ตำนานเสียงเพลงแห่งความบริสุทธิ์ “นกแล”....วงดนตรีที่ ไม่มีวันตาย

ตำนานเสียงเพลงแห่งความบริสุทธิ์ “นกแล”....วงดนตรีที่ ไม่มีวันตาย

 

 

 

 

เรื่อง : สุทธิคุณ  กองทอง ภาพ : ประเสริฐ เทพศรี 

 

ตำนานเสียงเพลงแห่งความบริสุทธิ์

“นกแล”....วงดนตรีที่

ไม่มีวันตาย

 

 

ตลอดเวลา 33 ปี ที่ผลิตสมาชิกวงนกแลไปแล้ว 18 รุ่น ที่สมาชิกทุกคนต่างหมุนเวียนเข้าออกผลัดเปลี่ยน

แยกย้ายกันไปตามวิถีทางชีวิตของแต่ละคน แต่วันนี้ “นกแล” กำลังก้าวย่างอย่างมั่นคงจากทายาทรุ่นใหม่

ย้ำชัดเจน “นกแลจะไม่มีวันตาย”

 

ย้อนวันวานของอดีตสมาชิกวงนกแลตำนานเสียงเพลงแห่งความบริสุทธิ์ แม้วันนี้ต่างคนเดินบนถนนชีวิตที่แตกต่างกันไปแต่หัวใจทั้งหมดยังเป็นนกแลตลอดเวลา “กร” ทินกร ศรีวิชัย เจ้าของบทเพลงฮิตอย่าง ‘หนุ่มดอยเต่า’ ที่ทำเครื่องปั้นดินเผา ‘ตุ๊ดตู่’ ศรัญญา อุปพันธ์ นักร้องสาวเจ้าน้ำตาทำธุรกิจเบเกอรี่ และพนักงานต้อนรับให้กับ ร้านอาหารแสนคาเทอเรส ‘น้อย’ ํนัธร์สิกาญจน์ จุมปามณีวร นักร้องนำรุ่นหนึ่งหันไปเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ ทั้งหมดร่วมพูดคุยกันที่ Parrot Studio Chiang Mai

 

 

 

"นกแล” ให้ประสบการณ์

 

เริ่นสนทนากับ “กร” ทินกร ศรีวิชัย อายุ 41 ปี เจ้าของบทเพลงที่โด่งดัง หนุ่มดอยเต่า ย้อนภาพวันวานให้ฟังว่า “ตอนนี้ยึดอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่ที่บ้าน ประเภทตุ๊กตายิ้มที่ทำเป็นแฮนด์เมดทั้งหมด โดยรับทำตามออเดอร์ ลูกค้าเข้ามาเรื่อยๆ ก็ถือว่าทำให้พออยู่ได้ พอเสร็จจากงานหลักมีเวลาว่างก็จะมาช่วยอาจารย์สมเกียรติสอนนกแลรุ่นใหม่ๆ พร้อมกับมาเล่นดนตรีควบคู่กันไปด้วย เพราะทุกวันนี้นกแลยังมีการรับงานแสดงทั้งในเชียงใหม่และต่างจังหวัดสิ่งสำคัญพวกเราจะยังช่วยกันสร้างตำนานให้นกแลอยู่ต่อไปนานๆ

“เดี๋ยวนี้พอผมไปร้องเพลงที่ไหน ถ้าเป็นแฟนคลับของนกแลก็จะจำผมได้(หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นคนวัยยี่สิบขึ้นไปก็ยังจำนกแลได้เหมือนกัน ถ้าถามถึงความโด่งดังในวัยเด็ก ผมจำไม่ได้ว่าความดังเป็นยังไง เนื่องจากเรายังเด็กมากอาจารย์ให้มาร้องเพลง เราก็ร้อง(หัวเราะ) ขึ้นรถตู้ก็หลับ พอถึงงานก็ขึ้นไปร้อง มันเหมือนได้ทำงาน ได้ไปต่างจังหวัดเหมือนได้เที่ยวด้วย ผมก็ได้คุยกับพี่ๆน้องๆเขาก็บอกกับผมว่า ความดังของนกแลในตอนนั้นเหมือนซุปตาร์ในยุคนี้(หัวเราะ) ตอนนั้นเรายังเด็กไปคิดว่าได้เที่ยวเลยไม่ได้คิดอะไร และไม่รู้ด้วยว่าความดังคืออะไร

