IMF คงคาดการณ์ GDP โลกปีนี้ที่ 3.2% ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯและยูโรโซน
เศรษฐกิจโลก
IMF คงคาดการณ์ GDP โลกปีนี้ที่ 3.2% ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯและยูโรโซนที่อ่อนแอจะหนุน FED และ ECB ลดดอกเบี้ย ด้านจีนยังคงเผชิญกับการบริโภคภายในประเทศที่ซบเซา
สหรัฐฯ-เศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯชะลอตัว คาดเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 2.8% QoQ annualized จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.4% และสูงกว่าตลาดคาดที่ 2.0% อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน ยอดขายบ้านมือสองปรับตัวลง 5.4% MoM ต่อเนื่องเช่นเดียวกับยอดขายบ้านใหม่ที่ปรับตัวลง -0.6% MoM นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อ PCE ทั่วไปอยู่ที่ 2.5% YoY จากเดือนก่อนที่ 2.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ PCE พื้นฐานทรงตัวที่ 2.6% YoY
แม้ว่า GDP ไตรมาส 2 โตดีกว่าคาด แต่จากดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ เช่น ยอดขายบ้าน กิจกรรมการผลิต ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และอัตราการว่างงานที่ส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น สอดคล้องกับ IMF ที่ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 2567 จากเดิมโต 2.7% ลงมาที่ 2.6% นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจลดอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายนที่อาจสร้างความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในระยะถัดไป รวมทั้งการทรงตัวของเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) ล่าสุดวิจัยกรุงศรีจึงยังคงมุมมองว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีอยู่ที่ 4.75-5.00% จากระดับปัจจุบันที่ 5.25-5.50%
ยูโรโซน-เศรษฐกิจยูโรโซนผ่านจุดต่ำสุด แต่ยังมีแนวโน้มโตต่ำและมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ในเดือนกรกฎาคม ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและการบริการปรับลดลงสู่ระดับ 50.1 จากเดือนก่อนหน้าที่ 50.9 โดยภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 45.8 สู่ระดับ 45.6 ขณะที่ภาคการบริการชะลอลงจาก 52.8 ลงสู่ระดับ 51.9 นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายน สินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวเพียง 0.3% YoY
แม้ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาส 4/66 แต่แนวโน้มการเติบโตช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำและมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นมากขึ้นจาก (i) กิจกรรมภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่องและภาคบริการที่โตชะลอลง (ii) ยอดค้าปลีกที่โตต่ำขณะที่ภาคครัวเรือนมีอัตราการออมเงินพุ่งสูงขึ้น (iii) ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและจีนที่เพิ่มขึ้น และ (iv) IMF คาดการณ์ GDP ปี 2567 โตเพียง 0.9% ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดที่ 1.4% ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวรวมถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อคาดว่าจะนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพิ่มเติมในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม จากอัตราเงินเฟ้อภาคบริการรวมถึงค่าจ้างแรงงานที่ยังสูง วิจัยกรุงศรีคาดว่า ECB จะปรับลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ (ไม่ปรับลดในทุกการประชุม) ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีอยู่ที่ 3.25% จากระดับปัจจุบันที่ 3.75%
จีน-IMF คาดเศรษฐกิจจีนปีนี้โตได้ตามเป้าหมายที่ 5% ขณะที่ตัวเลขการบริโภคล่าสุดยังอ่อนแอแม้มีมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง สำหรับในปี 2567 IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ 5% แต่จะชะลอลงสู่ 4.5% ในปี 2568 และอาจเหลือเพียง 3.3% ภายในปี 2572 ส่วนในไตรมาส 2 เศรษฐกิจจีนโตต่ำกว่าคาดที่ 4.7% ตามการบริโภคที่ยังอ่อนแอต่อเนื่อง โดยยอดค้าปลีกในเดือนมิถุนายนขยายตัวเพียง 2% จาก 3.7% ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ ความกังวลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจหนุนให้จีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจาก 1.8% เป็น 1.7% และปรับลด Medium-Term Lending Facility (MLF) จาก 2.5% เป็น 2.3% รวมถึง Loan Prime Rate (LPR) ระยะ 1 ปี และ 5 ปี จาก 3.45% และ 3.95% เป็น 3.35% และ 3.85% ตามลำดับ
การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะได้แรงหนุนหลักจากภาคบริการและการส่งออก แต่ยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากการบริโภคที่อ่อนแอ ขณะที่มาตรการอุดหนุนการนำยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าไปแลกซื้อใหม่ (ล่าสุดขยายเพิ่มเติมอีก 41.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ประกอบกับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างครอบคลุมทั้งระบบ อาจช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภายในประเทศได้บ้างแม้ผลบวกยังจำกัด ขณะเดียวกันข้อเสนอการปฏิรูปเชิงโครงสร้างกว่า 300 รายการในการประชุม Third Plenum ซึ่งมีแผนจะบรรลุภายในปี 2572 (เช่น ลดอุปสรรคการแข่งขันในตลาด ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี ลดหนี้ซ่อนเร้นและหนี้รัฐบาลท้องถิ่น เพิ่มอัตราการเกิด) น่าจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่ากระตุ้นการเติบโตในระยะสั้น
