‘บูรณาการ’ หรือ ‘บูรณาเกิน’

‘บูรณาการ’ หรือ ‘บูรณาเกิน’

 

 

 

CHANGE  Today  อ.ทศพล  กฤตยพิสิฐ

คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

‘บูรณาการ’ หรือ ‘บูรณาเกิน’ 

 

 “บูรณาการ” (integration) กลายเป็นคำยอดนิยมที่นิยมนำไปใช้เพื่อให้ดูเหมือนว่าสิ่งที่ทำเป็นการดำเนินการอย่างมีเหตุผล เป็นเทคนิควิธีการทางวิทยาศาสตร์ (scientific method) มีการเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างหน่วยย่อยต่างๆ ภายในองค์กร รวมทั้งเชื่อมโยงสอดคล้องกับทิศทางขององค์กรภายนอกที่เกี่ยวข้อง ประหนึ่งการทำงานกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน อาจเทียบได้กับวงออร์เคสต้า (orchestra) ที่นักดนตรีแต่ละคนรับผิดชอบเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นบรรเลงได้ประสานกลมกลืนออกมาเป็นบทเพลงที่ไพเราะน่าฟัง อีกทั้งการบูรณาการยังเป็นคำพูดที่มีนัยทางความหมายที่แสดงให้เห็นถึงเพิ่มระดับคุณค่าหรือเสริมสร้างรสนิยมในการบริหารจัดการแก่ผู้ที่นำคำนี้ไปใช้ ทั้งที่ผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่นำคำนี้มาใช้ไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริงของคำคำนี้แต่อย่างใด ดังเช่นเมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้ฟังผู้จัดรายการวิทยุแสดงความเบื่อหน่ายกับการใช้ภาษาที่เข้ามายึดโยงเกี่ยวข้องกับคำคำนี้ พาลพูดคุยไปถึงเรื่องผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่นิยมเอาคำที่ประหนึ่งเสมือนเป็นร่างทรงแห่งภูมิปัญญานี้ไปใช้กันเลอะเทอะเปรอะเปื้อนจนบิดเบือนความหมายที่แท้จริง

โดยปกติคนไทยมักติดนิสัยการนำภาษามาใช้อย่างขาดความระมัดระวัง จนหลงลืมละเลยไม่ทราบความหมายที่ถูกต้องของคำแต่ละคำ ตัวอย่างเช่น จุดประสงค์ เป้าประสงค์ จุดมุ่งหมาย เป้าหมาย ที่มีที่มาจากศัพท์ในภาษาอังกฤษที่ไม่เหมือนกัน ได้แก่ objective, purpose, aim, goal, target  มาใช้อย่างไม่ระมัดระวัง เรื่อยเปื่อยจนแยกความหมายที่แตกต่างกันของคำต่างๆ ไม่ออก ราวกับว่าคำต่างๆ เหล่านั้นมีความหมายอย่างเดียวกัน คล้ายคลึงกับกรณีของคำว่า “บูรณาการ” ที่ใช้กันมั่วไปหมดในเวลานี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราอาจเลือกใช้คำที่ให้ความหมายที่ชัดเจนได้อย่างลงตัว โดยไม่สร้างความสับสนไม่เข้าใจแก่ผู้ฟังหรือผู้รับนโยบายไปปฏิบัติ เช่นคำว่า ประสาน สัมพันธ์ เชื่อมโยง เกื้อกูล ผสมผสาน ต่อเนื่อง ต่อยอด ครบวงจร เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ได้ผลงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้โดยไม่คลาดเคลื่อนจนอาจนำไปสู่ความเสียหายที่ตามมาได้