 

 

 

“ความเป็นนกแลที่ผ่านมาถือว่าได้ให้ประสบการณ์ชีวิตที่ดีมากๆ เพราะเดินทางไปแสดงต่างจังหวัดจะต้องช่วยเหลือตัวเอง ไม่ได้มีพ่อแม่ไปด้วยเหมือนในปัจจุบัน มีเพียงอาจารย์สมเกียรติเพียงคนเดียวที่คอยดูแลพวกเรา ความเป็นเด็กตอนนั้นพวกเราจะแตกต่างจากเพื่อนๆที่เราได้ทำงานมีรายได้เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้ รายได้ตอนนั้นถือว่าได้เปลี่ยนชีวิตครอบครัวได้ดีขึ้น เพราะเราสามารถซื้อที่ดินให้กับพ่อแม่ได้ สมัยนั้นราคาที่ดินไม่แพงเหมือนสมัยนี้(หัวเราะ)ผมอยากจะฝากถึงน้องๆที่เป็นนักร้องรุ่นใหม่ว่า อย่าไปยึดติดกับดัง เพราะความดังมันเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ความดังมีขึ้นก็มีลงพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์เอาไว้ดีกว่า ชีวิตผมในวันนี้ไม่ได้ยึดติดอะไร ใช้ชีวิตทุกวันให้มีความสุข” เจ้าของบทเพลงหนุ่มดอยเต่าสรุปชีวิตที่มีความผูกพันกับวงนกแล 

 

“นกแลให้ประสบการณ์ชีวิตที่ดีหลายๆ อย่าง ทั้งการใช้ชีวิตร่วมกันกับสมาชิกในวงที่อยู่กันอย่างพี่น้อง เป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง ถ้าผมไม่ได้มีโอกาสเล่นดนตรีกับวงนกแลชีวิตผมก็อาจไม่เป็นเหมือนอย่างทุกวันนี้”

 

 

 

 

“นกแล” เปลี่ยนชีวิต

หากใครจำได้นักร้องที่ได้รับฉายาว่า เจ้าน้ำตา “ตุ๊ดตู่” ศรัญญา อุปพันธ์ ในวัย 39 ปี เจ้าของบทเพลง อย่าลืมน้องสาว เล่าถึงภาพอดีตที่กลายเป็นความทรงจำ “ปัจจุบันทำเบเกอรี่ขายอยู่ที่บ้านเล็กๆ พอตอนเย็นก็ไปทำงานที่ร้านอาหาร แสนคาเทอเรส ในตำแหน่งพนักงานต้อนรับ ไม่ได้ร้องเพลง แต่จะร้องให้กับนกแลอย่างเดียวเลย(หัวเราะ)” ด้าน “น้อย”นัธร์สิกาญจน์ จุมปามณีวร อายุ 43 ปี เจ้าของบทเพลงนกแล เล่าถึงความรู้สึกครั้งนั้น “ตอนนี้ไม่ได้ทำโรงเรียนอนุบาลแล้ว แต่ด้วยส่วนตัวเป็นคนชอบกินก๋วยเตี๋ยวเลยมาเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวเรือย่านสารภี พอเราขายก็ยังมีลูกค้าที่ยังจำเราได้ ถ้าย้อนไปสมัยที่เป็นนกแลใหม่ๆ เราก็ยังไม่รู้ว่า ความดังเป็นยังไง แต่มีความรู้สึกดีใจที่มีคนจำเราได้ ทั้งมาขอรายเซ็น มาขอถ่ายรูป และพอกลับมาบ้านก็จะมีของขวัญและจดหมายมาหาเป็นมัดๆเลยในสมัยนั้น แต่ยังไม่มีไลน์เหมือนสมัยนี้(หัวเราะ) เรารู้สึกดีใจมากๆ ยุคนั้นพอเรียนหนังสือกลับบ้านตอนเย็นก็จะไปเล่นคอนเสิร์ตที่ไม่ไกลจากบ้าน เช่น ลำปาง เชียงราย ที่สามารถไปกลับได้ แต่ถ้าปิดเทอมสามเดือนก็ไม่ได้อยู่บ้านโดยจะไปเดินสายคอนเสิร์ตทั้งอีสานและใต้ หรือต่างประเทศ พวกเราจะอยู่ด้วยกันมากกว่าอยู่กับครอบครัว เรียกว่ากินนอนในรถตู้เลย”

 

 

 

 

 

 

 

ระหว่างนั้น ตุ๊ดตู่ กล่าวเสริม “ตอนนั้นเข้ามาอยู่ในวงนกแลก็ถือว่ายังเด็กมาก อายุเพียง 9 ขวบ พี่น้อยเข้ามาชุดแรกหนุ่มดอยเต่า พี่น้อยก็ร้องเพลงนกแล ส่วนตู่เข้ามาร้องเพลงครั้งแรกชุดอุ้ย ก็ร้องเพลงอุ้ยเลย ทำให้คนรู้จักเราก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตอย่างหนึ่ง เข้ามาร้องเพลงตอนนั้นยังพูดไม่ชัดเลย ตอนนี้ก็ยังพูดไม่ชัด(หัวเราะ)” แล้วเข้ามาในอยู่ในวงนกแลกันได้อย่างไร พี่สาวของวง อธิบาย “พอดีเราเข้ามาอยู่ในวงนกแลเนื่องจากอยู่โรงเรียนเดียวกัน โดยเราอยู่ในวงดุริยางค์ พอดีอาจารย์สมเกียรติเป็นอาจารย์สอนพละ และคุมวงดุริยางค์พอดีก็ได้คัดเลือกเข้ามา แต่ของตู่ยังไม่ได้อยู่ในวงดุริยางค์ ตอนนั้นตู่ยังวิ่งเล่นอยู่แถวนั้น พอดีครูให้มาร้องเพลงตู่เขาก็ร้องไม่เพี้ยน อาจารย์สมเกียรติเลยให้มาลองร้องเพลง” ด้วยบทเพลงอุ้ย โด่งดังจึงมีการนำมาทำเป็นละคร ทำให้เธอต้องร้องไห้ กระทั่งมาถึงบทเพลง อย่าลืมน้องสาว ก็ต้องร้องไห้อีกเช่นกัน

 

 

 

 

 

ตรงนี้ทำให้กลายเป็นคาแรกเตอร์ของตุ๊ดตู่ที่ต้องร้องเพลงเศร้าไปโดยปริยายชีวิตเข้าสู่การเป็นนักร้องประจำวงนกแลแบบเต็มตัวต้องมีการจัดสรรเวลาไปเรียนแบบลงตัว “สมัยนั้นตู่เรียนก็ได้เรียนแบบเต็มที่ โดยจะมาร้องเพลงตอนโรงเรียนเลิก แต่ถ้าเป็นเย็นวันศุกร์ก็จะใส่ชุดนักเรียนนั่งรถตู้เดินทางไปแสดง

คอนเสริต์เลย” คุณน้อย สำทับพร้อมพยักหน้า “ใช่ๆ ไปทั้งชุดนักเรียนเลย ชุดที่จะต้องใส่ตอนขึ้นเวลาก็พับใส่กระเป๋าแล้วก็เปลี่ยนกันในรถเลย พอรถจอดข้างเวทีแล้ว พอมีเวลาว่างก็จะนั่งทำการบ้านกัน พอเดินทางกลับถึงเชียงใหม่ตอนเช้าก็ไปเรียนต่อเลย(หัวเราะ) หรือถ้าต้องเข้าห้องอัดเสียง ก็จะมาเย็นวันศุกร์นั่งเครื่องเข้ามาในกรุงเทพฯ แล้วกลับเที่ยวสุดท้ายของวันอาทิตย์”

 

กำไร คือ ประสบการณ์

ระหว่างที่อยู่ในวงนกแล สมาชิกในวงต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้ประสบการณ์ชีวิต ที่เป็นเหมือนกำไรชีวิตที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้ “น้อยคิดว่าถ้าพูดถึงเด็กในวัยเดียวกันตอนนั้น เราถือว่าได้ประสบการณ์ที่ดีมาก ทำให้เราเป็นผู้ใหญ่เร็วมาก ไม่มีเวลาจะไปนั่งเล่นเหมือนเพื่อนๆเลย ทุกอย่างเราต้องดูแลและช่วยเหลือตัวเองกันตลอด ขนาดตู่เข้ามาตอนนั้นยังแต่งตัวไม่เป็น(หัวเราะ)” ตุ๊ดตู่ กล่าวแทรกพี่สาวทันที “ตอนนั้นพี่น้อยเหมือนเป็นแม่หนูเลย(หัวเราะ) เพราะสมาชิกวงนกแลไม่ใช่วัยเดียวกัน บางคนเป็นพี่บางคนเป็นน้อง พี่ก็จะต้องดูแลน้อง” พอถามว่ารายได้จากการเป็นสมาชิกวงนกแล “น้อยคิดว่ารายได้ตอนนั้นก็ถือว่าดีนะ แต่ด้วยความเป็นเด็กก็ไม่ค่อยได้สนใจเรื่องรายได้สักเท่าไหร่ นกแลไม่ได้มองเป็นธุรกิจ ส่วนใหญ่เล่นเป็นการกุศลเสียเยอะ อย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีงานก็จะให้นกแลไปงานตลอดเลย เพราะนกแลเหมือนเป็นตัวแทนของจังหวัด”

