Smart Novices สามเณรยุคศตวรรษ 21 ทำโครงงานนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชน

Smart Novices สามเณรยุคศตวรรษ 21 ทำโครงงานนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชน

 

 

 

ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์,ดร.พุทธชาติ แผนสมบุญ

 

และคณะอาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต

 

สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา  มหาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Smart Novices สามเณรยุคศตวรรษ 21

 

ทำโครงงานนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชน

 

 

 

 

 

 

 

ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยยุคใหม่เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยีในโลกดิจิทัลสมัยใหม่ (Digital Generation) การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network Sites) เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) Line (ไลน์) อินสตาแกรม (instagram) ทวิตเตอร์ (Twitter) มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต วิธีคิด ค่านิยม รูปแบบการดำเนินชีวิต ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสยุคบริโภคนิยมอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า เยาวชนวัยรุ่นมีพฤติกรรมการใช้เครือข่ายเพื่อความบันเทิงมากกว่าแสวงหาความรู้ การใช้สื่อไม่เหมาะสมหลายรูปแบบ เช่น การเปิดและรับสื่ออนาจาร การสื่อสารคำพูดรุนแรง การแบ่งปันภาพไม่เหมาะสม การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป เป็นสาเหตุให้เกิดอาชญากรรม การล่อหลวงต่างๆ สะท้อนให้เห็นการใช้เทคโนโลยีที่ ขาดการพิจารณารู้เท่าทันสื่อ อย่างไรก็ตามการจัดประสบการณ์การเรียนรู้การใช้สื่อที่เหมาะสมผ่านแนวคิดการทางหลักพุทธธรรมด้วยวิธีการฝึกให้เยาวชนรู้จักคิดตามหลักโยนิสมนสิการ ฝึกให้แยกแยะคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม มองเห็นคุณและโทษของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ผ่านการเรียนรู้การทำโครงงาน (Project based Learning ) เป็นการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่สร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจและการแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อสร้างเยาวชนในการใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลอย่างมีคุณภาพได้

 

 

 

จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยสนใจศึกษาเยาวชนกลุ่มสามเณรที่ศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ เนื่องจากการศึกษาที่ผ่านมามักปรากฏข่าวด้านลบเกี่ยวกับการใช้สื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ไม่เหมาะสมของสามเณรผู้เป็นศาสนทายาท เป็นกระแสความโต้แย้งในเชิงความเหมาะสมและพฤติกรรมใช้การสื่อสังคมออนไลน์ขัดต่อพระวินัยของนักบวชหรือไม่ และยังส่งผลต่อภาพลบในความเสื่อมใสศรัทธาต่อคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยเลือกศึกษาสามเณรโรงเรียนพระปริยัติธรรมในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริริเริ่ม “โครงการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการช่วยให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีสุขภาพอนามัยที่ดี และมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในระดับสูงเพื่อเป็นรากฐานชีวิตที่เข็มแข็งในการพัฒนาตนเองและนำความรู้ที่ได้กลับไปประยุกต์ใช้ในชุมชนบ้านเกิด แต่ยังมีเด็กและเยาวชนอีกส่วนหนึ่งที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและเลือกบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาซึ่งเปิดสอนทั้งสายสามัญตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย และสายนักธรรมและบาลี ควบคู่กัน ทรงอุปถัมภ์กิจกรรมของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จำนวน 15 โรงเรียนในจังหวัดน่าน        ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ทำการวิจัยเรื่อง ค่านิยมและพฤติกรรมต้นแบบการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ตามหลักพุทธจิตวิทยาของสามเณร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและพฤติกรรมต้นแบบการใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามหลักพุทธจิตวิทยา มีการดำเนินการวิจัยเป็น 3 ระยะ คือ

 

 

 

1). ดำเนินการวิจัยระยะที่ 1 สำรวจสภาพปัญหาและพฤติกรรมใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสามเณร จำนวน 15 โรงเรียน พบผลสำรวจเบื้องต้นคือ สามเณรส่วนใหญ่ใช้อินเตอร์เน๊ตเฉลี่ย 1-3 ชั่วโมงต่อวัน  โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาเล่นเกมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อความเพลิดเพลินและติดตามข่าวสารเพื่อนในสังคมออนไลน์

 

2). ดำเนินการวิจัยระยะที่ 2 คือ การฝึกอบรมการรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ตามหลักพุทธจิตวิทยา เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ผ่านชุดกิจกรรม 18 กิจกรรม คัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการนำร่อง 3 โรงเรียน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 2 กลุ่มและกลุ่มควบคุม 1 กลุ่ม

 

 

 

3). ดำเนินการวิจัยระยะที่ 3 คือ การทำโครงงาน (Project based Learning) ในวัดหรือโรงเรียนเป็นเวลา 4 เดือน โดยได้ออกแบบการวิจัยแบบบูรณาการหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาประยุกต์กับศาสตร์สมัยใหม่ เป็นชุดกิจกรรมการฝึกพัฒนาค่านิยมและพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเหมาะสม ใช้วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ เช่น วิธีคิดแบบคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม ฝึกควบคุมตนเองในสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน เพื่อลดเวลาการใช้สื่อสังคมออนไลน์และพัฒนาตนตามหลักพุทธธรรม จำนวน 18 กิจกรรม และทำโครงงานเพื่อพัฒนาค่านิยมและพฤติกรรมต้นแบบการใช้สื่อสังคมออนไลน์ 4 เดือน (Project based Learning) เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สามเณรได้รู้จักตนเอง รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง และเป็นการพัฒนาตนเองทั้งในระดับ กาย ศีล จิต และปัญญา พร้อมทั้งนำศักยภาพที่ตนเองมีอยู่มาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดผลกระทบทั่งยั่งยืนในองค์กรของตนเองด้วยการสร้างนวัตกรรมของสามเณรกระทำผ่านกระบวนการ (Project based Learning) ฝึกทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกทักษะแก้ปัญหา ด้านการคิดสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมโครงงานที่ออกแบบในแต่ละกลุ่มสอดคล้องกับการจัดประสบการการเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่ในศตวรรษที่ 21

