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. “นำประสบการณ์ที่มีมาช่วยพัฒนางานจากมุมมองที่แตกต่าง”
|
CHANGE Live has changed
เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : ชวกรณ์ สะอาดเอี่ยม
จุดเปลี่ยนชีวิต ของ ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.
“นำประสบการณ์ที่มีมาช่วยพัฒนางานจากมุมมองที่แตกต่าง”
เส้นทางชีวิต ของ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ หรือ ดร.ไก่ เรียนจบ 3 ปีครึ่ง ด้วยเกียรตินิยม ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ไปศึกษาต่อปริญญาโท 2 ใบ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย รวมทั้งปริญญาเอกทางกฎหมาย พร้อมนำประสบการณ์ที่มีมาช่วยพัฒนางานจากมุมมองที่แตกต่างกับบทบาทในตำแหน่ง เลขาธิการ คปภ.
//เรียนจบ 3 ปีครึ่ง ด้วยเกียรตินิยม
ชีวิตในวัยเด็กของ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ หรือ ดร.ไก่ ต้องย้ายตามคุณพ่อ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่ จ.พิษณุโลก แล้วย้ายไปที่ จ.นครปฐม และกรุงเทพฯ จึงเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จากสอบเข้าเรียนต่อสายวิทย์ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย ดร.ไก่ มีทั้งเล่นละคร โต้วาที และเป็นเชียร์ลีดเดอร์ทั้งของมหาวิทยาลัย และงานฟุตบอลประเพณีจุฬา - ธรรมศาสตร์ ถึง 2 สมัย จนทำให้ ดร.ไก่ ยังจดจำท่าเชียร์ที่เป็นท่าเฉพาะ “ตีเลขแปดแนวนอน”
//ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล
เพียง 3 ปีครึ่ง ดร.ไก่เรียนจบด้วยคะแนนเกียรตินิยม ทำให้เวลาที่เหลืออีกครึ่งปีได้ไปฝึกงาน เรียนภาษาอังกฤษ และเรียนเนติบัณฑิต กระทั่งได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลไปศึกษาต่อปริญญาโท 2 ใบ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย รวมทั้งปริญญาเอกทางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
//ก้าวสู่สำนักงานทนายความขนาดใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา
ระหว่างเรียนปริญญาเอก เพื่อนส่วนใหญ่ของ ดร.ไก่ ส่วนใหญ่หารายได้พิเศษด้วยการทำงานในร้านอาหาร แต่ ดร.ไก่ เลือกทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย จึงทำให้ ดร.ไก่ ได้มีโอกาสรู้จักทนายความ และได้เรียนรู้งานสำนักงานทนายความ จากสำนักงานขนาดเล็ก และก้าวสู่สำนักงานทนายความขนาดใหญ่ ทั้งในฟิลาเดลเฟีย วอชิงตันดีซี และซานฟรานซิสโก จนได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายที่สหรัฐอเมริกา พอได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์พอสมควร ประกอบกับตนเองนั้นเป็นนักเรียนทุนพระราชทาน ทำให้ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อทดแทนแผ่นดินเกิด
//ทิ้งเงินเดือน 90,000 บาท เผื่อเริ่มชีวิตข้าราชการตามที่ตั้งใจ
ขณะเดินทางกลับเมืองไทย หลายกระทรวงยังไม่มีที่ใดเปิดสอบ ดร.ไก่ จึงไปเป้น ที่ปรึกษาด้านกฎหมายที่สำนักงานทนายความระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง ซึ่งได้รับค่าตอบแทนประมาณ 90,000 บาท หลังจากทำงานได้เพียง 4 วัน ทางกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ เรียกตัวไปเป็นนิติกร ที่เริ่มชีวิตข้าราชการตามที่ตั้งใจ ด้วยเงินเดือนเพียง 9,000 บาทเศษเท่านั้น แต่ทำให้ ดร.ไก่ ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ให้ได้เข้าไปทำงานในศาลอาญา ศาลแพ่ง และศาลฎีกา จนได้รับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลแพ่ง และตำแหน่งเลขานุการศาลแพ่ง และได้รับรางวัลศาลยุติธรรมดีเด่นอยู่หลายปี
//รองเลขานุการศาลฎีกา-เลขาธิการ กกต.
