จับจังหวะก้าวทางการเงิน

จับจังหวะก้าวทางการเงิน

 

 

 

Change your Money

ขวัญชนก วุฒิกุล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ผู้ดำเนินรายการ "รายการเงินทองต้องรู้" ออกอากาศทางวิทยุเนชั่น FM 90.5 

 

 

จับจังหวะก้าวทางการเงิน

 

มีรายงานวิจัยเรื่องการลงทุนในแต่ละช่วงอายุ เพื่อนำไปสู่การเกษียณอย่างมีคุณภาพ จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในชีวิตของคนเรา จะประกอบด้วยช่วงชีวิตหลักๆ อยู่ 3 ระยะ คือ ช่วงที่ 1 ระยะสะสม เป็นช่วงระยะเริ่มต้นการทำงานหลังจากจบการศึกษา โดยมากจะอยู่ในช่วงอายุ 20-25 ปี เป็นช่วงที่มีรายรับค่อนข้างจำกัด เงินออมน้อย แนวโน้มการเป็นหนี้สูง เพราะคนที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ เพิ่งมีรายได้เป็นของตัวเอง มักจะอยากได้โน่นอยากได้นี่ เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง รายได้ในแต่ละเดือนจึงไม่เหลือพอจะเก็บออม

ช่วงที่ 2 ระยะมั่นคง เป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่วัยกลางคน หรือช่วงอายุประมาณ 30-40 ปี ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เริ่มมีความมั่งคั่ง รายได้เริ่มมากกว่ารายจ่าย มีทรัพย์สินในระดับหนึ่งและเป็นช่วงที่ริเริ่มสร้างครอบครัว โดยในระยะนี้เป็นช่วงที่จะหารายได้ได้ในปริมาณมาก เนื่องจากยังมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างน้อย ประกอบกับอายุยังน้อย ทำให้สุขภาพแข็งแรง และความรับผิดชอบต่างๆ ยังไม่มากนัก จึงควรเป็นวัยที่เริ่มสะสมเงิน และเรียนรู้วิธีจัดสรรเงินออมให้งอกเงย

และช่วงที่ 3 ระยะอุทิศ เป็นช่วงที่อยู่ในช่วงวัยก่อนเกษียณอายุถึงวัยเกษียณอายุ ประมาณ 55-60 ปี ซึ่งส่วนมากมักจะมีฐานะทางการเงินมั่งคงสำหรับตนเองมาในระดับหนึ่งแล้ว จึงมักจะเก็บเงินเพื่อให้มีชีวิตที่ไม่ลำบากในช่วงบั้นปลายของชีวิต

การแบ่งชีวิตออกเป็น 3 ช่วง นอกจากจะบ่งบอกพฤติกรรมทางการเงินที่เหมาะสมของแต่ละวัยแล้ว ยังสามารถเป็นกระจกสะท้อนให้เรามองชีวิตตัวเองว่า วันนี้เราอยู่ในช่วงใดของทั้ง 3 ช่วง และจังหวะก้าวทางการเงินของเราสอดคล้องตามทฤษฎีหรือไม่ เรามีพัฒนาการเร็วกว่าหรือช้ากว่าอย่างไร และควรจะแก้ไขอย่างไร

เช่น หากเราเป็นคนในระยะแรก เป็นหนุ่มสาววัยเพิ่งเริ่มทำงาน แต่เรามีเหลือเก็บ เหลือออม ก็ต้องถือว่าดีกว่ามาตรฐาน การเดินทางสู่วัยเกษียณอย่างมีความสุขค่อนข้างสดใส แต่หากเราเป็นคนในระยะที่ 2 แต่ยังมีหนี้มาก มีรายได้ที่ไม่มั่นคง ก็ต้องพยายามออกแรงให้มากกว่านี้

            ผลการวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังสรุปไว้ในตอนท้ายด้วยว่า หากเริ่มลงทุนเร็ว จะทำให้มีอัตราความสำเร็จในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสามารถที่จะมีเงินเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณยาวนานขึ้น โดยที่อัตราการลงทุนไม่สูงมากจนเกินไป แต่หากเริ่มลงทุนช้า หรือเริ่มลงทุนเมื่อใกล้ถึงวัยเกษียณแล้ว โอกาสที่ผู้ลงทุนจะประสบความสำเร็จก็จะเหลือน้อยลงเนื่องจากจะเหลือระยะเวลาในการลงทุนน้อยลง