หลักคิดในการใช้เงินก้อนใหญ่

หลักคิดในการใช้เงินก้อนใหญ่

 

 

  

 

 

 

 

 

 

CHANGE Your Money
ขวัญชนก วุฒิกุล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ผู้ดำเนินรายการ "รายการเงินทองต้องรู้" ออกอากาศทางวิทยุ smartbomb FM 90.5

 

หลักคิดในการใช้เงินก้อนใหญ่

 

ก็ว่าจะไม่เขียนเรื่องนี้ ถ้าไม่บังเอิญไปอ่านบทความเรื่องการซื้อรถยนต์แล้วนำไปเปรียบเทียบกับการลงทุนว่า ‘คุ้มหรือไม่คุ้ม’ และถ้าไม่บังเอิญว่า ตัวเองก็เพิ่งซื้อรถยนต์คันใหม่

เล่าให้ฟังก่อนว่า รถยนต์ที่ซื้อใหม่เมื่อไม่นานมานี้ ดิฉันใช้ “งบประมาณเกินกว่าที่ตั้งใจไว้” เพราะตอนแรกตั้งใจจะซื้อรถญี่ปุ่น แต่สุดท้ายมีเหตุให้เลือกซื้อรถยุโรปแทน

ถึงแพงกว่ากันไม่มาก แต่ก็แพงกว่าค่ะ ส่วนจะยี่ห้อไหน รุ่นไหน ราคาเท่าไหร่ อย่าไปสนใจค่ะ ไม่ใช่ประเด็น

ประเด็นคือ หลังจากตัดสินใจ “ซื้อ” ด้วยการวางเงินดาวน์ 25% ของราคารถ และผ่อนชำระกับลิสซิ่งเป็นเวลา 48 เดือน ดิฉันกลับมานั่งคิดทบทวนอย่างหนักตามประสาคนขี้แคร์ “รู้ไว้ ใส่ใจเงิน” ว่า “เราทำเกินกว่าเหตุหรือไม่” หรือ “กินใช้เกินฐานะหรือเปล่า”


ทบทวนตัวเองแล้วพบว่า รถคันเก่าที่ดิฉันใช้งานอยู่นั้น เราใช้งานมา 18 ปีเต็มแล้วค่ะ ซึ่งถ้าพิจารณาในแง่ของสินทรัพย์ ก็ถือว่า ถึงเวลาอันเหมาะควรกับการเปลี่ยนแปลงแล้ว อันนี้เป็นเรื่องสมควรประการที่หนึ่ง ส่วนประการถัดไป คือ เงินดาวน์ 25% ของราคารถนั้น ดิฉันเก็บไว้ในรูปแบบของการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นค่ะ ไม่ได้เป็นเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อกลับไปพิจารณาผลตอบแทนจากการลงทุนที่เราลงทุนตั้งแต่ดัชนีราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 800 จุดบ้าง 1,000 จุดบ้างหรือ 1,200 จุดบ้าง ผ่านมาถึงวันนี้ที่ดัชนีราคาหุ้นอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับ 1,800 จุด การลงทุนอย่างมีวินัยตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็น่าจะเพียงพอที่ทำประโยชน์ให้กับเราบ้าง

ประการที่สาม เป็นเรื่องของเงื่อนไข ทั้งอัตราดอกเบี้ยในการผ่อนชำระ ซึ่งอยู่ที่ 0% ดังนั้น การเป็นหนี้ซื้อรถในช่วง 48 เดือนหรือ 4 ปีนับจากนี้ ดิฉันก็ไม่ต้องมีภาระดอกเบี้ยมาคิดให้วุ่นวาย นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขฟรีค่าซ่อมบำรุงรักษาตลอด 5 ปี ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้จากการทำมาหากินที่พอกพูนขึ้นในช่วง 18 ปีที่เราปลอดหนี้ซื้อรถ ก็ถือว่า เราก็ควรจะมีความสามารถในการผ่อนชำระได้