ต่อมาผู้ใหญ่ขอตัว ดร.ไก่ ให้ไปเป็นรองเลขานุการศาลฎีกาในฐานะหน้าห้องรองประธานศาลกีฎา เพื่อทำหน้าที่ช่วยกลั่นกรองสำนวนคดีพิเศษ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ภาษีอากร ฯลฯ กระทั่งเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง ทำให้ได้รับมอบหมายให้ค้นคว้าประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งประเด็นเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะเดียวนั้นศาลฎีกาต้องเป็นผู้คัดเลือกส่งผู้ที่เหมาะสม 10 คน ไปให้กับวุฒิสภาเลือกให้เหลือเพียง 5 คน เพื่อไปดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกกต. จนได้รับหน้าที่เป็นเลขาธิการ กกต.
//รับใช้พระพุทธศาสนา
ระหว่างปี 2553-2554 ถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตอีกครั้งในเรื่องของการทำงานของ ดร.ไก่ที่ต้องได้รับการกดดัน แล้วเป็นจังหวะที่คุณพ่อเสียชีวิตพอดี จากนั้นจึงตัดสินใจบวชเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนา 2 สัปดาห์ ที่วัดบางไผ่พระอารามหลวง จ.นนทบุรี เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งศาลาบรรจุอัฐิของคุณพ่อนั่นเอง
//โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช.
จากนั้น มีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. มาเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ทำให้ ดร.ไก่ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. ดูแลงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม และดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการกฎกติกาด้านโทรคมนาคม
//ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นกรรมการ คตง.
กระทั่ง การเตรียมจัดประมูลคลื่นความถี่ทั้งคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเพื่อรอกติกาใหม่ ทำให้ ดร.ไก่ จึงต้องยุติบทบาทที่ กสทช. เพื่อไปรับบทบาทใหม่ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือ คตง. ซึ่งเปิดรับ คณะกรรมการชุดใหม่ ในเวลาต่อมาจึงได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นกรรมการ คตง.
//บทบาทใหม่ในตำแหน่ง เลขาธิการ คปภ.
เกือบ 1 ปี ที่ทำงานเป็นบอร์ด คตง. เป็นช่วงที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. เปิดรับสมัครเลขาธิการ คปภ. ดร.ไก่ จึงได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่หลายท่านจึงตัดสินใจเข้าสู่การแข่งขัน จนได้รับเลือกเป็น เลขาธิการ คปภ.
//นำประสบการณ์ที่มีมาช่วยพัฒนางานจากมุมมองที่แตกต่าง
“ผมคิดว่าการประกันภัยมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของทุกคนมาก จึงต้องทำให้คนไทยได้รู้ว่าเกี่ยวข้อง และกระทบกับพวกเขาอย่างไร รวมทั้งนำมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าเราไม่นำประสบการณ์ที่มีความหลากหลายมาช่วยพัฒนางานจากมุมมองที่แตกต่าง ก็จะไม่เกิดอะไรใหม่ๆ”
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.
ชูนโยบาย สร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจประกันภัยรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์
เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคการดำเนินธุรกิจภายใต้ “Digital Ecosystem”
ลุยรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์สำหรับธุรกิจประกันภัย “ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.” ชี้ เพื่อสร้างมาตรฐานของการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อมุ่งสู่การเป็น Digital Insurer ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเป็นได้ทั้งโอกาสและความท้าทายในการดำเนินธุรกิจบนเวทีใหม่ เตรียมความพร้อมให้องค์กรสามารถรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ในระดับ Cyber Resilience ช่วยลดโอกาสในการเกิดความเสี่ยง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการพัฒนาและยกระดับให้ธุรกิจประกันภัย
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานกำกับในภาคการเงิน ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ในการจัดกิจกรรมทดสอบความพร้อมเพื่อรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ระดับภาคการเงิน (Financial Sector Cyber Drill) เพื่อสร้างกระบวนการและทดสอบความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ครอบคลุมทั้งในด้านการตอบสนอง (Response) ต่อภัยคุกคามการกู้คืนระบบ (Recovery) และมาตรการเยียวยาต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการพัฒนาแนวทางในการรับมือได้อย่างเหมาะสมกับลักษณะความซับซ้อนของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะสามารถนำไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแนวทางการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์
//ลุยรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์สำหรับธุรกิจประกันภัย
