บี.กริม เฉลิมฉลองครบรอบ 140 ปี จัดนิทรรศการ “ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 10 – 20 มิถุนายน 2561

บี.กริม เฉลิมฉลองครบรอบ 140 ปี จัดนิทรรศการ “ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 10 – 20 มิถุนายน 2561

 

 

  

 

 

 

 

 

บี.กริม เฉลิมฉลองครบรอบ 140 ปี จัดนิทรรศการ
“ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม”
ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 10 – 20 มิถุนายน 2561

 

• ชมหลักฐานประวัติศาสตร์การสื่อสารทางไปรษณีย์ที่สมบูรณ์ที่สุด อายุเก่าแก่กว่า 100 ปี
• ชมผลงานจาก 15 ศิลปินไทยร่วมสมัย ที่ได้แรงบันดาลใจจากการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารีของ
“ห้างบี.กริม” ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

 

 

บี.กริม ฉลองครบรอบ 140 ปี ในประเทศไทย โดย ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ทายาทรุ่นที่ 4 ในฐานะตระกูลสัญชาติเยอรมันในประเทศไทยที่มีโอกาสได้รับใช้ประเทศและราชวงศ์จักรีเป็นเวลายาวนานถึง 6 รัชสมัย ในวาระครบรอบ 140 ปี บี.กริม จึงได้จัดทำนิทรรศการ ประวัติศาสตร์การสื่อสารทางไปรษณีย์ (Postal History Collection) ระหว่างประเทศไทยและเยอรมัน อันเป็นหลักฐานสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางการทูตมานานกว่า 200 ปี มาจัดแสดง ให้เป็นส่วนหนึ่งในการตอบแทนสังคมไทย ตามเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษในฐานะที่ บี.กริมได้ร่วมทำกิจการรับใช้สังคมมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 140 ปี


ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม จัดงานแถลงข่าว ฉลองวาระครบรอบ 140 ปีของ บี.กริม ด้วยนิทรรศการประวัติศาสตร์และศิลปะครั้งสำคัญ ภายใต้ชื่อ “ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 เวลา 10:30-12:00 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นิทรรศการ “ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม” มีภัณฑารักษ์ คือ คุณโสมสุดา ปี่ยมสัมฤทธิ์ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ “เรื่องเล่าจากการสื่อสารทางไปรษณีย์ ความสัมพันธ์ไทย – เยอรมนี และ 140 ปี บี.กริม” และการจัดแสดงงานศิลปะโดยศิลปินไทยร่วมสมัย 15 ท่าน เพื่อระดมทุนสนับสนุนการดำเนินงานหอศิลปกรุงเทพฯ

• นิทรรศการหลักฐานประวัติศาสตร์การสื่อสารทางไปรษณีย์ที่สมบูรณ์ที่สุด อายุเก่าแก่กว่า 100 ปี


“เรื่องเล่าจากการสื่อสารทางไปรษณีย์ ความสัมพันธ์ไทย – เยอรมนี และ 140 ปี บี.กริม” จัดแสดงหลักฐานประวัติศาสตร์การสื่อสารทางไปรษณีย์ (Postal History) อันทรงคุณค่า อายุกว่า 100 ปี จำนวนกว่า 50 ชิ้นจากทั้งหมด 232 ชิ้น ซึ่งหาดูได้ยากยิ่ง หลักฐานที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้เป็นการสื่อสารทางไปรษณีย์ ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งยังส่งทางเรือ จนถึงรัชกาลที่ 9 โดยแบ่งเป็น 6 หมวดสำคัญ ได้แก่ หลักฐานการสื่อสารของผู้ก่อตั้งบี.กริม หลักฐานการสื่อสารระหว่างสมาชิกตระกูลลิงค์ หลักฐานการสื่อสารทางการทูตระหว่างกงสุลเยอรมนีและสยาม หลักฐานการสื่อสารทางธุรกิจของบี.กริม หลักฐานการสื่อสารของบริษัทเยอรมันที่เข้ามาทำธุรกิจในสยาม และชุดไปรษณียบัตรที่ส่งโดยสมาคมชาวเยอรมันในบางกอก


นิทรรศการครั้งนี้ นับเป็นการจัดแสดงหลักฐานการสื่อสารทางไปรษณีย์ที่สมบูรณ์ที่สุด ที่แสดงความ สัมพันธ์ไทย - เยอรมนี และการดำเนินธุรกิจตลอดเวลา 140 ปีของ บี.กริมในประเทศไทย อาทิ ซองจดหมาย ตราประทับ ตราไปรษณียากร การ์ดไปรษณียบัตร และไปรษณียบัตรรูปภาพ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์แห่งการมีตัวตนอยู่จริงของบุคคลสำคัญ ทั้งยังสะท้อนภาพอดีตและความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การคมนาคม และสภาพสังคมของทั้งสองประเทศอย่างชัดเจน นับเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็ก ๆ ที่ช่วยเติมเรื่องราวให้หน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา 5 รัชสมัยของ บี.กริม เกิดเป็นภาพที่สมบูรณ์ได้ในที่สุด