 

 

 

 

หากว่ากันไปแล้วการเป็นนักร้องในวงนกแลก็สามารถเปลี่ยนชีวิตคนเราได้ “จริงๆตู่ตอนเด็กๆเป็นคนขี้อาย เป็นคนไม่ค่อยแสดงออกแล้วเป็นคนขี้กลัว ทำอะไรก็ขี้กลัวไปหมด แล้วไม่ค่อยยุ่งกับใคร แต่พอได้มาอยู่วงนกแลก็ทำให้เป็นคนที่กล้าขึ้น กล้าแสดงออก กลายเป็นคนกล้าคิดกล้าทำ มีคนคอยบอก มีคนคอยสอนถือว่าเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลย หากวันนั้นไม่ได้เจอวงนกแลก็ไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นยังไง”พี่สาวของวงนั่งฟังด้วยหัวใจเปื้อนยิ้ม 

 

“การเข้ามาอยู่ในวงนกแลทำให้ชีวิตเปลี่ยนมาก ไปไหนก็มีคนรู้จัก แม้ช่วงเวลาที่เราไม่ได้มีชื่อเสียงแล้วแต่ก็ยังมีคนจำเราได้ มันเหมือนเราเป็นโลโก้ของความเป็นนกแลก็คงไม่ผิดนัก” น้องเล็ก ย้ำอีกครั้ง “มีคนมาบอกว่าตอนนั้นวงนกแลดังๆ เราก็ไม่รู้ว่าดังยังไง เพราะเราไม่เข้าใจว่าความดังคืออะไร เขาบอกให้ไปร้องเพลงเราก็ไปร้องเพลงแต่พอสังเกตเหมือนกันว่ารถตู้ขับไปไหนก็จะมีคนวิ่งเข้ามาเคาะกระจกเป็นจำนวนมาก” คุณน้อยเสริม “สมัยนั้นยังไม่มีช่องทางของโลกโชเชียลแบบนี้ ออกแค่หนังสือพิมพ์ และไปออกรายการทีวีบ้าง สมัยนั้นไม่เยอะเหมือนสมัยนี้ความรู้สึกสมัยนั้นไปเล่นต่างจังหวัดจะได้รับการตอบรับดี มีแฟนคลับเหมือนเกาหลีเลย(หัวเราะ) ยิ่งที่ผ่านมาไปเล่นคอนเสิร์ตครบรอบ 33 ปีนกแล ก็มีแฟนคลับมาดูกันล้นหลามทำให้พวกเราดีใจมาก เพราะเขาตั้งใจมาหาและมาดูเราจริงๆ” สองคนย้อนภาพคอนเสิร์ตที่สร้างความทรงจำไม่ลืม พร้อมมุ่งมั่นในการสานต่องานอาจารย์สมเกียรติเพื่อให้วงนกแลอยู่คู่วงการเพลงไทยตลอดไป

 

 

 

“นกแล” ก้าวใหม่

นกแล เป็นวงดนตรีสัญชาติไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ2523 เจ้าของเพลง ‘หนุ่มดอยเต่า’ที่สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมากในปี พ.ศ.2528 โดยมี อาจารย์สมเกียรติ สุยะราช อดีตอาจารย์ผู้สอนโรงเรียนพุทธิโสภณ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ควบคุมวง เริ่มต้นจากการคัดเด็กมาเป็นนักดนตรีวงดุริยางค์ และให้เด็กๆ แต่งกายชุดชาวเขา จากนั้นในปี พ.ศ.2526 นกแลเริ่มตั้งเป็นวงสตริง โดยหาเครื่องดนตรีมาให้เด็กๆ เล่นดนตรีกันเอง จนเริ่มเข้าตาแมวมอง และได้ขึ้นเวทีใหญ่แห่งแรก คือ รายการโลกดนตรี ที่มี เสกสรร ภู่ประดิษฐ์ เป็นโฆษก แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านเวลา ทำให้วงมีโอกาสแสดงเพียง 3 เพลง เมื่อกลับจากกรุงเทพฯ มาถึงเชียงใหม่ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ อาจารย์สมเกียรติก็ได้รับโทรศัพท์ติดต่อให้นำวงดนตรีนกแลไปเล่นแบบเต็มวงที่ลานโลกดนตรี ช่อง 5 สนามเป้า และวันนั้นเองที่ เรวัต พุทธินันทน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งค่ายเพลงแกรมมี่ ได้มีโอกาสชมการแสดง จึงนำมาสู่การทำอัลบั้มเพลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ.2528 โดยใช้ชื่อชุด ‘หนุ่มดอยเต่า’ จนสร้างปรากฏการณ์กลายเป็นเพลงฮิตไปทั่วประเทศ

 

 

 

 

นกแลมีอัลบั้มเพลงกับแกรมมี่จำนวน 5 ชุด คือ หนุ่มดอยเต่า (2528), อุ๊ย (2529), สิบล้อมาแล้ว (2530), ช้าง (2531) และ ทิงนองนอย (2532) ด้วยเสียงร้องกวนๆ ของทินกร ศรีวิชัย เจ้าของเพลง หนุ่มดอยเต่า หรือความน่ารักสดใสของ ‘ตุ๊ดตู่’ ในเพลง ‘อย่าลืมน้องสาว’กับการเล่นดนตรีของสมาชิกทั้งหมดซึ่งอยู่ในวัยเด็ก ทำให้ชื่อของนกแล กลายเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของวง

 

สำหรับสมาชิกที่อยู่ในวงนกแล ประกอบด้วย 1. อาจารย์สมเกียรติ สุยะราช : กีตาร์,ควบคุมวง 2. นพดล สุยะราช (แจ๊ค) : กีตาร์3.สุวิทย์ ไชยช่วย (หนึ่ง) : กลอง, ร้องนำ 4.ปรัชญา ปัญจปัญญา (หนุ่ม) : คีย์บอร์ด, ร้องนำ  ปัจจุบันเป็นซาวด์เอนจิเนียอยู่ที่อเมริกา 5. โสฬส สุขเจริญ (ต้อม) : กีตาร์ 6. ทิพย์พร นามปวน(นก) : เบส 7. ทินกร ศรีวิชัย (ยัน) : บองโก้,ร้องนำ 8. อุดร ตาสุรินทร์ (ดร) : ทอมบ้า, ร้องนำ 9.นัธร์สิกาญจน์ (ศิริลักษณ์) จุมปามณีวร (น้อย): ร้องนำ, จังหวะ 10. ดาราภรณ์ ศรีวิชัย (หนึ่ง): ร้องนำ, จังหวะ 11. แพรวพราว ไชยทิพย์(ตุ๊กตา) : โฆษก, จังหวะ 12. อภิชาติ ขันแข็ง(เอ) : ร้องนำ 13. ศรัญญา อุปพันธ์ (ตุ๊ดตู่) :ร้องนำ 14. สุพรรณิการ์ เมธาปริญญา (กุ๊กไก่): ร้องนำ 

 

อาจารย์สมเกียรติ เล่าต่อว่า ด้วยความเป็นชื่อของวงดนตรี นกแล ทำให้ผู้ใหญ่ในสังคมให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ตั้งสตูดิโอ Parrot Studio ของนกแลที่ใช้ในการฝึกสอนก็มีการอนุเคราะห์กันเป็นอย่างดี “ปัจจุบันผู้ที่มาเรียนร้องเพลงกับนกแล ถ้าเป็นลูกคนมีเงินเราก็เก็บชั่วโมงละหนึ่งร้อยบาท แต่ถ้าเป็นคนยากจนเราจะไม่เก็บเงิน แถมยังให้เงินในเวลาออกคอนเสิร์ต เราใช้ระบบคนรวยช่วยคนจนคนที่มีโอกาสช่วยคนด้อยโอกาส ผมมั่นใจว่านกแลจะไม่มีวันตาย ที่วันนี้นกแลจะเป็นสถาบันที่ผลิตนกแลรุ่นใหม่ออกมาเรื่อยๆ” นี่เป็นความตั้งใจของอาจารย์สมเกียรติที่จะสร้างวงดนตรีเด็กที่ชื่อนกแลขึ้นมา สาเหตุมาจากสโมสรผึ้งน้อยเป็นผู้จุดประกายให้นั่นเอง