นอกจากนี้สำนักงาน คปภ. ยังได้จัดกิจกรรมซ้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์สำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Sector Cyber Drill) เมื่อช่วงปลายปี 2563 เพื่อทดสอบความพร้อมในการรับมือเหตุการณ์ถูกโจมตีทางไซเบอร์ของสำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันภัย ให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้น ภายใต้บริบทการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันที่เข้าสู่ยุคดิจิทัลท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ พฤติกรรมของผู้บริโภค ความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นควบคู่กับนวัตกรรมเทคโนโลยี โดยมีบริษัทประกันชีวิตเข้าร่วมกิจกรรมซ้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ จำนวน 22 บริษัท และบริษัทประกันวินาศภัยเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 52 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 94 ของบริษัทประกันภัยทั้งหมด โดยการดำเนินการจัดกิจกรรมซ้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์เริ่มตั้งแต่การจัดฝึกอบรมผู้ที่เกี่ยวข้อง การออกแบบเหตุการณ์ที่ใช้ในการทดสอบที่สอดคล้องมาตรฐานสากลและสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน รวมถึงการสรุปและวิเคราะห์ผลที่ได้จากการทดสอบนำมาพัฒนาแนวทางการรับมือและบริหารจัดการภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคธุรกิจประกันภัยมีกระบวนการรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
//สร้างมาตรฐานของการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทั้งนี้ จากการการผลักดันให้ภาคธุรกิจประกันภัยมีความตระหนักถึงความสำคัญของการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ผ่านการจัดกิจกรรมการซักซ้อมแล้ว สำนักงาน คปภ. ได้สร้างมาตรฐานของการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญให้กับธุรกิจประกันภัย โดยได้ดำเนินการออกประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัทประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2563 รวมถึงแนวปฏิบัติ เรื่อง การกำกับดูแลและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ของบริษัทประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 ที่มุ่งหวังให้บริษัทประกันภัยมีความมั่นคงปลอดภัยทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งหลักเกณฑ์และแนวทางในการกำกับดูแล จะครอบคลุมหัวใจสำคัญของการควบคุมและบริหารจัดการความเสี่ยงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
//มุ่งสู่การเป็น Digital Insurer
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันภัย ได้กำหนดกลยุทธ์และขับเคลื่อนโดยอาศัยกุญแจสำคัญ คือ เทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่การเป็น Digital Insurer ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเป็นได้ทั้งโอกาสและความท้าทายในการดำเนินธุรกิจบนเวทีใหม่ โดยสามารถใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิม และเพิ่มเติมให้เกิดสิ่งใหม่ที่สร้างความแตกต่างได้ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน แต่ในอีกด้านหนึ่งที่มาพร้อมกับการนำเทคโนโลยีมาใช้และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ ความเสี่ยงด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ซึ่งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและประเทศชาติ ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการจัดการเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจและองค์กร ประกอบกับการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีกลายเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจปฏิเสธได้จากสถานการณ์ Covid-19 Disruption ทำให้ต้องเร่งความเร็วในการปรับตัวและใช้เทคโนโลยีอีกทั้งภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งปันเพื่อใช้ข้อมูลร่วมกัน (Sharing information) ซึ่งมาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยี อาทิ การพัฒนาระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G เป็นต้น ซี่งจะเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงภัยคุกคามทางไซเบอร์มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยสถิติภัยคุกคามทางไซเบอร์ของบริษัท Kaspersky ซึ่งเป็นบริษัทด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านไอทีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผลสำรวจที่น่าสนใจว่าประเภทธุรกิจหรือบริการที่ตกเป็นเป้าหมายในการโจมตี และติดอันดับในกลุ่ม TOP 3 ของโลก คือ ภาคการเงิน (Financial sector) โดยรวมถึงภาคประกันภัยด้วย
//รับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ในระดับ Cyber Resilience
“ความเสี่ยงที่ต้องเผชิญในการดำเนินธุรกิจนั้น หากมีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีแนวทางในการป้องกัน สามารถตรวจจับได้เร็ว และตอบสนองได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้องค์กรสามารถรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ในระดับ Cyber Resilience จะช่วยลดโอกาสในการเกิดความเสี่ยง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการพัฒนาและยกระดับให้ธุรกิจประกันภัยมีความพร้อมในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นการก้าวข้ามอุปสรรคการดำเนินธุรกิจภายใต้ “Digital Ecosystem” ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้ดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ สำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Sector Cyber Drill) เพื่อทดสอบความพร้อมในการรับมือ ตลอดจนการดำเนินการเมื่อเกิดภัยคุกคามของบริษัทประกันภัยและสำนักงาน คปภ. ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยไซเบอร์ เพื่อเป็นอีกกลไกหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงด้านไซเบอร์ โดยมุ่งหวังเพื่อสร้างกระบวนการที่ทำให้องค์ความรู้มีความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย