สิงห์ เอสเตท ร่วมกับ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ตอบรับนโยบายประชารัฐ นำร่องฟื้นฟูอ่าวมาหยา
สิงห์ เอสเตท ร่วมกับ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ตอบรับนโยบายประชารัฐ
นำร่องฟื้นฟูอ่าวมาหยา ตามแผนปะการังแห่งชาติ
พร้อมผลักดันเกาะพีพีสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางทะเลสำคัญระดับโลก
กระบี่ (16 พฤษภาคม 2561) - สิงห์ เอสเตท เดินหน้าตอกย้ำกลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และดำเนินธุรกิจควบคู่กับการสร้างสมดุลการอยู่ร่วมกันของชุมชนและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินตามนโยบายประชารัฐ ภายในแนวทางการฟื้นฟูอ่าวมาหยาตามแผนยุทธศาสตร์ปะการังแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าส่งต่อแนวคิดการอนุรักษ์ผ่านการสร้างศูนย์เรียนรู้ทางทะเล (Marine Discovery Centre : MDC) เพื่อชุมชนและนักท่องเที่ยวบนเกาะพีพี ส่งเสริมให้เกาะพีพีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางทะเลที่สำคัญของโลก
นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ “S” เปิดเผยว่า สิงห์ เอสเตท มีปรัชญาในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกกลุ่ม โดยเราได้เน้นความสำคัญเรื่องการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ที่ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ การลดผลกระทบและการสร้างคุณค่า ด้วยนโยบายการสร้างคุณค่าและรักษาสมดุล (Harmonious Co-existence) ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้จัดทำและร่วมสนับสนุนโครงการประชารัฐเพื่ออุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ในการป้องกันและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ “พีพีกำลังจะเปลี่ยนไป” เป็นโครงการสนับสนุนพีพีโมเดลกับ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โดยได้มอบเรือตรวจการแก่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อใช้งานในเกาะยูง และมอบทุ่นลอยเพื่อเป็นจุดผูกเรือบริเวณทะเลแหวก รวมถึงโครงการ “โตไวไว” ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งสร้างความรู้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อลดผลกระทบจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และรักษาสมดุลความหลากหลายทางชีวภาพให้กับอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี
โดยในปีนี้บริษัทฯ ได้สนับสนุนภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดทำ “โครงการติดตามและฟื้นฟูปะการังในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศจากโดรน และการปลูกปะการังด้วยวิธี Coral Propagation บริเวณอ่าวมาหยา” เพื่อใช้ติดตามการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ปะการังแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ นักท่องเที่ยว เยาวชน ชุมชน และผู้ประกอบการ ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิงห์ เอสเตท จึงได้สร้าง ศูนย์เรียนรู้ทางทะเล (Marine Discovery Centre : MDC) ขึ้นในบริเวณโรงแรมพีพีไอส์แลนด์ วิลเลจ บีช รีสอร์ท เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับ Marine Biodiversity ของอุทยานฯ โดยเปิดให้เข้าศึกษาได้ทุกวัน ซึ่งตัวศูนย์แบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่ ห้องปลาฉลาม ห้องเรียนรู้เกี่ยวกับเกาะพีพี ห้องปลาการ์ตูน และห้องออดิทอเรียม ถือเป็นโครงการนำร่องที่เราพยายามสร้างการมีส่วนร่วมและถ่ายทอดแนวคิดการอนุรักษ์ เพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทะเล และร่วมมือกันรักษาพีพีให้เป็นเกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทางทะเลของโลก นอกจากนั้นศูนย์การเรียนรู้ทางทะเลแห่งนี้จะเป็นหนึ่งในต้นแบบของการสร้างศูนย์การเรียนรู้ในด้านต่างๆ ในโครงการอื่นๆ ของสิงห์ เอสเตท ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อมที่ร่วมผลักดันโครงการ “พีพีโมเดล” ได้เห็นความสำเร็จของการร่วมกันของภาคเอกชน และภาครัฐ ในการปลูกปะการัง เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังบริเวณเกาะยูงเป็นเวลาต่อเนื่อง 2 ปี เป็นผลทำให้สภาพแนวปะการังบริเวณเกาะยูงฟื้นฟูเป็นอย่างมาก นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของโครงการ “พีพีโมเดล” ต้นแบบของแผนปะการังแห่งชาติ ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีเป้าหมายลดพื้นที่ความเสียหายของปะการังให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี และน้อยกว่าร้อยละ 20 ภายใน 20 ปี เพื่ออนุรักษ์แนวปะการังของไทยที่สามารถสร้างมูลค่าด้านการท่องเที่ยวมากกว่าปีละ 83,000 ล้านบาท ในปีนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับภาคเอกชนจัดทำโครงการสำรวจและติดตามพื้นที่แนวปะการังบริเวณเกาะยูงและพื้นที่ในหมู่เกาะพีพี โดยในช่วงแรกจะศึกษาข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศในอดีตจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) บริเวณเกาะยูงย้อนหลัง 4 ปี จากนั้นจะเข้าพื้นที่เพื่อถ่ายภาพทางอากาศจากโดรนทุกๆ 4 เดือน เป็นเวลา 1 ปี เพื่อวัดการเจริญเติบโตของแนวปะการัง และนำภาพถ่ายทางอากาศ (Aerial Photo) มาวิเคราะห์และเปรียบเทียบ ซึ่งจะช่วยให้การติดตามผลการเติบโตของปะการังสะดวกรวดเร็วและได้พื้นที่ครอบคลุม
นอกจากนั้นยังร่วมฟื้นฟูแนวปะการังด้วยวิธี Coral Propagation ในพื้นที่อ่าวมาหยา และติดตามการเจริญเติบโตเป็นระยะด้วยภาพถ่ายทางอากาศจากโดรนทุกๆ 1 เดือน ในช่วงกิจกรรมการปลูก และติดตามผลการเจริญเติบโตด้วยภาพถ่ายทางอากาศจากโดรนทุกๆ 4 เดือน เป็นเวลา 1 ปี นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ภาคเอกชนอย่าง บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) มีเจตนารมย์มุ่งมั่นให้ความสำคัญ และให้การสนับสนุนเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างจริงจัง จากการใช้พื้นที่ภายในโรงแรมสร้างศูนย์การเรียนรู้ทางทะเล เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน คนในท้องถิ่น นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ไม่เพียงเฉพาะแขกที่มาพักภายในโรงแรม สามารถเข้าชม เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นายศรายุทธ ปาโส นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี กล่าวว่า ขณะนี้การจัดการพื้นที่บริเวณอ่าวมาหยาที่ได้รับความเสียหาย ด้วยการปิดอ่าวมาหยา เพื่อฟื้นฟูปะการังโดยรอบ จะเริ่มตั้งแต่ 1 มิถุนายน ถึง 30 กันยายนนี้ โดยห้ามทำกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวโดยเด็ดขาด ยกเว้นการวิจัยศึกษาทางวิชาการ และภายหลังสิ้นสุดการปิดอ่าวจะมีการควบคุม จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหลือเพียงวันละ 2,000 คนต่อวัน จากเดิมมีมากถึง 4,000-5,000 คนต่อวัน รวมทั้งสั่งห้ามเรือแล่นผ่านแนวปะการังบริเวณหน้าหาด ในระหว่างปิดสามารถนำเรือเข้ามาลอยลำนอกบริเวณที่กั้นเขตไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดูอ่าวมาหยาจากบนเรือได้ ทางอุทยานฯ มุ่งหวังให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเห็นความสำคัญเรื่องนี้ และควรให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวก่อนเข้าชมอุทยานฯ เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังรู้สึกดีใจที่ยังมีภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ด้วยการสร้างศูนย์เรียนรู้ทางทะเล เพื่อสร้างองค์ความรู้และปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติ ทางอุทยานฯ มีความยินดี พร้อมให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงชักชวนคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกัน เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นแหล่งศึกษาวิจัย ศึกษาธรรมชาติ นันทนาการ และการท่องเที่ยวอยู่คู่คนไทยตลอดไป
นายนริศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ของสิงห์ เอสเตท ในปีนี้ นอกจากการสร้างศูนย์เรียนรู้ทางทะเล (Marine Discovery Centre : MDC) บนเกาะพีพี การร่วมสนับสนุนการปลูกปะการัง และการร่วมติดตามและฟื้นฟูปะการังโดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศจากโดรนบริเวณอ่าวมาหยา เรายังมีโครงการที่จะจัดทำต่อไป คือ กิจกรรมรณรงค์การจัดการของเสีย (Waste Management) ที่มุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจในปัญหาและการจัดการอย่างถูกวิธี สิ่งสำคัญที่สิงห์ เอสเตท เน้นย้ำอยู่เสมอ คือ การให้องค์ความรู้ (Body of Knowledge) ตั้งแต่เริ่มต้นในทุกโครงการ โดยเราดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ เน้นการสร้างสมดุลการอยู่ร่วมกันของชุมชนและสิ่งแวดล้อม และส่งมอบคุณค่าควบคู่ไปกับสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในทุกสถานที่ที่บริษัทฯ เข้าไปพัฒนาโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการในประเทศไทยและโครงการในต่างประเทศ
###
สิงห์ เอสเตท กับ แผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development: SD)
• สิงห์ เอสเตท มีปรัชญาในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกกลุ่ม
• เน้นความสำคัญเรื่องการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ใน 2 ส่วนหลัก คือ การลดผลกระทบและการสร้างคุณค่า ด้วยนโยบายการสร้างคุณค่า และการรักษาสมดุล (Harmonious Co-existence)
โครงการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี
บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำและร่วมสนับสนุนโครงการประชารัฐเพื่ออุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ในการป้องกันและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
ปี 2559 - “พีพีกำลังจะเปลี่ยนไป”
โครงการ “พีพี กำลังจะเปลี่ยนไป” เป็นการดำเนินกิจกรรมเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน ตามกรอบแนวคิด พีพีโมเดล ของ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อันจะทำให้สิงห์ เอสเตท ได้มีส่วนร่วมในการช่วยรักษาและพลิกฟื้นทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ในลักษณะ “ประชารัฐ” โดยความร่วมมือของภาครัฐ และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง อันประกอบด้วย กองอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีภาควิชา วิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.ไทยถาวร เลิศวิทยาประสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พีพีโมเดล = ควบคุม ดูแล รักษา ฟื้นฟู เป็นแนวทางที่ใช้จัดการอุทยาน โดยอิงตามหลัก IUCN ด้วยวิธี Nature Based Solution หรือการใช้หลักธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย
1. การควบคุม ได้แก่ การปิด “เกาะยูง” เพื่อรักษาแหล่งพ่อแม่พันธุ์ปะการังก่อนเหตุการณ์ปะการังฟอกขาว ได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้ปะการังฟอกขาวน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ การปิดแนวปะการังทะเลแหวก ให้เป็นเขตฟื้นฟู และควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวบริเวณอ่าวโละบาเกาและเกาะไผ่ ควบคุมปริมาณเรือให้อยู่ในจำนวนที่เหมาะสม และวางแผนการปิดเปิดพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเพื่อลดผลกระทบจากการท่องเที่ยว เช่น อ่าวมาหยา/สามหาด
2. การดูแล โดยอุทยานฯ ร่วมกับชาวบ้าน ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้อง จัดแคมเปญ No Shark No Parrotfish Sold Here เลิกการขายฉลาม/ปลานกแก้วทั้งเกาะ ประสบความสำเร็จ และยังมีแผนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในการดูแลจัดการปัญหาน้ำเสียที่สะสมมากกว่า 15 ปี
3. การรักษา โดยทดลองเติมสาหร่ายจิ๋วให้ปะการังและสัตว์ทะเลฟอกขาว (Zooxanthellae) ในบริเวณพื้นที่ฟื้นฟูและควบคุม พร้อมจัดหาทุ่นให้เรือจอด ป้องกันการทิ้งสมอที่จะทำให้แนวปะการังเสียหาย
4. การฟื้นฟู ด้วยการรักษาแนวปะการังเกาะยูง เพื่อเป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์ และวางแผนในการย้ายปลูกปะการังสายพันธุ์ทนน้ำร้อน เพื่อรับมือกับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในอนาคต
การสนับสนุนของสิงห์ เอสเตท ตามกรอบของ พีพี โมเดล ประกอบด้วย