 

 

 

 

ด้านลูกชายสองคน(ต้าร์-ศิโรตม์ แชมป์-ศรัณย์ สุยะราช) ผู้บริหาร Parrot Studio Chiang Mai กล่าวถึงความมุ่งมั่นในครั้งนี้ “ผมกับวงนกแลถือว่าได้เติบโตมาด้วยกันอยู่แล้ว ตั้งแต่จำความได้คุณพ่อก็ให้ผมขึ้นเวทีร้องเพลง จนกระทั่งได้ออกอัลบั้มมาหนึ่งชุดก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ เพราะตอนนั้นเราไม่ได้อยู่กับแกรมมี่ แต่เราออกมาทำเอง การตอบรับไม่ดีเนื่องจากเราไม่มีช่องทางในการโปรโมต หลังจากนั้นมาเราก็รับงานตามภูมิภาคมาเรื่อยๆ ผมจึงเห็นนกแลในยุคที่รุ่งเรืองที่สุด และยุคที่ตกต่ำที่สุด ได้เห็นเด็กๆที่เล่นดนตรีไม่ค่อยเก่ง จนวัน

 

หนึ่งก็เล่นดนตรีได้เก่งมาก แต่ไม่มีแรงสนับสนุนจากค่ายเพลงใหญ่ๆ ผมถือว่าคุณพ่อเป็นคนที่อดทนมาก บางคนพอรู้ว่าไปต่อไม่ได้ก็จะหยุดแต่คุณพ่อไม่หยุด ในส่วนนี้ผมเลยชื่นชมคุณพ่ออยู่เหมือนกัน ไม่มีงานแล้วไปเล่นฟรีก็ยอม เพียงแค่ต้องการให้นกแลรุ่นใหม่ๆได้มีประสบการณ์ผลงานท้ายๆที่ได้เห็นชัดเจนหน่อยก็มีชุด ดอยเต่าดอทคอม ที่ผลิตจากค่ายเล็กๆ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

 

“มาวันนี้ผมกำลังสานต่องานของคุณพ่อตามที่คุณพ่อบอกว่านกแลจะไม่มีวันตาย ผมก็มั่นใจอย่างนั้น ผมกับน้องชายก็จะรับหน้าที่ตรงนี้ โดยน้องชายมาดูแลด้านการร้องเพลงเพราะน้องชายมีประสบการณ์ในการประกวดเขาจบมาทางด้านดนตรีโดยตรงเลย ส่วนตัวผมจบบริหารธุรกิจก็จะถนัดงานบริหารมากกว่าพอดีผมทำงานอยู่ที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) (ทอท.) ตรงนี้ผมก็จะเข้ามาช่วยงานด้านระบบการบริหารทั้งหมด ผมพยายามให้คุณพ่อเปลี่ยนแปลงในการร้องการเต้น ดนตรีรวมทั้งเสื้อผ้าของนกแลให้ดูทันสมัยมากขึ้น ก่อนหน้านี้คุณพ่อจะสอนคนเดียว แต่ยุคผมจะหาครูที่มีชื่อเสียง มีประสบการณ์ด้านดนตรีมาช่วยสอน ด้วยเม็ดเงินลงทุนเราก็ต้องลง เพราะถ้าเราต้องการก้าวไปข้างหน้า เพื่อให้คนได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของนกแลในยุคใหม่ด้วย” อนาคตกับความตั้งใจของผู้บริหารยุคใหม่ สถาบันนกแลอาจมีสาขาตามต่างจังหวัดก็เป็นได้"

 

 

 

 

สมัครเรียนเป็นนกแลรุ่นใหม่

Parrot Studio Chiang Mai

Top supermarket สาขาโชตนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่

โทรศัพท์ 08-4593-1968

อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

หมายเหตุ  *นี่เป็นบทสัมภาษณ์เมื่อปี 2558* ทาง CHANGE into Magazine  จึงนำมาลงไว้ในเว็บไซต์ตามเสียงเรียกร้องจากแฟนเพลงที่มีความประสงค์ขอได้อ่านบทสัมภาษณ์ในครั้งนั้น อีกครั้ง.