วิมานร้อยล้าน วิกรานต์ ศุภมงคล “บ้านเป็นที่พักใจ”

วิมานร้อยล้าน วิกรานต์ ศุภมงคล “บ้านเป็นที่พักใจ”

 

 

 


เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง • ภาพ : ชวรินทร์ เผงสวัสดิ์
แต่งหน้า : วิโรจน์ ชมแค • ทำผม : วรพงษ์ พลเวียงคำ
 
 
วิมานร้อยล้าน
วิกรานต์ ศุภมงคล “บ้านเป็นที่พักใจ”
 
 
เปิดบ้านทายาทนักธุรกิจพันล้าน ผสมผสานการตกแต่งในสไตล์โคโลเนียลสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มองว่าบ้านคือที่พักใจไม่ว่าสุขหรือทุกข์ พร้อมพาชมบ่อปลาคาร์ปตัวละแสน และบริจาคที่ดิน 800 ไร่ สร้างอุทยานพุทธศิลปธำรงธรรม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
 
วิกรานต์ ศุภมงคล อายุ 35 ปี อดีตผู้สมัคร ส.ส. ในฐานะหลานชาย กันตธีร์ ศุภมงคล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นิตยสาร เชนจ์ อินทู จึงอาสาพามาเปิดบ้านย่านพระราม 2 เพื่อให้เจ้าของบ้านเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตและหลักคิดในการบริหารคน
 
 
//ชอบสไตล์โคโลเนียล
บ้านหลังนี้มีอายุกว่า 20 ปี ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1 ไร่เศษ ต่อมาคุณพ่อคุณแม่ได้ซื้อที่ดินที่อยู่ติดกัน และได้สร้างบ้านอีกหนึ่งหลังขึ้นมา ซึ่งเป็นบ้านที่คุณวิกรานต์ได้อาศัยอยู่จนถึงปัจจุบัน
 
“ช่วงหลังๆ สุขภาพคุณพ่อไม่ค่อยดี ก็เลยย้ายไปอยู่ที่เชียงราย แล้วสร้างบ้านติดลำธารเพื่อต้องการบรรยากาศที่ดี เพราะคุณพ่อ (ธนวัฒน์ ศุภมงคล) ได้ไปรักษาเรื่องหัวใจ จะให้อยู่ที่กรุงเทพฯ อากาศเป็นแบบนี้คงไม่ไหว เดินทางจากบ้านย่านพระราม 2 ไปโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ก็ต้องใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง บนทางด่วนรถติดมาก ทุกวันนี้ผมเลยอยู่บ้านคนเดียว (หัวเราะ)
 
“พอเรียนจบจากเมืองนอกกลับมาผมเลยได้อยู่บ้านทั้งสองหลัง (หัวเราะ) บ้านหลังนี้ไม่สามารถบอกสไตล์ได้ชัดเจน แต่ผมพยายามตกแต่งให้เป็นสไตล์โคโลเนียล สมัยรัชกาลที่ 5 เพราะบ้านหลังที่สองจะมีฉลุลวดลายแบบลายกนกบ้าง คือผมเป็นคนไม่ทันสมัย (หัวเราะ) ชอบอะไรที่คลาสสิก ขนาดรถที่ใช้ก็เป็นรถคลาสสิก ไม่ชอบอะไรที่ทันสมัยมาก ซึ่งมันมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ผมเลยไม่ค่อยชอบ”
 
 
//เสน่ห์ของไม้สัก
ในส่วนของการออกแบบบ้านทั้งสองหลังก็ได้สถาปนิกเป็นคนเดียวกัน แต่ละส่วนก็จะมีการตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้สักบิวด์อินภายในทั้งหมด “โต๊ะอาหารตรงนี้ก็นำมาทำในบ้าน จะเอาออกไม่ได้แล้ว เพราะเป็นไม้ท่อนเดียว เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นก็ทำในบ้านทั้งหมด ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ตอนนี้บ้านหลังที่สองอยู่ระหว่างตกแต่งใหม่เพื่อให้เป็นสไตล์ที่เก่ากว่านี้อีก (หัวเราะ) สาเหตุที่ชอบสไตล์คลาสสิก เพราะเป็นอะไรที่อยู่ได้นานมากจริงๆ
 
“ถ้าเราไปซื้อเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงๆ ที่มีดีไซเนอร์ออกแบบดังๆ มันสู้งานเฟอร์นิเจอร์ไม้ไม่ได้เลย แล้วฝีมือคนไทยแกะสลักเก่ง ผมมีความรู้สึกว่าไม้สักเหล่านี้อยู่ได้นานเป็นร้อยๆ ปี ดีกว่าไปเอาเฟอร์นิเจอร์ที่นำเข้ามา เป็นของนอก ผมเลยไม่ชอบ และบ้านหลังนี้ไม่ค่อยได้ต้อนรับแขกสักเท่าไหร่
 
