“PUBAT” เตรียมพร้อมจัดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47” ภายใต้แนวคิด “รักคนอ่าน” 28 มีนาคม – 7 เมษายน 2562 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
“PUBAT” เตรียมพร้อมจัดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47” ภายใต้แนวคิด “รักคนอ่าน” 28 มีนาคม – 7 เมษายน 2562
ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ประกาศความพร้อมจัด “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47” และ “สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17” วันที่ 28 มีนาคม ถึง 7 เมษายน 2562 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด “รักคนอ่าน” ชวนสัมผัสกับกิจกรรมพิเศษ “9 สิ่งใหม่ ... เพราะรักจึงจัดให้ ” พร้อมเวทีเสวนาและกิจกรรมน่าสนใจอีกมากมายตลอด 11 วัน
นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 และ งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “รักคนอ่าน” เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรักระหว่างคนทำหนังสือกับคนอ่านหนังสือ ความรักระหว่างคนอ่านหนังสือด้วยกัน รวมถึงความรักที่คนอ่านหนังสือมีต่อคนทำหนังสือ เรียกได้ว่าในงานหนังสือครั้งนี้จะมีแต่การแสดงออกถึงความรักระหว่างกัน และจะต้องเป็นความรักที่จับต้องสัมผัส รับรู้ได้จริง จึงตกผลึกมาเป็น concept รักคนอ่าน
นางสุชาดา ให้ข้อมูลว่า สำหรับการจัดงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 47 และ งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึง 7 เมษายน 2562 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงานได้รวบรวมสำนักพิมพ์กว่า 374 สำนักพิมพ์ โดยมีสำนักพิมพ์ต่างประเทศกว่า 17 สำนักพิมพ์เข้าร่วมงาน มีจำนวนบูธรวมทั้งสิ้นกว่า 924 บูธ ซึ่งเป็นบูธจากสำนักพิมพ์ต่างประเทศ 46 บูธ โดยเป็นที่รู้กันดีว่าแต่ละสำนักพิมพ์จะเปิดตัวหนังสือใหม่ในงานนี้ ส่วนหนังสือปกเดิมก็จะมีการจัดโปรโมชั่นพิเศษสุดๆ ทั้งลด แลก แจก แถม ให้กับประชาชนที่สนใจภายในงานครั้งนี้อีกด้วย
นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เราใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ที่สุด ให้สมกับเป็นการจัดงานสัปดาห์หนังสือครั้งสุดท้าย ก่อนศูนย์ฯปิดปรับปรุงครั้งใหญ่นานถึงสามปี ในครั้งนี้เราจึงได้จัดกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายให้กับผู้เข้าชมงานตลอดทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมแสดงบนเวทีมากถึง 98 รายการ มีการอบรมสัมมนาในหัวข้อต่างๆ กว่า 30 กิจกรรม นิทรรศการพิเศษกว่า 30 จุด เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในงานครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ความพิเศษเท่านั้น แต่เป็นสิ่งใหม่ สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในงานสัปดาห์หนังสือ
เราเรียกทุกสิ่งนี้รวมกัน ประกอบไปด้วย 9 สิ่งใหม่ ... เพราะรักจึงจัดให้ คือ 6 ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง จากสนามหลวงถึงศูนย์สิริกิติ์ , 23 ปีแห่งความทรงจำกับงานหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ , Cheer Reader : Book Fair Souvenir , ลุ้น รับจับรางวัล , คลินิกซ่อมหนังสือ , อ่านนอกเส้น: เล่นเส้นเล่นสี ,
Book Blind Date นัดบอดกับหนังสือชวนอ่าน , แชะ & แชร์ กับหกล้อ , ตุลานี้เจอกันที่ เมืองทอง อยากมีอะไรใหม่ ๆ ที่บอกได้เลย….??
