กสอ. จับมือ เด็นโซ่ และ ทีจีไอ ผนึกกำลัง ตั้งศูนย์การเรียนรู้กระบวนการผลิตอัตโนมัติ ยกระดับ SMEs ไทยสู่เวทีโลก

กสอ. จับมือ เด็นโซ่ และ ทีจีไอ ผนึกกำลัง ตั้งศูนย์การเรียนรู้กระบวนการผลิตอัตโนมัติ ยกระดับ SMEs ไทยสู่เวทีโลก

 

 

 

 

 

กสอ. จับมือ เด็นโซ่ และ ทีจีไอ ผนึกกำลัง

ตั้งศูนย์การเรียนรู้กระบวนการผลิตอัตโนมัติ ยกระดับ SMEs ไทยสู่เวทีโลก

 

 


กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จับมือกับ บริษัทเด็นโซ่ คอร์เปอเรชั่น และสถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้กระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Learning Factory) เป็นแหล่งรวมความรู้ด้านกระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติ ขานรับนโยบายการปฏิรูปเข้าสู่ยุค 4.0 ตั้งเป้าผลักดันภาคการผลิตของไทยขึ้นเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ


นายวัชรุน จุ้ยจำลอง ผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กสอ. มีนโยบาลเร่งผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ เพื่อให้เป็นตัวขับเคลื่อนการยกระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ ด้วยเล็งเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันมีการแข่งขันสูง ทั้งยังใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในการพัฒนาผลิตภาพสินค้าเพื่อตอบโจทย์ตลาดสากล ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรต้องปรับตัว เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่กว้างขึ้น นอกจากนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการก็จำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการควบคู่ไปด้วยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงเดินหน้าผสานความร่วมมือกับ ร่วมกับ บริษัทเด็นโซ่ คอร์เปอเรชั่น และสถาบันไทย – เยอรมัน (TGI) จัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้ด้านกระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Learning Factory) ซึ่งได้นำเอาเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงจากต่างประเทศมาให้ SMEs และผู้ประกอบการไทยเรียนรู้จากเป็นแนวทางในการต่อยอดการพัฒนาธุรกิจ เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในอนาคต


โดยศูนย์เรียนรู้ด้านกระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Learning Factory) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมความรู้เทคโนโลยีด้านระบบผลิตอัตโนมัติเชิงอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และสร้างแนวคิดต้นแบบของการพัฒนาด้านกระบวนการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติที่มีศักยภาพ ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมและพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้มีความรู้ และเสริมทักษะในด้านระบบการผลิตอัตโนมัติให้เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมให้มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในสถานประกอบการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมการผลิตของประเทศสู่ตลาดการค้าสากลและนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

 

ภายในศูนย์เรียนรู้ด้านกระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Learning Factory) ประกอบไปด้วย 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1. ศูนย์สาธิต Lean Automation System Integrators หรือ LASI ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (METI) กระทรวงอุตสาหกรรมของไทย และบริษัทเด็นโซ่ คอร์เปอเรชั่น ในการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อถ่ายทอดความรู้ สนับสนุน และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ผู้ออกแบบ และพัฒนาระบบหรือ SI (System Integrators) นักศึกษา และผู้ที่สนใจ ได้ทดลองใช้ระบบที่ล้ำสมัย ซึ่งเป็นการผสานระหว่างระบบ LEAN หรือการบริหารจัดการผลิตโดยปราศจากความสูญเปล่าและระบบอัตโนมัติ (Automation)


ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเด็นโซ่ กับแนวคิด “Connected Industries” ในการเรียนรู้แบบเปิดกว้างและปฏิบัติจริง เพื่อช่วยเสริมขีดความสามารถการแข่งขันในด้านการผลิตอัตโนมัติ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นการผลิตแบบอัตโนมัติให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมของผู้ผลิตในประเทศไทยให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในโลกที่บริษัทเด็นโซ่ คอร์เปอเรชั่น ให้การสนับสนุนเทคโนโลยีหุ่นยนตร์และระบบอัตโนมัติในการจัดตั้งศูนย์

และ 2. ศูนย์เรียนรู้ด้านกระบวนการผลิตอัตโนมัติ โดยสถาบันไทย-เยอรมัน หรือ TGI Smart Factory ศูนย์สาธิตห้องต้นแบบการพัฒนาสถานประกอบการ โดยมีบทบาทเป็นสถาบันพัฒนาบุคลากร สร้างที่ปรึกษา อาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอัตโนมัติเพื่อเป็น System Integrator ที่จะเป็นผู้ออกแบบและจัดการระบบการทำงานของโรงงานให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ทั้งนี้ภายในศูนย์ TGI สาธิตการติดตั้งกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจร แบบ “Smart Factory” ซึ่งเป็นการบูร-ณาการระบบการจัดการกระบวนการผลิตต่างๆ เข้าด้วยกัน ด้วยการเชื่อมต่อเครือข่ายในรูปแบบ ‘Internet of Thing (IoT)’ เข้ากับเครื่องจักรกล Industrial automation เพื่อให้เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะ อาทิ การนำหุ่นยนต์อัตโนมัติมาเป็นผู้ช่วยในสายการผลิต การประมวลและจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ (Cloud Computing) การจำลองโครงสร้างแบบจำลองเสมือนจริง หรือการขึ้นรูปงานในระบบ 3 มิติ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาและติดตั้งห้องต้นแบบ


สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เรียนรู้ด้านกระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Learning Factory) สถานที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industry Transformation Center หรือ ITC) ซอยตรีมิตร ถนนพระรามที่ 4 กรุงเทพฯ เว็บไซต์ www.itc.or.th