“ถัดไปเป็นมุมโปรดของผมเลย คือ ห้องนั่งดูโทรทัศน์ และ ห้องกินข้าว เพราะผมชอบทำอาหาร ตอนเรียนที่ซิดนีย์ไปเรียนทำอาหารที่ เลอ กอร์ดอง เบลอ พอกลับมาเมืองไทยอยากทำอาหารก็ไปเรียน เลอ กอร์ดอง เบลอ ที่ดุสิตอีก ในช่วงกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 27 ปี 2000 ตอนที่อยู่ซิดนีย์ได้ช่วยงาน ททท. แล้วยังต้องทำอาหารให้ผู้ใหญ่รับประทานด้วย มีผู้ใหญ่หลายคนมาชิมแล้วบอกว่าโอเค (หัวเราะ) หม่อมถนัดศรี (ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์) ชิมแล้วถามว่าทำเองเหรอ ผมทำอาหารฝรั่งได้ แต่ใครที่มาอยู่เมืองนอกจะรู้เลยว่าอาหารไทยเป็นเหมือนสวรรค์เลย
 
“ผมเป็นลูกคนเดียว พี่น้องคุณพ่อส่วนใหญ่จะมีลูกคนเดียว อย่างน้ากันต์ก็เพิ่งมีลูกสาวคนเดียวอีก ถามว่าเหงาไหม คงต้องบอกว่ามันชินแล้ว (หัวเราะ) ถามความรู้สึกที่ผมมีต่อบ้าน บ้านเป็นที่แรกและที่สุดท้ายที่เรามีปัญหาหรือมีความสุขอย่างไรเราก็อยากอยู่ที่บ้าน แม้ว่าผมจะเหนื่อยจากงาน แต่ก็ไม่ค่อยออกไปข้างนอก ผมจะกลับบ้านมาอยู่กับครอบครัว บ้านเลยเป็นที่พักผ่อนทางใจของผม”
 
 
//ปลาคาร์ปตัวละแสน
จากนั้นเจ้าของบ้านพาเดินชมบริเวณสวนรอบๆ เนื่องจากเป็นคนชอบธรรมชาติ จึงลงแรงปลูกต้นไม้ เป็นการลงทุนที่ผลกำไรไม่ได้เป็นเงิน แต่เป็นสภาพแวดล้อมที่หาซื้อไม่ได้ “ผมเป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์ และผมคิดว่า ไม่ว่าใครจะเลี้ยงสัตว์ชนิดไหนมาก็ตาม แต่สุดท้ายก็มาจบที่การเลี้ยงปลาคาร์ป (หัวเราะ) เพราะเป็นที่สุดของปลา ที่สุดของสัตว์น้ำ พอมันเกิดก็มีลวดลายบนตัวไม่เหมือนกัน ถ้าได้ศึกษาจากญี่ปุ่นจะพบว่าปลาคาร์ปเป็นสัตว์ที่เอาไว้กิน ตอนแรกเป็นสีดำๆ เลย แล้วนำมาผสมกับปลาอีกชนิดหนึ่งจึงเกิดลวดลายเพิ่มขึ้น ที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากจนมีมหาวิทยาลัยวิจัยปลาคาร์ปโดยเฉพาะ ผมลองเลี้ยงดูเลยติดใจ สร้างบ่อบริเวณสวนหน้าบ้านแล้วนำเข้าปลาคาร์ปจากญี่ปุ่นมาตัวละแสน ตอนนี้มีอยู่ 34 ตัว
 
“ผมยังมีปลาคาร์ปที่ซื้อไว้ที่ญี่ปุ่นแล้วฝากเลี้ยงเอาไว้ด้วยอีก 4 ตัว ส่งประกวดที่ญี่ปุ่น โดยกฎของประเทศญี่ปุ่นเขาจะไม่ให้เอาปลาที่นำเข้ามาประกวด เพราะกลัวเรื่องเชื้อโรค ตรงนี้เขากลัวว่าเราจะเอามาผสมกับพันธุ์ไทยแล้วเอาไปประกวด ผมฝากเลี้ยง พอ 6 เดือนก็บินไปดู ปลาคาร์ปที่ญี่ปุ่นตัวเป็นแสนบาท เปรียบกับเมืองไทยไม่ได้ ขนาดน้ำยังไม่เหมือนกัน ที่ญี่ปุ่นน้ำไหลมาจากหิมะบนภูเขา ค่าน้ำที่ญี่ปุ่นแพงมาก แต่ของเมืองไทยแพงที่สุดก็ว่าได้ ตอนนี้ผมเลิกประกวดปลาคาร์ปในเมืองไทย เพราะผมรักปลามากเกินไป เราอุ้มปลาไปเจอน้ำบาดาลที่ไม่ได้ปรับสภาพ ได้ที่หนึ่งรับถ้วยรางวัลกลับบ้าน แต่ปลาเราตาย (หัวเราะ) ผมเลยไม่ส่งประกวดอีก ผมรักพวกมันจริงๆ ปลาคาร์ปน่าจะเป็นสิ่งที่สวยที่สุดในน้ำเลยก็ว่าได้
 