นางสุชาดา ระบุว่านอกจากนิทรรศการและกิจกรรมพิเศษต่างๆ แล้ว ภายในงานยังได้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับโครงการสำคัญ อีก 2 โครงการ ที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อนำสังคมไทยไปสู่การเป็นสังคมรักการอ่านอย่างแท้จริง คือ 1.โครงการ๑อ่านล้านตื่น โครงการนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 เพื่อมอบรางวัลแก่ผู้ที่ให้ความสำคัญต่อการอ่านและเป็นแรงสนับสนุนกระตุ้นให้เกิดการอ่านมากขึ้น รวมถึงการจัดมอบหนังสือให้กับพื้นที่ขาดแคลนทั่วประเทศ ด้วยการให้เลือกหนังสือที่ต้องการอ่านด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการอ่านที่ตรงเป้าหมายดีที่สุด และ 2.โครงการ Read for Thailand อ่านสร้างคน คนสร้างชาติ โครงการใหม่ที่เปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือปีนี้เป็นปีแรก เป็นโครงการที่เกิดจากการร่วมมือของภาคีเครือข่ายรักการอ่านทั่วประเทศ จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอ่านให้คนไทย เป็นการสร้างสังคมให้อุดมด้วยความรู้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาชาติแบบยั่งยืนและดีที่สุด 3. สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมกับ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม Flash Talk สาระเนื้อหาแห่งชีวิต ของวรรณกรรมในยุคสมัย โดยนักเขียนชื่อดังมากมาย อาทิ คุณกนกวลี พจนปกรณ์ คุณเสรี ทัศนศิลป์ คุณกุดจี่ พรชัย แสนยะมูล เป็นต้น
อีกพื้นที่ที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจหนังสือในประเทศไทยให้สอดคล้องกับ trend ธุรกิจหนังสือต่างประเทศ คือ โซนหนังสือต่างประเทศ ซึ่งในปีนี้สมาคมฯ ร่วมมือกับสมาคมสำนักพิมพ์ไต้หวัน ซึ่งถือเป็นพันธมิตรหลักที่แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กับเรามาอย่างยาวนาน ด้วยการเซ็น MOU เผยแพร่ลิขสิทธิ์ซึ่งกันและกัน รวมถึงจัดโซน business matching จับคู่ธุรกิจไทย ไต้หวัน จีน และได้เชิญวิทยากรพิเศษอยู่ประจำบูธทุกวัน เพื่อบรรยายเรื่อง “คนเรียงพิมพ์” นำเสนอเครื่องพิมพ์ตัวอักษรแบบโบราณ ก่อนพัฒนามาเป็นระบบโรงพิมพ์ในปัจจุบัน และที่พลาดไม่ได้คือ การให้ความรู้เรื่องการขายหนังสือ ขายลิขสิทธิ์หนังสือไทย ไปต่างประเทศ และยังเป็นการเข้าร่วมงานหนังสือครั้งแรก ของสมาคมการ์ตูนไต้หวัน เพื่อขยายช่องทางการเผยแพร่งานซึ่งกันและกันซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญในการขยายฐานตลาดหนังสือไทยไปทั่วโลกในอนาคต
