ให้ภูมิคุ้มกันร่างกาย ต่อสู้กับมะเร็ง
แนวทางใหม่ในการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด
ภาพแรกที่คุณเห็นเมื่อนึกถึงคำว่า “มะเร็ง” คืออะไร ความเจ็บปวด ความทรมาน หรือความตาย
ในแต่ละปีมะเร็งเป็นโรคที่พรากชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกปี 2561 รายงานว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งกว่า 9.6 ล้านราย ขยับเข้ามาใกล้ตัวอีกนิด ในประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 มีผู้เสียชีวิต 78,540 คนต่อปี มีผู้ป่วยรายใหม่ 122,757 คน และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรคมะเร็งไม่ได้มีผลกระทบต่อผู้ป่วยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งกระทบถึงครอบครัวและสังคมรอบข้าง ทั้งในแง่ของร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์ ไปจนถึงส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต
ด้วยเหตุนี้ ทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์จึงมีการพยายามหาทางต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างสุดความสามารถ แต่หลายครั้งที่ผลลัพธ์ในการรักษา ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยว่าเป็นมะเร็งรักษาไม่ได้ รักษาไม่หาย เป็นมะเร็งเท่ากับตาย
แต่ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น
ด้วยความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และความมุ่งมั่นในการค้นคว้าวิจัยหาวิธีรักษาโรคมะเร็งแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการค้นพบวิธีการรักษาโรคมะเร็งแนวทางใหม่ที่เรียกว่า “ภูมิคุ้มกันบำบัด”
รองศาสตราจารย์นายแพทย์เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าสาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า “ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotherapy คือการใช้ภูมิคุ้มกันของร่างกายมาเป็นหน่วยรบต่อสู้กับโรคมะเร็ง โดยปกติร่างกายของเรามีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่หลักในการสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งทำหน้าที่จัดการสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่หลักในการสร้างภูมิคุ้มกันมะเร็งเรียกว่าเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ ส่วนเซลล์มะเร็งคือเซลล์ที่มีการกลายพันธุ์และถือเป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกายเช่นกัน แต่เซลล์มะเร็งมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งในที่สุด ต่อมามีการค้นพบกลไกที่เซลล์มะเร็งใช้หลบภูมิคุ้มกัน จึงทำให้สามารถหาวิธีนำภูมิคุ้มกันมาใช้เป็นแนวทางใหม่ในการรักษาโรคมะเร็งได้”
สิ่งที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบำบัดต่างจากการรักษามะเร็งชนิดอื่นๆ คือ ภูมิคุ้มกันบำบัดไม่ได้ทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง แต่กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้ไปทำลายเซลล์มะเร็งอีกที ในขณะที่การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือยามุ่งเป้ามีผลทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรงเป็นหลัก ภูมิคุ้มกันบำบัดมีหลักๆ 3 ชนิด คือ แอนติบอดี เซลล์รักษา และวัคซีนรักษามะเร็ง แต่ในที่นี้จะขอพูดถึงภูมิคุ้มกันบำบัดชนิดแอนติบอดีที่ยับยั้งเช็คพอยต์ หรือ Checkpoint Inhibitor
เช็คพอยต์คืออะไร
เช็คพอยต์เป็นกลไกปกติของเซลล์ร่างกาย มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป เช็คพอยต์ที่อยู่บนผิวเซลล์มะเร็งและเซลล์เม็ดเลือดขาวจะคอยจับกัน ทำหน้าที่เปรียบเสมือนแม่กุญแจและลูกกุญแจที่จะล็อกไม่ให้เม็ดเลือดขาวเข้าทำลายเซลล์มะเร็งได้ ยายับยั้งเช็คพอยต์ซึ่งเป็นยากลุ่มแอนติบอดีจะทำหน้าที่คอยกันไม่ให้แม่กุญแจและลูกกุญแจจับกัน และเปิดโอกาสให้เม็ดเลือดขาวเข้ากำจัดเซลล์มะเร็ง ยายั้บยั้งเช็คพอยต์ที่มีใช้ในประเทศไทย ได้แก่ ยายับยั้งซีทีแอลเอโฟร์ (CTLA-4), ยายับยั้งพีดี วัน (PD-1) และ ยาที่ยับยั้งพีดีแอล วัน (PD-L1)
ยายับยั้งเช็คพอยต์มีงานวิจัยประสิทธิภาพและได้รับการรับรองให้ใช้รักษามะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งเต้านมชนิดทริปเปิลเนกาทีฟ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยายับยั้งเช็คพอยต์ไม่สามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิด เพราะข้อบ่งชี้ในการรักษาของมะเร็งแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับระยะของโรค และลักษณะของโรค ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้
การใช้ยายับยั้งเช็คพอยต์อาจมีผลข้างเคียงได้เช่นกัน โดยอาจเกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะจากการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน อวัยวะที่มักพบการอักเสบ ได้แก่ ผิวหนัง อาจมีอาการเป็นผื่นหรือคัน ลำไส้ มีอาการถ่ายท้อง ปวดท้อง ปอด มีอาการเหนื่อย ไอ ตับ มีค่าเลือดผิดปกติ ตัวเหลืองตาเหลือง และระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมใต้สมอง และต่อมไทรอยด์ มีอาการฮอร์โมนขาดหรือเกินผิดปกติ แต่อาการส่วนมากจะอยู่ในระดับเบาถึงปานกลาง และสามารถแก้ไขได้ อาการอักเสบเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ อาจจะเป็นตอนเริ่มให้ยา หรือหลังจากหยุดยาไปแล้ว แต่ส่วนมากจะเกิดภายในหนึ่งสัปดาห์ถึง 2-3 เดือนแรก สำหรับการรักษาอาการข้างเคียง สามารถแบ่งได้ 3 ระดับตามความรุนแรงของอาการ ในผู้ป่วยที่อาการข้างเคียงมีความรุนแรงอยู่ในระดับ 1 (ระดับเบา) หรือระดับ 2 (ระดับกลาง) ส่วนมากจะใช้วิธีรักษาตามอาการ และไม่จำเป็นต้องหยุดยายับยั้งเช็คพอยต์ ผู้ป่วยที่อาการข้างเคียงมีความรุนแรงอยู่ในระดับ 2 ที่มีอาการต่อเนื่อง อาจจำเป็นต้องหยุดยาและรักษาตามอาการจนกว่าจะดีขึ้น ส่วนการรักษาในระดับสุดท้าย เป็นการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของอาการข้างเคียงในระดับ 3 (ระดับรุนแรง) หรือระดับ 4 (ระดับรุนแรงมาก) โดยจะต้องหยุดการใช้ยาทันที และอาจจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาร่วมประเมินการรักษา ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์แบบกินหรือแบบฉีด หรือยากดภูมิคุ้มกันในการรักษาอาการข้างเคียงชั่วคราว
การรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดจึงเป็นตัวเลือกในการรักษาโรคมะเร็งแนวทางใหม่ที่น่าสนใจ เป็นการนำสิ่งที่มีอยู่ในร่างกายของเรามาสู้กับโรค นำจุดแข็งของภูมิคุ้มกันในการทำลายเซลล์มะเร็งได้โดยตรงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และอาจเป็นความหวังครั้งใหม่ของผู้ป่วยโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งเป็นโรคที่มีอาการและลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แม้แต่มะเร็งชนิดเดียวกัน ยังมีรายละเอียดในการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อค้นหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด เพื่อหาทางเอาชนะโรคร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