นักสะสมและภัณฑารักษ์นำหลักฐานเหล่านี้ มาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าสำหรับคนรักประวัติศาสตร์ในนิทรรศการครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ชมสามารถย้อนอดีตไปกับเรื่องราวควาสัมพันธ์ของประเทศเยอรมนีและประเทศไทย พร้อมสอดแทรกเกร็ดความรู้เรื่องการค้าของ บี.กริม “ห้างฝรั่ง” ที่เก่าแก่ที่สุดของไทยที่ดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่องมาถึง 6 รัชกาล ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชกาลปัจจุบัน

• นิทรรศการผลงานจาก 15 ศิลปินไทยร่วมสมัย ที่ได้แรงบันดาลใจจาก
การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารีของ บี.กริม - ‘ห้างฝรั่ง’ ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

นอกจากเกร็ดประวัติศาสตร์ที่มาทางไปรษณีย์แล้ว นิทรรศการครั้งนี้ ยังเป็นการรวมตัวกันครั้งแรกของศิลปินไทยร่วมสมัยถึง 15 ท่าน ได้แก่ พินรี สัณฑ์พิทักษ์, ธวัชชัย พันธุสวัสดิ์, วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร, ดร. คธา แสงแข, กฤช งามสม, อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์, ปานพรรณ ยอดมณี, ดุษฎี ฮันตระกูล, เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์, ชูศักดิ์ ศรีขวัญ, สุรเจต ทองเจือ, ถกล ขาวสอาด, อานนท์ ไพโรจน์, ธิติพร โกธรรม และ ฐิติรัตน์ สกุลตันติเมธา ที่รวมตัวกัน สร้างสรรค์ผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจาก ปรัชญาการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี (Doing business with compassion) อันเป็นแนวคิดที่ บี.กริม ยึดถือมาตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจจวบจนปัจจุบัน ศิลปินทั้ง 15 ท่าน ทำความ เข้าใจและตีความ “วิธีทำธุรกิจแบบ บี.กริม” ห้างฝรั่งที่มีอายุยืนยาวคู่สังคมไทยมานานถึง 140 ปี ก่อนนำเสนอ ผ่านงานศิลปะร่วมสมัย 15 ชิ้น


ผู้ร่วมงานแถลงข่าวทั้ง 8 ท่าน ได้แก่ ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม, คุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที เลขานุการมูลนิธิ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, คุณยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง ผู้แต่งนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ “ฝากไว้ในแผ่นดิน”, คุณโลร็อง มาแลสปีน ผู้ผลิตสารคดี ประวัติศาสตร์ “140 ปี บี.กริม”, คุณกฤชทิพย์ ศิริรัตน์ธำรงค์ นักสะสมหลักฐานประวัติศาสตร์การสื่อสารทางไปรษณีย์, ดร. คธา แสงแข หนึ่งใน 15 ศิลปิน ผู้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานในนิทรรศการ “ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม”, คุณเยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการ WWF ประเทศไทย และ คุณอัจฉรา เตชะไพบูลย์ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิวงดุริยางค์ ซิมโฟนีกรุงเทพ ยังได้บอกเล่า เรื่องราวของ บี.กริมในแง่มุมต่าง ๆ


ในฐานะห้างสัญชาติเยอรมันที่เก่าแก่ที่สุด บี.กริมจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2421 เมื่อ มร. แบร์นฮาร์ด กริม เภสัชกรชาวเยอรมัน และ มร. แอร์วิน มุลเลอร์ พ่อค้าชาวออสเตรียได้เดินทาง มายังประเทศไทยและก่อตั้งร้าน “สยามดิสเป็นซารี่” ด้วยความรู้และความชำนาญในวิชาชีพ บุคคลทั้งสองจึงเป็น ที่รู้จักทั่วไป จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเภสัชกรหลวงแห่งราชสำนักไทยในที่สุด จากร้านสยามดิสเป็นซารี่ บี.กริม ได้ขยายธุรกิจไปหลากหลายสาขา และรับใช้ประเทศไทยมายาวนานถึง 6 รัชสมัย