• การมอบทุ่นจอดเรือที่ทะเลแหวก โดยใช้วิธี Park & Ride ให้ผู้ประกอบการเข้ามาส่งนักท่องเที่ยวแล้วนำเรือออกไปจอดกับทุ่น แทนการเข้ามาจอดบริเวณทะเลแหวก เพื่อป้องกันรักษาไม่ให้แนวปะการังเสียหายจากการทิ้งสมอของเรือท่องเที่ยว
• การสนับสนุนเรือตรวจการณ์เพื่อให้เจ้าหน้าที่อุทยานได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ควบคุมดูแล และจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย
• การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในบริเวณโรงแรม
• การสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวในเขตอุทยาน
• สนับสนุนการวิจัย สาหร่ายจิ๋ว (Zooxanthellae) ฟื้นฟูปะการังฟอกขาว ซึ่งเป็นการวิจัยครั้งแรกของโลก ที่ดำเนินการโดย ดร.ไทยถาวร เลิศวิทยาประสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบริษัท ภายใต้แนวคิด Live Life Inspired ที่มุ่งเน้นสนับสนุนแรงบันดาลใจที่ก่อให้เกิดนวัตกรรม เพื่อสร้างสรรค์โครงการที่สร้างความยั่งยืน ให้แก่ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
ปี 2560 - “โตไวไว”
โครงการ “โตไวไว” เป็นโครงการที่บริษัทฯ ร่วมมือกับนักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และชุมชน เดินหน้าสานต่อโครงการ “พีพี กำลังจะเปลี่ยนไป” ร่วมสร้างความตระหนักพร้อมผลักดันการร่วมดูแลรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศ และการคืนสมดุลธรรมชาติ ณ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก
• กิจกรรมปลูกต้นพีพีหรือต้นแสมขาว บริเวณรอบพื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านแหลมตง ซึ่งมีพื้นที่ป่าชายเลนที่เหมาะสมสำหรับการปลูกต้นพีพี โดยได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไม้จากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) หรือ สพภ.
• กิจกรรมปลูกปะการัง ด้วยวิธี Coral propagation ซึ่งเป็นการขยายพันธุ์โดยใช้ชิ้นส่วนทางธรรมชาติ ซึ่งมีอัตราการขยายพันธุ์ที่ดีขึ้นกว่าแบบเดิมๆ ที่บริเวณเกาะยูง ซึ่งถือเป็นแหล่งพ่อ-แม่พันธุ์ปะการังที่สำคัญของประเทศไทยเพื่อให้ปะการังได้ขยายพันธุ์ต่อไป
• กิจกรรมปล่อยปลาการ์ตูนสีส้มขาว บริเวณพื้นที่เกาะบิดะใน เกาะที่ได้ชื่อว่ามีดอกไม้ทะเล ซึ่งเป็นบ้านของปลาการ์ตูนจำนวนมาก ทั้งนี้ปลาที่ปล่อยไปได้รับการอนุบาลและฝึกการดำรงชีพใต้ท้องทะเล ในแบบจำลองธรรมชาติมาอย่างดียิ่ง เพื่อให้ปลาสามารถดำรงชีพและแพร่พันธุ์ต่อไปได้อย่างแท้จริง
โครงการนี้ ถือเป็นการสานต่อแนวคิดการประกอบธุรกิจที่ยั่งยืน ด้วยการสร้าง Collaborative Positive Impact (3R) โดยจะดำเนินในแนวทาง ‘Cloud to Coral’ การมุ่งเน้นที่จะลดคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการปลูกป่า โดยใช้ต้นไม้ท้องถิ่นนั้นๆ การลดขยะและเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน โดยการใช้ทรัพยากรอย่างรับผิดชอบ (Responsible Consumption) และสิ่งที่ท้าทาย คือ การรักษาความสมดุลระหว่างปริมาณนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นกับการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนไปคู่กัน โดยการบริหารจัดการต่างๆ อาทิ การทำ Zero Waste หรือการบริหารจัดการน้ำเสียและขยะอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ปล่อยของเสียกลับคืนสู่ธรรมชาติ และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพใต้ทะเล (Marine Biodiversity)
ปี 2561 – “การติดตามการฟื้นฟูปะการังฯ ด้วยภาพถ่ายทางอากาศ และเปิดศูนย์เรียนรู้ทางทะเล”
1) โครงการติดตามและฟื้นฟูปะการังในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศจากโดรน และการปลูกปะการังด้วยวิธี Coral Propagation บริเวณอ่าวมาหยา
• การศึกษารวบรวมข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศจากโดรน
ทำการรวบรวมข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ (Aerial Photo) ในอดีตจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) บริเวณเกาะยูงย้อนหลัง 4 ปี และทำการเข้าพื้นที่เกาะยูงเพื่อถ่ายภาพทางอากาศโดยใช้โดรน โดยจำกัดความสูง ที่ความถี่ทุก 4 เดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี แล้วนำภาพถ่ายมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบการเจริญเติบโตที่เปลี่ยนไปโดยใช้วิธีการตีตาราง Grid พร้อมทั้งการสำรวจความสมบูรณ์ของแนวปะการังโดยใช้วิธี Line Intercept Transect เป็นข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบร่วมด้วย
• การปลูกปะการังด้วยวิธี Coral propagation บริเวณอ่าวมาหยา
เตรียมกิ่งพันธุ์ปะการัง จำนวน 150 กิ่งจากแปลงอนุบาลลอยน้ำ บริเวณอ่าวโละบาเกาทุกๆกลางเดือน พ.ค. - ส.ค. แล้วนำมาปลูกติดกับหินปะการังที่ตายตามธรรมชาติด้วยวิธี Coral Propagation แล้วนำกลับไปที่บริเวณแปลงอนุบาล
ทำการย้ายปะการังจากแปลงอนุบาลไปยังพื้นที่ปลูกบริเวณอ่าวมาหยาในทุกๆ ต้นเดือน มิ.ย.-ก.ย. โดยย้ายปลูกบริเวณแนวปะการังทิศเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ ของอ่าวมาหยา รวมปะการังที่ย้ายปลูกทั้งสิ้น 500 กิ่ง และทำการติดตามผลการเจริญเติบโตของปะการังด้วยภาพถ่ายทางอากาศจากโดรนทุกๆ 1 เดือนในช่วงกิจกรรมการปลูก หลังจากนั้นจะติดตามผลการเจริญเติบโตของปะการังด้วยภาพถ่ายทางอากาศจากโดรนทุกๆ 4 เดือน รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ปี
2) ศูนย์เรียนรู้ทางทะเล (Marine Discovery Centre : MDC)” แหล่งเรียนรู้สำหรับให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตทางทะเลแก่บุคคลทั่วไป สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยศูนย์การเรียนรู้ทางทะเลแห่งนี้ จะเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ และการขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ ทั้งในประเทศไทย และทะเลทั่วโลกที่ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เข้าไปพัฒนาธุรกิจ เป็นศูนย์เพื่อการเรียนรู้ทางทะเล ในอนาคตที่จะช่วยผลักดันและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ SDGs : Sustainable Development Goals ในข้อ 14 คือ การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลอย่างรู้คุณค่า ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติที่มีทั้งสิ้น 17 ข้อ
โซนความรู้ต่างๆ ในศูนย์เรียนรู้ทางทะเล ประกอบด้วย
• โซนที่ 1 ห้องฉลาม เป็นห้องจัดแสดงที่ต้องการสื่อสารให้เห็นถึงความสมดุลของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ภายในห้องมีการจัดแสดงบอรด์นิทรรศการให้ความรู้ทางชีววิทยา และนิเวศวิทยาของปลาฉลามพันธุ์ต่างๆ นอกจากนั้นยังมีบ่ออนุบาลสัตว์ทะเลที่ได้รับ และทำพื้นที่บ่ออนุบาล เพื่อนำสัตว์ทะเลที่ติดอวนมาดูแลพักฟื้น ก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป
• โซนที่ 2 ห้องเรียนรู้เกี่ยวกับเกาะพีพี เป็นห้องจัดแสดงที่ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี แผนที่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ระบบนิเวศต่างๆ จุดดำน้ำที่น่าสนใจ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ บริเวณรอบ
• โซนที่ 3 ห้องปลาการ์ตูน เป็นห้องจัดแสดงพันธุ์ปลาการ์ตูนชนิดที่พบในประเทศไทย มีบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับปลาการ์ตูน สัตว์ทะเลมีพิษ ชีววิทยาของปะการัง วิธีการอนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการัง โดยนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล บอร์ด interactive games เนื้อหาเกี่ยวกับปลาการ์ตูน ที่จัดไว้สำหรับเด็กๆ และผู้มาเยี่ยมชม นอกจากนั้นภายในยังมีห้องปฏิบัติการ (Lab) สำหรับการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปลาการ์ตูน โดยทางศูนย์ฯ จะมีการจัดกิจกรรมปลูกปะการัง เพื่อฟื้นฟูปะการัง และกิจกรรมปล่อยปลาการ์ตูน เพื่อเตรียมปล่อยสู่ธรรมชาติต่อไป
• โซนที่ 4 ห้องออดิทอเรียม เป็นห้องที่ใช้สำหรับบรรยายความรู้ และข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบนิเวศทางทะเล นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ใช้เป็นห้องอบรมสำหรับนักเรียนที่มาออกค่ายในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพีอีกด้วย