และประการสุดท้ายที่ดิฉันวิตกมากที่สุด คือ การก่อหนี้ครั้งนี้จะกระทบกระเทือนกับ “บัญชีเงินสำรองฉุกเฉิน” หรือไม่ เมื่อค้นพบว่า ไม่กระทบ ยังสำรองได้ในอัตราส่วนเท่าเดิม และเรายังคงสามารถ “กินใช้” ได้ตามฐานานุรูป ไม่ได้ “ใช้มากเกินไป” จนกระทบชีวิตประจำวัน ดิฉันก็คลายกังวลไปได้มาก แต่ก็ยังต้องเตือนตัวเองว่า เรามี “หนี้” ที่ถือว่าเป็น “ภาระ” อย่างหนึ่งเพิ่มขึ้นมา

จะกิน จะใช้ จะเก็บ จะวางแผน ก็ต้องไม่ลืมนึกถึง “หนี้ก้อนนี้”

ดังนั้น หากจะให้สรุปจากทุกอย่างที่เขียนมา ก็ต้องบอกว่า หลักคิดในการซื้อรถหรือแม้กระทั่งการใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ๆ ของดิฉัน ประกอบด้วย

หนึ่ง พิจารณาว่า มันจำเป็นสำหรับเราหรือไม่

สอง พิจารณาว่า เรามีความสามารถทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินดาวน์หรือเงินผ่อนต่องวดหรือไม่

สาม พิจารณาว่า เงื่อนไขที่เราได้รับจากผู้ขายนั้น คุ้มค่าและน่าพอใจสำหรับเราหรือไม่

และสี่ พิจารณาว่า เมื่อซื้อแล้ว เป็นภาระหรือกระทบกับเงินสำรองฉุกเฉิน หรือกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของเราหรือไม่

ที่เขียนมาทั้งหมด เพื่อจะบอกว่า การซื้อรถเป็นเรื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตค่ะ และคนที่ซื้อรถต่างก็รู้ดีว่า รถไม่เหมือนกับบ้าน เพราะ “รถ” มีค่าเสื่อม ยิ่งใช้ ยิ่งสึกหรอต้องซ่อมบำรุง นานปีมีแต่ราคาจะลดลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น “รถ” ไม่ใช่สินทรัพย์เพื่อการลงทุน จะเอามาเปรียบเทียบว่า เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าไม่ได้

ขณะที่บ้าน (โดยเฉพาะที่มาพร้อมที่ดิน) แม้ว่า บ้านจะโทรมและต้องซ่อมบำรุงไม่ต่างจากรถ แต่ที่ดินนับว่ามีแต่จะราคาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในทำเลที่สิ่งอำนวยความสะดวก ถนน รถไฟฟ้า หรือห้างสรรพสินค้าเข้าไปถึง

หลายครั้งดิฉันจึงไม่เข้าใจหลักคิดว่า เราแยกไม่ออกหรือว่า อะไรคือการลงทุน และอะไรไม่ใช่

หรือหลายครั้งที่ดิฉันสงสัยว่า เรากำลังล้ำขอบของคำว่า “ลงทุน” หรือ “เก็บออม” ไปอย่างบ้าดีเดือด เช่น ต้องมานั่งคิดว่า ขับรถเสียเวลาเท่านั้น ค่าน้ำมันเท่านี้ ค่าซ่อมบำรุงเท่าโน้น เทียบกับนั่งรถเมล์ประหยัดกว่า หรือแม้กระทั่งมานั่งเทียบว่า ค่ากาแฟวันละเท่าไหร่ ถ้าไม่กิน ประหยัดได้วันละเท่านี้บาท เดือนละเท่านี้บาท ปีละเท่านี้บาท

และถ้าเอาเงินที่ประหยัดได้พวกนี้ไปลงทุน เราจะได้ผลตอบแทนปีละเท่านี้ เท่านั้น เท่าโน้น

ถามคำเดียวว่า เราจะมีชีวิตอยู่อย่างเบียดเบียนตัวเอง ยอมลำบาก ละทิ้งความสะดวกสบายที่พึงมีในบางครั้ง หรือละทิ้งความสุขจากกลิ่นกาแฟที่มันอาจจะเป็นความสุขเดียวในชีวิตของเรา โดยเฉพาะในเวลาที่เรานั่งทอดสายตามองผู้คนที่เดินขวักไขว่ไปมา

เราจะมีชีวิตแบบนั้นไปเพื่ออะไร ?