“ผมมีความภูมิใจที่จะกล่าวว่า ตลอดเวลาของการทำธุรกิจในประเทศไทยมาถึง 140 ปี บี.กริม ไม่เคย ละเลยที่จะเป็น ‘หุ้นส่วนทางสังคม’ เราดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมไทยในทุก ๆ ด้านมาโดยตลอด การจัดนิทรรศการ ‘ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม’ ครั้งนี้ แสดงให้เห็นเจตจำนงอันแน่วแน่ของ บี.กริม ในการสนับสนุนและส่งเสริมงานด้านศิลปวัฒนธรรม มุ่งเน้นให้ บี.กริม เป็นส่วนหนึ่งของพลังงานในการขับเคลื่อนศิลปะร่วมสมัย ที่สามารถสานต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่วิสัยทัศน์เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต” ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานบี.กริม กล่าว


ในฐานะเลขานุการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ร่วมแสดง ความยินดีและขอบคุณในน้ำใจของ บี.กริม เพราะการจัดนิทรรศการครั้งนี้เป็นการสนับสนุนทั้งหอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานครและสนับสนุนศิลปินไทย “บี.กริม มีความสนใจและมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมงานด้าน ศิลปวัฒนธรรมในประเทศไทยมาโดยตลอด จึงได้ร่วมมือกับหอศิลปกรุงเทพฯ จัดนิทรรศการครั้งนี้ อีกทั้งรายได้ จากการจำหน่ายผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการ จะนำไปสนับสนุนการดำเนินงานของหอศิลปกรุงเทพฯ ต่อไป ตามเจตนารมณ์ของ ดร. ฮาราลด์ ลิงค์”


เรื่องราวของ บี.กริม จากร้านขายยาแห่งแรกในสยาม สู่ห้างเยอรมันเก่าแก่ที่สุด ได้รับการถ่ายทอด เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ชื่อ “ฝากไว้ในแผ่นดิน” โดยนักเขียนรางวัลแว่นแก้ว คุณยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง เพิ่งวางแผงในเดือนเมษายน 2561 และจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็วจนต้องพิมพ์ซ้ำ คุณยุวดีกล่าวว่า “นิทรรศการครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากนวนิยายเล่มนี้ เพราะนอกจากจะให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์เพิ่มเติมจากหลักฐานการสื่อสารทางไปรษณีย์แล้ว งานศิลปะทั้ง 15 ชิ้นที่นำมาจัดแสดงยังสะท้อนภาพลักษณ์ของบี.กริมที่มุ่งสนับสนุนสังคมไทยในทุก ๆ ด้านมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมและดนตรี”


นอกจากบันทึกไว้ในรูปแบบหนังสือแล้ว เรื่องราวอันทรงคุณค่าของ บี.กริม ตลอด 140 ปี ยังได้รับการ ถ่ายทอดเป็นสารคดีบนแผ่นฟิล์มโดย คุณโลร็อง มาแลสปีน ผู้ผลิตสารคดี “วิวัฒนาการเศรษฐกิจไทยบนเส้นทาง โลกาภิวัตน์” คุณโลร็อง กล่าวถึงเนื้อหาหลักของสารคดีว่า “ในสารคดีประวัติศาสตร์ ‘140 ปี บี.กริม’ เราจะเห็น ความเกี่ยวข้องของ บี.กริม กับพัฒนาการทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมของไทย เพราะสารคดีชุดนี้ ฉายภาพ ระยะเวลา 140 ปี นับแต่การก่อตั้งห้างสยามดิสเป็นซารี่ในพ.ศ. 2421 จนถึง มร. อดอล์ฟ ลิงค์ ได้เป็นผู้นำใน การดำเนินธุรกิจของบริษัท บี.กริม แอนด์โก ในศตวรรษที่ 20 และผู้สืบทอดรุ่นต่อ ๆ มา ได้ขยาย กิจการออกไป จนปัจจุบัน ครอบคลุมกิจการด้านวิศวกรรม อุปกรณ์การแพทย์ การผลิตไฟฟ้า โทรคมนาคม เครื่องปรับอากาศ อสังหาริมทรัพย์ เรียกได้ว่าเป็นบริษัทต่างชาติที่ผ่านช่วงเวลาวิกฤตของประเทศไทย และมีบทบาทใน อุตสาหกรรมสำคัญ ๆ หลายสาขา”