นโยบายจำนวนมากที่เราพบว่าไม่ประสบความสำเร็จ ประการสำคัญเนื่องมาจากการนำนโยบายไปปฏิบัติไม่มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างได้ผล นโยบายลดการบ้านเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความไม่บูรณาการของครูผู้สอนแต่ละรายวิชา การบูรณาการสอนภายในภาควิชา การบูรณาการระหว่างภาควิชาต่างๆ กับนโยบายของโรงเรียน การบูรณาการระหว่างนโยบายของโรงเรียนกับนโยบายของกรมหรือกระทรวงที่สังกัด รวมไปถึงการบูรณาการระว่างนโยบายของรัฐในด้านต่างๆ ที่ไม่ประสานสัมพันธ์กันอย่างลงตัวต่อเนื่องกันเป็นทอดๆ จนนำไปสู่ปัญหาที่เรียกว่า “ความทุกข์ของนักเรียน” จนลุกลามไปสู่เรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนของครูที่กระทำต่อนักเรียนที่ในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้

เช่นเดียวกับกรณีของนโยบายห้ามโรงเรียนบังคับนักเรียนตัดผมทรงหัวเกรียน (ขาวสามด้าน) หรือทรงนักเรียนเดิม จนนำไปสู่ความไม่เข้าใจระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง นักเรียน และผู้กำหนดนโยบายโดยอ้างอิงข้อบัญญัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับผู้เกี่ยวข้องที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันเพราะไม่ทราบที่มาถึงเหตุผลของนโยบายที่ชัดเจนแม้จะได้มีการชี้แจงไปบ้างแล้วก็ตาม

ไม่ต่างจากนโยบายลดภาษีรถยนต์คันแรกที่ผ่านมาไม่นานนี้ ที่ก่อให้เกิดข้อสงสัยระหว่างมาตรการจำกัดปริมาณรถยนต์เพี่อลดปัญหาการจราจร ขัดแย้งกับจำนวนผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น การจัดบริการรถยนต์สาธารณะเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะเพื่อช่วยลดการใช้พลังงาน ตรงกันข้ามกับการกันเม็ดเงินเพื่อนำมาจ่ายเป็นส่วนต่างในการลดภาษี ไปคนละทิศทางจนไม่เข้าใจถึงเจตนามรณ์ที่แท้จริงของนโยบายที่มีหลายหน่วยงานร่วมกันรับผิดชอบที่กำหนดขึ้น ไม่ปรากฏให้เห็นลักษณะของการ “บูรณาการ” แต่อย่างใด

 นโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความล้มเหลวของการประสานการทำงานแบบไทยๆ ที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก เป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายเอือมระอา คาดเดาได้ไม่ยากของชาวบ้านทั่วไปว่าจะมีข้อแก้ตัวหรือพร่ำพรรณาของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะออกมาอย่างไร ก็บ่งบอกถึงความไม่มีแม้แต่กลิ่นอายหรือสัญญานของคำว่า “บูรณาการ” ได้เป็นอย่างดี ความยึดมั่นถือมั่นในศักดิ์ศรีระหว่างหน่วยงานแบบที่ไม่มีใครยอมใคร การไม่ยอมรับคำสั่งการเพื่อให้เกิดการประสานงานจากผู้กำหนดนโยบายหรือผู้สั่งการที่ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโดยตรง ทัศนคติที่ไม่ดีระหว่างหน่วยงาน ความไม่ลงรอยกันในเรื่องความคิดตามความเชื่อทางวิชาการในศาสตร์ที่เป็นขอบข่ายของตน ตลอดจนความเชื่อมั่นในศักยภาพและภูมิรู้ของแต่ละฝ่ายหรือหน่วยงาน สารพัดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การ “บูรณาการ” ที่แท้จริงไม่อาจเกิดขึ้นได้

... จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่สังคมไทยชอบพูดถึง “บูรณาการ” กันอย่างพร่ำเพรื่อ ทั้งที่ในความเป็นจริงสิ่งที่ปรากฏล้วนแล้วแต่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า มีการบริหารจัดการจำนวนน้อย (มาก) ที่จะสามารถเรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็นการ “บูรณาการ” ที่มองเห็นเด่นชัดเป็นรูปธรรมจับต้องได้ที่จะส่งผลดีแก่ประชาชนและประเทศชาติบ้านเมือง.