“สำหรับข้อคิดที่ผมได้จากสังคมคนเลี้ยงปลาคาร์ป คือ ไม่ว่าคุณจะยิ่งใหญ่มาจากไหน เขาจะลืมกำแพงตรงนั้นหมดเลย ระหว่างเรา มีจุดตรงกลางเป็นปลาคาร์ป ผมเคยคุยกับผู้ใหญ่หลายท่าน ยังไม่รู้เลยว่าเขาทำงานหน้าที่อะไร คุยแต่เรื่องปลา พอมารู้ตอนหลังถึงได้รู้ว่าคนนี้ใหญ่ คนนั้นก็ใหญ่ แต่ไม่มีใครคุยเรื่องนั้นเลย ดังนั้น การเลี้ยงปลาคาร์ปเหมือนเป็นของสะสมที่ให้คุณค่าทางใจมากกว่า”
 
 
//ว่าที่ ดร.
คุณวิกรานต์จบจากโรงเรียนสวนกุหลาบ และอัสสัมชัญคอมเมิร์ส จากนั้นไปเรียนต่อปริญญาตรี ปริญญาโทบริหารธุรกิจ ด้านการจัดการ จาก Central Queensland University ประเทศออสเตรเลีย ขณะนี้กำลังจะจบปริญญาเอก “ผมเรียนอยู่ที่นั่น 7 ปี พอดีเรียนปริญญาเอกได้ประมาณปีครึ่ง เหลือ Thesis อีกชิ้นเดียว และเหลือเวลาเรียนอีก 6 เดือนก็จบแล้ว พอดีคุณพ่อป่วยเลยต้องกลับมาดูแลท่านอยู่ 2 ปี วันนี้ได้กลับไปเรียนอีกครั้งคิดว่าคงจะจบและได้รับปริญญาเอกภายในปีนี้ แต่สมัยที่ไปเรียนอยู่ที่ซิดนีย์ผมทำงานด้านสื่อสารมวลชนเหมือนกัน พอดีเจอพี่ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังเปิด Thai TV Global Network (TGN) และเขายังไม่มีคนทำภาคสนามที่นิวเซาท์เวลส์์
 
“ตอนนั้นผมไปช่วย ททท. ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์เมืองไทยให้กับชาวต่างชาติ พอเห็นว่าผมทำได้เขาเลยให้ผมทำภาคสนาม โดยมีทีมงานอยู่ 4-5 คน อัดรายการเสร็จก็ส่งเทปมาที่เมืองไทย สามารถดูได้ร้อยกว่าประเทศ ผมหาสปอนเซอร์เองด้วย ทำตรงนี้อยู่ 5-6 ปี แต่ก่อนหน้าที่จะมาทำงานกับทาง ททท. ผมได้ไปทำงานกับเอเยนซีของไต้หวัน เพราะผมพูดภาษาจีนได้นิดหน่อย เพราะทางผู้ใหญ่ของ ททท. เรียกให้ไปช่วยงาน” นอกจากนี้คุณวิกรานต์ยังทำหนังสือพิมพ์แจกฟรีตามสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ชื่อหนังสือพิมพ์ไทยทาวน์ และทำหนังสือพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษแจกฟรีตามมหาวิทยาลัยอีกด้วย
 