ไฮไลต์สำคัญของนิทรรศการในครั้งนี้ คือ นิทรรศการหลักฐานประวัติศาสตร์การสื่อสารทางไปรษณีย์ คุณกฤชทิพย์ ศิริรัตน์ธำรงค์ นักสะสม กล่าวว่า “คอลเล็กชันที่นำมาแสดง บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของ ผู้ก่อตั้ง บี.กริม ทายาท และหลากหลายบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับส่วนตัว ระดับองค์กร ไปจนถึงระดับชาติ หลักฐานที่จัดแสดงแต่ละชิ้นจึงบรรจุเรื่องเล่ามากมายไว้ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและไทยในช่วงเวลากว่า 200 ปี และเรื่องราวของบริษัทบี.กริม จึงเป็นโอกาสดีที่เหล่าคนรักประวัติศาสตร์จะได้ชมหลักฐานประวัติศาสตร์ ที่ทรงคุณค่าเหล่านี้เป็นครั้งแรก”


อีกไฮไลต์หนึ่งของนิทรรศการ คือ งานศิลปะร่วมสมัย 15 ชิ้นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารีของ บี.กริม ดร.คธา แสงแข หนึ่งในศิลปินที่ร่วมแสดงผลงาน กล่าวว่า “ผมเลือกสร้างสรรค์ ผลงานจากความคิดเรื่อง Gross National Happiness ความสุขมวลรวมประชาชาติที่ บี.กริม นำหลักการนี้ จากประเทศภูฏาน มาพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ในองค์กรธุรกิจเป็นครั้งแรกในโลก” ผลงานประติมากรรม Companion Hands ของเขาอุปมาถึงสินค้าที่ เป็นภาพแทนของ บี.กริม ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่แสดงถึงมิตรภาพที่ดี ระหว่าง บี.กริม กับสังคมไทย นอกจากนี้ ยังมีผลงานจากศิลปินท่านอื่น ๆ งานทุกชิ้นบอกเล่าถึงวิธีดำเนินธุรกิจของ บี.กริม ในรูป แบบงานศิลปะได้อย่างน่าสนใจ

ธุรกิจอันหลากหลายของบี.กริม ดำเนินการอยู่บนรากฐานของความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน รอบข้างมาโดยตลอด หนึ่งในกิจกรรมที่ บี.กริม ทำมากว่า 5 ปี คือ ร่วมมือกับ WWF ประเทศไทย เพื่อฟื้นฟู ประชากรเสือโคร่ง คุณเยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการ WWF ประเทศไทย กล่าวถึงการสนับสนุนของบี.กริม ว่า “บี.กริม ถือได้ว่าเป็นองค์กรเอกชนที่สนใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุรักษ์ เสือโคร่งในผืนป่าตะวันตกที่เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย ทั้งนี้เพราะ เสือโคร่งเป็นตัวบ่งบอกถึงระดับความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ” นอกจากนี้ การอนุรักษ์เสือโคร่งยังเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ให้ศิลปินนำไปตีความและ สร้างสรรค์ออกมาเป็นชิ้นงานจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย


ท่านสุดท้ายที่ให้เกียรติร่วมพูดคุยบนเวที คือ คุณอัจฉรา เตชะไพบูลย์ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ “ดนตรีเป็นภาษาสากลและประเทศที่เจริญแล้วทุกประเทศทั่วโลกล้วนมี วงดุริยางค์ซิมโฟนีเป็นของตนเอง ในประเทศไทย บี.กริม เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะผู้สนับสนุนศิลปะดนตรีคลาสสิก อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่พ.ศ. 2525 ให้แก่มูลนิธิ วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ซึ่งปัจจุบันมี ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ เป็นประธานมูลนิธิฯ เปิดโอกาสให้วงรอยัลแบงค็อกซิมโฟนีออร์เคสตร้า (RBSO – Royal Bangkok Symphony Orchestra) มีเวทีแสดงมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงการสนับสนุนอื่นๆ อีกหลายอย่าง ในวันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเปิดนิทรรศการนี้ วงรอยัลแบงค็อกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ก็ได้รับโอกาสให้มาร่วมบรรเลงบทเพลงอันไพเราะให้ผู้ร่วมงานได้รับชมรับฟังด้วย” คุณอัจฉรากล่าว


งานแถลงข่าวเปิดนิทรรศการ “ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม” จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ บี.กริม บริษัท สัญชาติเยอรมันได้บันทึกหน้าประวัติศาสตร์การทำธุรกิจที่ตั้งอยู่บนปณิธานแห่งความมุ่งมั่นจะให้สังคมไทยโดย รวมประสบความสำเร็จ เจริญก้าวหน้า และมีความสุขร่วมกัน เพื่อเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดินไทยที่ บี.กริมได้รับมาตลอดระยะเวลา 140 ปี


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิด นิทรรศการ “ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 10 มิถุนายน 2561 และนิทรรศการจะเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวันตั้งแต่วันที่ 11 จนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2561