กรุงศรีคาดเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะสั้น หลังเฟดคงดอกเบี้ยตามคาด

กรุงศรีคาดเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะสั้น หลังเฟดคงดอกเบี้ยตามคาด

 

 

 

 

 

กรุงศรีคาดเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะสั้น หลังเฟดคงดอกเบี้ยตามคาด

 

 

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีความเห็นต่อผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในกรอบ 2.25-2.50% ซึ่งเป็นการตรึงดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยและมองแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าในระยะ 1 เดือนข้างหน้า


ในช่วงเปิดตลาด เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อยสู่ระดับ 31.95 ต่อดอลลาร์ ขณะที่เงินดอลลาร์ผันผวนในช่วงการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์ค โดยดอลลาร์อ่อนค่าในช่วงแรกแต่กลับมาแข็งค่าเทียบกับเงินยูโร หลังประธานเฟดกล่าวในงานแถลงข่าวหลังการประชุมว่า การปรับลดลงของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยชั่วคราว และเฟดยังไม่เห็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะให้ปรับจุดยืนด้านนโยบายดอกเบี้ยไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ทั้งนี้ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวในลักษณะแบนราบ ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปิดในแดนลบ


กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าเงินบาทจะยังคงปรับตัวในกรอบที่อ่อนค่าลงเล็กน้อยในระยะ 1 เดือนข้างหน้า จากท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ของเฟด ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของการค้าโลก รวมถึงฤดูกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนกลับไปที่บริษัทแม่ในต่างประเทศ ขณะที่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายยังคงรอภาพความชัดเจนทางการเมืองในประเทศและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่เป็นหลัก โดยเราประเมินว่าแม้เงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างช้าๆ ในระยะยาว แต่นักลงทุนยังคงลังเลที่จะขายเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่เปราะบาง


ประเด็นสำคัญจากความเห็นของประธานเฟด ซึ่งลดการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าเฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ และสนับสนุนมุมมองของเราที่ว่าเฟดมีแนวโน้มตรึงดอกเบี้ยตลอดทั้งปี 2562 โดยเฟดเน้นย้ำถึงการใช้ความอดทนในการตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ เฟดระบุว่าพอใจกับการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำจะขยับสูงขึ้นได้ในอนาคต แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจชะลอตัวลงในไตรมาสแรก ขณะที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่ธนาคารพาณิชย์สำหรับทุนสำรองส่วนเกิน (Interest Rate on Excess Reserves หรือ IOER) ลงสู่ 2.35% จาก 2.40% โดยมุ่งหวังให้สถาบันการเงินปล่อยเงินกู้แทนที่จะนำเงินมาฝากไว้กับเฟด


สำหรับปัจจัยชี้นำถัดไปจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางอังกฤษในวันนี้ การเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯในวันศุกร์ และความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของไทยในสัปดาห์หน้า