//พ่อสอน “ไม่ให้เอาเปรียบและไม่โกง”
คุณวิกรานต์เริ่มทำงานด้านการเงินการลงทุน และสานต่อธุรกิจครอบครัว อาทิ good time edition co.ltd., TNT ASIA LIMITED-Hong kong Companies, Twenty three jewelry และ Metrich Developments Limited “ที่บ้านมีธุรกิจโรงงานอะลูมิเนียม แล้วก็ยังมีการเปิดบริษัทที่ฮ่องกง 24 ปี และนำเข้าอะลูมิเนียมเพื่อส่งให้โรงงาน ตรงนี้ผมก็ยังดูแลอยู่ จากนั้นผมสนิทกับเพื่อนคนหนึ่งที่มีโรงสีข้าว ก็เลยเอาข้าวของเพื่อนคนนี้ส่งออก ถือว่าโชคดีที่รู้จักผู้ใหญ่สมัยอยู่ต่างประเทศ ครอบครัวก็รู้จักทูตไทยในประเทศต่างๆ แล้วน้ากันต์ก็เคยเป็นผู้แทนการค้าด้วย ทำให้เรารู้ว่าประเทศไหนบ้างที่ต้องการข้าว ผมส่งออกข้าวมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว
 
“การบริหารงานที่ผ่านมาคุณพ่อจะคอยแนะว่า ทำงานยังไงก็ได้ไม่ให้เอาเปรียบและไม่โกง ดังนั้น คุณพ่อมีเงินให้ แต่บารมีเราต้องสร้างเอง ลูกน้องแต่ละคนก็เป็นลูกน้องคุณพ่อที่อายุมากกว่าผมทุกคน ทำให้ผมต้องเป็นคนนอบน้อม ซื่อตรง ผมว่าตรงนี้มันกินได้นานและอยู่ได้นาน การบริหารงานที่โรงงานผมจะใส่เสื้อผ้าธรรมดามากๆ ไม่ถือตัว สิ่งสำคัญเราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่เคยรังเกียจลูกน้อง แถมยังนั่งกินข้าวกับพวกเขาจนเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเข้ามาบริหารงานที่ร้านจิวเวลรีเราก็ต้องมีภาพลักษณ์อีกแบบหนึ่ง พระเดชพระคุณต้องมี อะไรผิดก็ว่าไปตามผิด แต่ผมเป็นคนชอบให้โอกาสมาตลอด”
 
เรียกได้ว่าธุรกิจของครอบครัว เป็นการปูพื้นให้นำความรู้มาใช้ในชีวิตจริง ก่อนที่จะกระโดดเข้าสู่เวทีเลือกตั้ง เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. เบอร์ 17 เขต 2 (สาทร บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย และวัฒนา) พรรคพลังประชาชน “ตอนนั้นผมเพิ่งอายุ 25 ปีพอดี แล้วน้ากันต์ติดบ้านเลขที่ 111 ผมเลยลงสมัครแทน แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัย คุณสมัคร สุนทรเวช”
 
นอกจากนี้เขายังมีประสบการณ์ทางการเมืองอีกมากมาย อาทิ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย, รองโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอนุกรรมการการเงิน อสมท
 
 
//บริจาคที่ดิน 800 ไร่ เพื่อศาสนา
นอกจากนี้ คุณวิกรานต์ยังเป็นประธานกรรมการบริหารที่ปรึกษา ฝ่ายบริหารโครงการพุทธศิลปธำรงธรรมเทิดไท้องค์ราชัน เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงได้จัดสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิ สูง 5.5 เมตร หน้าตัก 2.5 เมตร ฐานกว้าง 4.5 เมตร องค์พระศิลาขาวบริสุทธิ์ พระพักตร์สวยวิมุตติสุขเวลากลางวัน และสว่างเรืองแสงในยามราตรี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ อุทยานพุทธศิลปธำรงธรรม บนพื้นที่ 800 ไร่ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี
 
“ผมตั้งใจทำให้เป็นสถานที่ของพระพุทธศาสนาด้วย แล้วให้เป็นพระประจำตระกูล เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งใจที่จะทำให้ได้ 9,999 องค์ ตอนนี้มีใบจองแล้ว 1,200 องค์ เราเลยได้ช่างจากเมืองจีนที่เก่งมาทำงานร่วมกับคนไทย”
ในฐานะทายาทพันล้าน วิกรานต์ ศุภมงคล ที่สร้างความยิ่งใหญ่ของโครงการพุทธศิลปธำรงธรรมเทิดไท้องค์ราชัน ให้กับพระพุทธศาสนาบนแผ่นดินไทยครั้งนี้ น่าจะเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
 
 
//
พุทธศาสนิกชนสามารถสมทบทุนร่วมสร้างตามกำลังศรัทธา หรือต้องการให้เป็นพระพุทธรูปประจำตระกูล
สอบถามได้ที่ โครงการพุทธศิลปธำรงธรรม 388 เขาช้าง หมู่ 11 บ้านวังไพลิน ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี โทร. 0-2934-4194, 08-1240-3388, 08-1988-7902 และ 08-7099-9191