“งานสัปดาห์หนังสือ และ งานมหกรรมหนังสือ เป็นงานที่ได้รับการตอบรับด้วยดีเสมอมาอยู่แล้ว ตั้งแต่เริ่มจัดงานครั้งแรกที่ท้องสนามหลวงเมื่อ 58 ปีก่อน จนกระทั่งมาถึงศูนย์ฯสิริกิติ์ในปัจจุบัน แต่การจัดงานใหญ่ระดับชาติแบบนี้ มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องพิจารณาทั้งภาพรวมของเศรษฐกิจที่มีต่อกำลังการซื้อของผู้บริโภค ปัจจัยด้านต้นทุนการผลิต ทั้งวัตถุดิบ ภาษี การสนับสนุนจากรัฐบาล สภาวการณ์ต่างๆ รอบด้าน ณ ขณะนั้น และในธุรกิจหนังสือ จัดเป็นธุรกิจเฉพาะ กลุ่มผู้บริโภคก็เป็นกลุ่มเฉพาะ ในสังคมไทย การอ่านอาจจะยังไม่ใช่กิจกรรมอันดับต้นๆ ที่คนไทยชอบกัน รวมถึงพฤติกรรมของเยาวชนที่หันไปสนใจสื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น ดังนั้นงานสัปดาห์หนังสือก็ต้องปรับตัวเรื่อยมา มีจำนวนบูธเพิ่มขึ้นลดลงสลับกันไป แต่ในเรื่องของยอดขาย เป็นไปในทิศทางที่ดี คือ เรามียอดขายรวมทั้งงาน เพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นในปีนี้ เราก็คาดหวังให้สมาชิกผู้ออกบูธทำยอดขายได้ตามเป้าหมาย สร้างภาพรวมยอดขายที่เพิ่มขึ้นเหมือนเช่นทุกปี”
นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการจัดงานในปี 2561 มีการออกบูธจำนวน 941 บูธ แต่ในปีนี้พบว่ามีจำนวนลดลงเหลือเพียง 924 บูธ แต่จำนวนสำนักพิมพ์เพิ่มขึ้นจากเดิม 341 สำนักพิมพ์เป็น 347 สำนักพิมพ์ และจำนวนยอดผู้เข้าชมงานในปีที่ผ่านมามีจำนวน 1,819,484 คน สำหรับปีนี้คาดว่าจะมียอดผู้เข้าชมเพิ่มมากขึ้น ด้านยอดขายในปีที่ผ่านๆ มาพบว่ามียอดขายเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยคาดหวังว่าในปีนี้จะสามารถเพิ่มยอดขายได้มากกว่า 510 ล้านบาท จากเดิมที่สามารถขายได้กว่า 508 ล้านบาทในปี 2561
นางสุชาดา กล่าวว่าอย่างไรก็ดีในฐานะสมาคมฯ เราไม่ได้คาดหวังแต่ยอดขาย หรือยอดสมาชิกผู้ออกบูธเท่านั้น แต่เรามองถึงเรื่องการสร้างสังคมการอ่านเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ดังที่ได้กล่าวไปในส่วนของโครงการต่างๆ ที่เราจัดขึ้นในงานสัปดาห์หนังสือเป็นประจำทุกปี ดังนั้น หากจะกล่าวถึงความสำเร็จของการจัดงานสัปดาห์หนังสือที่แท้จริง ต้องมองถึงสถานการณ์การอ่านที่ดีขึ้น เด็ก เยาวชน หันมาสนใจการอ่านมากขึ้น สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญในการอ่านมากขึ้น ซึ่งก็ได้ผลน่าพอใจเพราะเด็กและเยาวชนเข้าชมงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีร้อยละ40 และหัวใจหลักที่สำคัญที่สุดที่สมาคมฯ ได้ตระหนักและย้ำเสมอมาคือ การสร้างสังคมการอ่านให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ซึ่งเรายังคงพยายามต่อไป โดยเพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศและต่างประเทศ หน่วยงานใดที่ร่วมมือกันแล้ว ก็จะต้องร่วมกันมองหาช่องทางเพิ่มภารกิจหรือพัฒนาภารกิจเดิมให้สำเร็จยิ่งขึ้นไปอีก และนอกจากนั้นสิ่งที่สมาคมฯจะต้องรับผิดชอบและดูแลเป็นพิเศษก็คือการย้ายสถานที่จัดงานไปยังเมืองทองธานี ซึ่งจำเป็นต้องสื่อสารให้ประชาชนทราบ ต้องอำนวยความสะดวกให้สมาชิกออกบูธและผู้เข้าชมงานให้ดีที่สุด ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สมาคมฯ ต้องทำให้ดีที่สุด