 

 

 

 

 

ผลวิจัยพบว่า

 

1.รูปแบบฝึกอบรมที่เหมาะสมที่สุดในพัฒนาพฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ตามแนวพุทธจิตวิทยา คือ การฝึกให้สามเณรลงมือปฏิบัติทำโครงงาน Project based learning เป็นเวลา 4 เดือน ผ่านกิจกรรมและหัวข้อที่แต่ละกลุ่มสนใจ เผยแพร่ผลงานผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นการฝึกฝนให้สามเณรได้สำรวจปัญหาและพฤติกรรมของตัวเองและชุมชน ฝึกคิดโครงงานสร้างสรรค์เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ผ่านโครงงานและลดเวลาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ผลวิเคราะห์เชิงปริมาณพบว่า สามเณรมีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและพฤติกรรมต่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เหมาะสม 4 ด้านสูงกว่าก่อนได้เข้าโครงการอบรม ได้แก่ มีเหตุผลในการคิด มีการควบคุมตนเอง มีค่านิยมพฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ตามหลักพุทธจิตวิทยาเพิ่มสูงขึ้น

 

 

 

2. จากผลสำเร็จของโครงงานจากการทำกิจกรรมโครงงาน (Project based Learning) สามเณรผู้เข้าร่วมโครงการ ได้เรียนรู้การสรุปความคิดรวบยอด และสามารถนำเสนอให้ผู้อื่นได้รับรู้และเข้าใจได้ โดยในการนำเสนอผลงานโครงการ Smart Novices สามารถทำได้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การแสดงนิทรรศการ เวปเพจ Smart Novices จำนวน  5 โครงงาน ได้แก่ โครงงาน ไม่เหลียวไม่แลไม่แคร์บุหรี่  โครงงานธนาคารขยะรีไซเคิล  โครงงานการใช้โทรศัพท์ให้ถูกที่ถูกเวลา  โครงงานการปรับภูมิทัศน์ในบริเวณโรงเรียนวัดพระธาตุแช่แห้ง และโครงงานพุทธศิลป์ โดยมีขั้นตอนการทำงานดังนี้ 1) คิดประเด็นโครงงานตามความสนใจและความถนัดของแต่ละกลุ่ม  2)นำเสนอตามขั้นตอนกระบวนการวิจัย เริ่มจากสภาพปัญหา สาเหตุของปัญหา เป้าหมายหรือผลที่ต้องการเมื่อสิ้นสุดโครงการ วิธีดำเนินงาน/กิจกรรมที่ทำ ธรรมะที่ใช้ในการดำเนินงาน 3) ลงมือปฏิบัติในชุมชน (โรงเรียนหรือวัด)

 

 

 

3. ผลวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพพบว่า สามเณรเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม 4 ด้านด้วยกันคือ (1) ด้านกาย มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น ทำให้สุขภาพแข็งแรง จิตใจแจ่มใสเบิกบาน ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์มากขั้น (2) ด้านศีล มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนดีขึ้น มีความสามัคคี รู้จักการสื่อสาร เพื่อชักจูงและชักนำในการพัฒนาสิ่งที่เป็นประโยชน์ เกิดความรู้สึกรักและผูกพันกับสถานศึกษา เกิดสัมพันธภาพที่ดี ทำให้มีความรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน (3) ด้านจิตใจ สามเณรสามารถควบคุมตนเองได้ มีสมาธิในการเรียนดีขึ้น ผลการเรียนดีขึ้น จิตใจแจ่มใสเบิกบาน มีความกล้าในแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเองมากยิ่งขึ้น และ (4) ด้านปัญญา จากการฝึกปฏิบัติผ่านกิจกรรมโครงงานทำให้ได้ประสบการณ์ตรงรู้จักประโยชน์ที่แท้จริงของสื่อสังคมออนไลน์ และนำมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ในสถานศึกษา ภายใต้โครงงาน “การใช้โทรศัพท์ให้ถูกที่ถูกเวลา”

 

 

 

ดังนั้น การพัฒนาค่านิยมและพฤติกรรมต้นแบบการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เหมาะเหมาะ จะต้องออกแบบกิจกรรมผ่านการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยและความเปลี่ยนแปลงของบริบทของสังคม ผ่านกระบวนการฝึกฝนให้เยาวชนลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ก่อให้เกิดกระบวนเปลี่ยนแปลงวิธีการคิด  รู้จักการควบคุมตนเอง และนำหลักธรรมมาปรับใช้กับกิจกรรมให้เกิดการตระหนักรู้เท่าทันสื่อ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีดังนี้ 1) กัลยาณมิตร ประกอบด้วยผู้บริหาร ครู และเพื่อนสามเณรในโรงเรียน 2) การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด โดยใช้หลักโยนิโสมนสิการ เพื่อรู้จักใช้สื่อในทางสร้างสรรค์ 3) การทำโครงงาน (Project based Learning) นำไปสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์