ปักธง “ไปรษณีย์ไทย 4.0” เน้นภายในเข้มแข็ง ภายนอกลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
ปักธง “ไปรษณีย์ไทย 4.0” เน้นภายในเข้มแข็ง ภายนอกลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
เดินหน้าแผนขยายเครือข่ายรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษของภาครัฐ
- เตรียมความพร้อมเข้าถึงทุกพื้นที่สนับสนุนโครงการดิจิทัลชุมชนด้าน e-Commerce
กรุงเทพฯ 26 มิถุนายน 2560 – บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เดินหน้านโยบาย “ไปรษณีย์ไทย 4.0” เน้นสร้างความเข้มแข็งขององค์กรจากภายใน เพื่อให้บุคลากรทุกระดับของไปรษณีย์ไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนให้ไปรษณีย์ไทยเป็นองค์กรที่มี “มาตรฐาน ทันสมัย พึงพอใจลูกค้า” พร้อมกับเดินหน้าพัฒนาระบบงานและการให้บริการ สู่การทำงานแบบ “มีผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง” อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการปรับปรุงระบบรับฝาก ระบบงานคัดแยก ระบบงานส่งต่อ และระบบงาน นำจ่าย รวมไปถึงปรับปรุงและพัฒนารูปลักษณ์ที่ทำการไปรษณีย์ รถขนส่งไปรษณีย์ ไปรษณีย์อนุญาตเอกชนและร้านไปรษณีย์ไทย นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทย ยังเดินหน้าใช้ความเข้มแข็งด้านเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อเป็นสตาร์ทอัพแพลตฟอร์ม (Start Up Platform) สนับสนุนการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อี-คอมเมิร์ซ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษของภาครัฐ ที่ไปรษณีย์ไทยมีแผนการขยายจุดบริการให้รองรับการขนส่งและโลจิสติกส์แบบครบวงจร
ทั้งนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้จัดประชุมคณะกรรมการ ประจำเดือนมิถุนายน 2560 โดยมีพลเอก สาธิต พิธรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นประธานในการประชุม พร้อมติดตามนโยบายการขับเคลื่อน “ไปรษณีย์ไทย 4.0” และความคืบหน้าการดำเนินงานของไปรษณีย์ไทยที่จะรองรับนโยบายดังกล่าว
พลเอก สาธิต พิธรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยถึงนโยบายการขับเคลื่อน “ไปรษณีย์ไทย 4.0” ว่า เพื่อเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” ไปรษณีย์ไทย มีนโยบายการขับเคลื่อน “ไปรษณีย์ไทย 4.0” โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรจากภายใน เพื่อให้บุคลากรทุกระดับของไปรษณีย์ไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนให้ไปรษณีย์ไทยเป็นองค์กรที่มี “มาตรฐาน ทันสมัย พึงพอใจลูกค้า” ภายใต้หลักการบริหารที่โปร่งใสด้วยธรรมาภิบาล เน้นการควบคุมภายในและการกำกับดูแลกิจการที่ดีในหน่วยงาน รักษามาตรฐานการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานจากการประเมินคุณธรรมและความโปรงใส่ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของหน่วยงานภาครัฐ (ปปท.) (Integrity & Transparency Assessment: ITA) ที่ล่าสุดได้คะแนน 94.48 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 4 จาก 140 หน่วยงานทั่วประเทศ
พลเอก สาธิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะเดียวกัน ไปรษณีย์ไทยต้องเดินหน้าพัฒนาขับเคลื่อนระบบงาน และการให้บริการ สู่การทำงานแบบ “มีผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง” สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการในยุคปัจจุบันมากที่สุด โดยต้องปรับปรุงระบบรับฝาก ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ นำระบบ Automation มาช่วยในการปฏิบัติงาน เช่น สายพานลำเลียง เปิดบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี อาทิ ตู้รับฝากและนำจ่ายอัตโนมัติในเขตชุมชน โดยให้พิจารณาความเหมาะสมคุ้มค่าก่อนการดำเนินการ ปรับปรุงระบบงานคัดแยก ผ่านการใช้เครื่องคัดแยกอัตโนมัติเพื่อลดการใช้แรงงานคนและสามารถรองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นผลภายในปี 2561 จำนวน 29 เครื่อง ปรับปรุงระบบงานนำจ่าย ให้ผู้ใช้สามารถกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการรับสิ่งของได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังจะทำการปรับปรุงและพัฒนารูปลักษณ์ที่ทำการไปรษณีย์ ไปรษณีย์อนุญาต ร้านไปรษณีย์ไทย ให้มีความทันสมัย รองรับฟังก์ชั่นการทำงานอย่างครอบคลุม ใช้ประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐ เป็นแหล่งศูนย์กลางของชุมชนในการหาข้อมูลความรู้ เป็นแหล่งเรียนรู้ พักผ่อนหย่อนใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ไปรษณีย์ไทยจะเติบโตคู่ไปกับชุมชน ซึ่งจะต้องสำเร็จภายในปี 2562
นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า จากนโยบาย “ไปรษณีย์ไทย 4.0” นอกจากไปรษณีย์ไทยจะเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการให้บริการแล้ว ไปรษณีย์ยังมีแผนการใช้ความเข้มแข็งด้านเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อเป็น สตาร์ทอัพแพลตฟอร์ม (Start Up Platform) สนับสนุนการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อี-คอมเมิร์ซ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนการรองรับโครงการดิจิทัลชุมชนผ่านการพัฒนา 3 บริการหลัก คือ อีมาร์เก็ตเพลส แอนด์แพลตฟอร์ม (eMarketplace & Platform) ช่องทางการตลาดออนไลน์, อีโลจิสติกส์ (eLogistics) ช่องทางการส่งของตอบโจทย์อีคอมเมิร์ซ, และอีเพย์เม้นท์ (ePayment) ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์
นางสมร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทย ได้วางแผนรองรับการขยายตัวของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของภาคตะวันออก (EEC) โดยไปรษณีย์ไทย ได้ตั้งคณะทำงานสำรวจและศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล พร้อมเร่งจัดหาพื้นที่เพื่อขยายจุดให้บริการไปรษณีย์ รองรับการเติบโตในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 พื้นที่ ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันตก ณ จังหวัดตากและกาญจนบุรี 2) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดมุกดาหาร และหนองคาย 3) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ณ จังหวัดสระแก้ว และตราด 4) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (จังหวัดเชียงราย) ซึ่งจากการศึกษา ทำให้พบโอกาสการขยายตัวของไปรษณีย์ไทย ทั้งในด้านเครือข่ายที่ทำการ ศูนย์ไปรษณีย์ และบริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร ตลอดจนการให้บริการด้านการขนส่งและขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม จีน และอินเดีย
ไปรษณีย์ไทย เชื่อมั่นว่าการยกระดับมาตรฐานคุณภาพบริการตามนโยบายของประธานกรรมการ พลเอก สาธิต พิธรัตน์ ที่จะผลักดันให้ไปรษณีย์ไทยสามารถตอบสนองนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ด้วยนวัตกรรมและบริการใหม่ๆ ที่รองรับความต้องการของคนไทยในยุคดิจิทัล จะสามารถทำให้ไปรษณีย์ไทยเติบโตด้วยผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมก้าวสู่การเป็นไปรษณีย์ไทย 4.0 มีมาตรฐาน ทันสมัย พึงพอใจลูกค้า เป็นเครือข่ายการขนส่งของคนไทยและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างสำเร็จภายใน 2562 ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ THP Contact Center 1545 เว็บไซต์ www.thailandpost.co.th