เศรษฐกิจไทย
การส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัว 2.0% คาดทั้งปีมีแนวโน้มเติบโตได้ 1.8% ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตกำหนดให้ประชาชนเริ่มลงทะเบียนรับสิทธิได้ต้นเดือนสิงหาคมนี้
มูลค่าส่งออกเดือนมิถุนายนหดตัวลงเล็กน้อย คาดทั้งปียังมีแนวโน้มเติบโตต่ำ กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 24.8 พันล้านดอลลาร์ หดตัว 0.3% YoY ชะลอลงจากเดือนพฤษภาคมที่ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือนที่ 26.2 พันล้านดอลลาร์ และหากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ มูลค่าส่งออกหดตัว 1.6% โดยการส่งออกสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ น้ำตาลทราย (-51.9%) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (-37.8%) แผงวงจรไฟฟ้า (-21.4%) และผลิตภัณฑ์ยาง (-7.9%) ขณะที่การส่งออกในบางกลุ่มขยายตัว อาทิ ข้าว (+96.6%) ยางพารา (+28.8%) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (+22.0%) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+20.1%) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+13.5%) ด้านตลาดส่งออกพบว่าหดตัวในตลาดหลักอาทิ จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน5 ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และ CLMV ขยายตัว สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มูลค่าการส่งออกขยายตัว 2.0%
การส่งออกในเดือนมิถุนายนกลับมาหดตัวเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมที่เติบโตสูงในเดือนก่อน (+36.3%) พลิกกลับมาหดตัว (-2.2%) หลังจากเข้าสู่ช่วงท้ายของฤดูกาล จึงมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าการส่งออกของไทยยังเผชิญแรงกดดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต ขณะเดียวกันสินค้าส่งออกของไทยมีความเชื่อมโยงกับการค้าโลกน้อยลง ซึ่งจากการวิเคราะห์ของธปท.ชี้ว่าบทบาทของไทยมีจำกัดในห่วงโซ่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลก นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนมีแนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้น รวมถึงปัญหา overcapacity ของจีน ซึ่งก่อให้เกิดการไหลทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ตลาดโลก และกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยเพิ่มเติมในสินค้ากลุ่มเสี่ยง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ วิจัยกรุงศรีประเมินการส่งออกในปีนี้อาจมีแนวโน้มเติบโตในระดับต่ำที่ 1.8%
รัฐบาลแจงไทม์ไลน์เปิดลงทะเบียนสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีกำหนดการที่จะเริ่มให้ใช้จ่ายได้ภายในไตรมาสสี่ของปีนี้ ล่าสุดวันที่ 24 กรกฏาคม กระทรวงการคลังชี้แจงช่วงเวลาที่จะเปิดให้ลงทะเบียนขอรับสิทธิในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยจำแนกเป็น 3 กลุ่ม คือ (i) วันที่ 1 สิงหาคม ถึง 15 กันยายน สำหรับประชาชนที่มีสมาร์ทโฟนลงทะเบียนผ่าน Application “ทางรัฐ” (ii) วันที่ 16 กันยายน ถึง 15 ตุลาคม สำหรับประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน และ (iii) ตั้งแต่วันที่ 1 ตลาคม สำหรับร้านค้า (รอการชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ ii และกลุ่มที่ iii ในระยะถัดไป) ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนกำหนดการจะให้เริ่มใช้จ่ายในโครงการนี้ได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
การกำหนดไทม์ไลน์สำคัญของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่แม้จะยังมีรายละเอียดไม่ครบถ้วนชัดเจน แต่ถือเป็นความคืบหน้าเพิ่มเติมต่อเนื่องหลังจากเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาซึ่งรัฐบาลได้มีการปรับวงเงินของโครงการลงเหลือ 4.5 แสนล้านบาท และใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 1.65 แสนล้านบาท (ประกอบด้วย งบฯ เพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท และงบฯจากการบริหารจัดการ 0.43 แสนล้านบาท) และจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท (ประกอบด้วย การจัดตั้งงบฯ 1.52 แสนล้านบาท และการบริหารจัดการงบอื่นๆ 1.323 แสนล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามกระบวนการจัดทำงบประมาณดังกล่าว รวมถึงปัจจัยทางการเมืองในประเทศจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยต่อคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ในวันที่ 14 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ขณะที่ล่าสุดกระทรวงการคลังมีการปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขยายตัวเป็น 2.7% จากเดิมคาด 2.4% โดยระบุว่าไม่นับรวมโครงการดิจิทิลวอลเล็ต