คำสารภาพ...ที่ไร้เดียงสา

คำสารภาพ...ที่ไร้เดียงสา

 

 

 

CHANGE  Today  อ.ทศพล  กฤตยพิสิฐ

คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

คำสารภาพ...ที่ไร้เดียงสา

 

ผู้เขียนรู้สึกขัดเคืองใจทุกครั้งที่มีการนำผู้ต้องหาที่กระทำความผิดในคดีมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและสาธารณชน แม้จะเป็นเรื่องดีที่แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนในกระบวนการได้มาซึ่งผู้ต้องหาที่เป็นผู้ต้องหาตัวจริงแก่ประชาชน นอกเหนือจากการอธิบายชี้แจงถึงรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ ในการก่ออาชญากรรมแล้ว เรามักจะได้ยินผู้ต้องหากล่าวทิ้งท้ายในทำนองว่า “ผมไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร”, “ผมไม่รู้ว่าเขาเป็นตำรวจ”, “ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขาเป็นดารา” หรือแม้แต่กล่าวออกมาได้ว่า “ไม่เคยมีใครมาบอกผมมาก่อนว่าผู้ถูกทำร้ายไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” สารพัดจะสรรหาเพื่อนำสถานภาพหรือบทบาทมากล่าวอ้างถึง เพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่ตนเองกระทำลงไปทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์โดยที่ไม่ทราบว่าผู้ถูกกระทำเป็นใคร

            ประเด็นที่น่าสงสัยก็คือ การนำสถานภาพหรือตัวตนของบุคคลของผู้ถูกกระทำมาเอ่ยอ้าง เพื่อต้องการตอกย้ำตนเองให้เห็นว่าตัดสินใจผิดหรือไม่ควรเลือกกระทำกับบุคคลที่เป็นบุคคลสาธารณะหรือบุคคลที่เป็นที่รู้จักของสังคม เพราะการกระทำนั้นๆ จะกลายเป็นจุดสนใจของสังคม ซึ่งความสนใจของสังคมที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบังคับให้ผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องเข้ามาเร่งดำเนินการเพื่อคลายข้อสงสัยหรือความวิตกกังวลที่สังคมมีต่อเหตุการณ์นั้นๆ

เมื่อเร็วๆ นี้เหตุการณ์ทำร้ายร่างกายเพื่อชิงปล้นทรัพย์ที่เกิดในย่านห้วยขวาง-ลาดพร้าว หากผู้เสียหายไม่ได้เป็นนักร้องวัยรุ่นที่เป็นที่รู้จักของสังคม ก็ไม่ทราบว่าความคืบหน้าของคดีความดังกล่าวจะเป็นอย่างใด ผู้กระทำผิดจะยังคงยืดหน้าลอยนวลอยู่ในสังคมต่อไปหรือไม่ ทั้งนี้รวมถึงกรณีประทุษร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่เป็นที่สนใจของสังคมที่มักจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ จึงไม่ทราบว่าจุดมุ่งหมายของการคลี่คลายคดีความเป็นไปเพื่อการช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างแท้จริงหรือทำไปด้วยเหตุผลอย่างอื่น

เราจึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าคดีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีชื่อเสียงนั้น คำสารภาพของผู้กระทำผิดได้แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในความผิดที่ตนเองกระทำลงไปอย่างจริงใจ หรือแสดงออกโดยมีนัยถึงความโชคร้ายของตนจากความผิดพลาดที่ไม่พิจารณาให้ดีก่อนว่าผู้เสียหายเป็นใคร จึงส่งผลให้ตำรวจหรือผู้มีหน้าที่ต้องเร่งเข้ามาคลี่คลายคดีความที่เกิดขึ้น เนื่องจากต้องการมีคำตอบให้แก่สังคมตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ผลร้ายที่ตามมาจึงมาสู่ตนเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตามการรู้หรือไม่รู้มาก่อนว่าผู้ถูกทำร้ายเป็นใคร หรือแม้แต่ผู้ถูกทำร้ายจะโชคร้ายเป็นบุคคลที่ผู้ต้องหามีความรู้สึกไม่พอใจในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง จึงเลือกทำร้ายในรูปแบบของ “กฎหมู่” ไปด้วยความไม่ชอบด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องทั้งสิ้น โดยไม่สามารถนำเหตุผลจากความไม่พึงพอใจส่วนบุคคลของตนที่มีต่อผู้เสียหายมากล่าวอ้างได้แต่อย่างใด

สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาในเรื่องนี้อีกประเด็นหนึ่งก็คือ สิทธิความเป็นพลเมืองที่ต้องได้รับการดูแลโดยเสมอภาคตามที่ระเบียบกฎหมายกำหนดไว้ จึงความหมายว่าบุคคลใดก็ตามหากได้รับความเสียหายจากการกระทำที่ไม่ถูกต้องจะต้องได้รับการปกป้องดูแลอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใครก็ตาม ดังนั้นหากการคลี่คลายคดีความเป็นผลมาจากสถานภาพหรือความเป็นที่รู้จักของสังคม เราจะเรียกว่าเป็น “เลือกปฏิบัติ” ได้หรือไม่ จึงเกิดคำถามไปถึงผู้เกี่ยวข้องที่มีอำนาจหน้าที่ว่า สังคมนี้พร้อมที่จะดูแลปกป้องเฉพาะบุคคลที่มีอำนาจบารมีหรือเป็นที่รู้จักของสังคมเท่านั้นหรือไม่ หากไม่ได้เป็นเช่นนั้นเราจะทำอย่างไรให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้สึกว่าผู้มีอำนาจได้ทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องโดยไม่เลือกว่าบุคคลนั้นเป็นใคร โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นบุคคลที่สาธารณชนให้ความสนใจเท่านั้นจึงจะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถที่มีอยู่

จุดมุ่งหมายของบทความนี้ไม่ได้คาดหวังให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากเชื่อว่าอย่างไรก็ตามความต้องการนี้คงไม่มีทางบรรลุผลได้ในเวลาอันใกล้นี้ และไม่ปรารถนาจะได้ยินคำรับสารภาพที่ไม่มีเหตุผลและไร้เดียงสาเช่นนี้จากปากผู้ต้องหาอีกต่อไป ... เท่านั้นเอง..