ชป.เดินหน้าแผนพัฒนากุมภวาปี เพิ่มพื้นที่เกษตร-ยันไม่กระทบทะเลบัวแดง

ชป.เดินหน้าแผนพัฒนากุมภวาปี เพิ่มพื้นที่เกษตร-ยันไม่กระทบทะเลบัวแดง

 

 

 

 

 

 

 

ชป.เดินหน้าแผนพัฒนากุมภวาปี เพิ่มพื้นที่เกษตร-ยันไม่กระทบทะเลบัวแดง

 

 

กรมชลประทานเดินหน้าแผนปฏิบัติการณ์ 5 ปี วงเงิน 1,756 ล้านบาท ผุดโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่เกษตร 20,000 ไร่และลดพื้นที่น้ำท่วม 21,000 ไร่ พร้อมให้ความมั่นใจ แผนพัฒนาไม่กระทบกับ ทะเลบัวแดง


นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะ นำสื่อมวลชนสัญจรติดตามโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี พร้อมระบุด้วยว่า หนองหานกุมภวาปี เป็นจุดรวมลำห้วย 8 สาย เป็นต้นน้ำของลำน้ำปาว ไหลไปลงเขื่อนลำปาวที่ จ.กาฬสินธุ์ ในปี 2539 กรมส่งเสริมพัฒนาพลังงาน สร้างที่นี่ขึ้นมาเรียกว่า ฝายกุมภวาปี ประกอบด้วย ประตูควบคุมน้ำขนาดใหญ่ คันดินยาว 112 กม. อาคารระบายน้ำ 58 แห่ง สถานีสูบน้ำ 14 สถานี คลองส่งน้ำดาดคอนกรีตยาว 111 กม. เป้าหมายพื้นที่ชลประทาน 48,000 ไร่ แต่ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้เต็มที่ 106 ล้าน ลบม.เพราะมีน้ำท่วมนอกคันดิน จึงเก็บกักน้ำไว้ได้เพียง 70-80 ล้าน ลบม.


กรมชลประทานรับถ่ายโอนมาปี 2553 ปัจจุบันโครงการผ่านการใช้งานมากกว่า 20 ปี การบริหารจัดการน้ำไม่มีประสิทธิภาพ จึงได้ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ เปลี่ยนเครื่องปั้ม-ท่อและสร้างคลองส่งน้ำรางยู แทนคลองสี่เหลี่ยมคางหมู และให้ที่ปรึกษามาศึกษาความเหมาะสม ตั้งแต่ 6 พ.ค.60 – 1 ส.ค. 61 สรุปข้อเสนอ สร้างประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำปากลำห้วย 8 แห่ง สร้างสถานีสูบน้ำเพิ่ม 9 แห่ง ปรับปรุงอาคารระบายน้ำ 33 แห่ง ปรับปรุงคูระบายน้ำ 43 กม.และเปลี่ยนท่อส่งน้ำ 13 กม.ในแผนปฏิบัติการณ์ 5 ปี วงเงิน 1,756 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่เกษตร 20,000 ไร่ และลดพื้นที่น้ำท่วม 21,000 ไร่


รองอธิบดีกรมชลประทาน ยังยืนยันว่า แผนพัฒนาที่เสนอจะไม่กระทบกับ ทะเลบัวแดง เพราะระดับน้ำยังไม่เกินกว่าระดับน้ำโครงการเดิม อีกทั้งยังสามารถบริหารจัดการน้ำดีขึ้น ทั้งนี้บริษัทฯได้นำเสนอแนวทาง ในการระบายน้ำด้านนอกคันดิน ให้น้ำจาก 8 ลำห้วย ไหลอ้อมหนองหานกุมภวาปี ไปลงยังลำน้ำปาว หลังประตูระบายน้ำได้อีกทางหนึ่ง แต่อยู่นอกเหนือการศึกษา ยังไม่มีรายละเอียดต้องศึกษาเพิ่มเติม และเสนอให้มีการศึกษาความเหมาะสม ฝายบ้านกุดนาค้อ ต.ตาดทอง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี อยู่ท้ายน้ำของลำน้ำปาว จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 10,000 ไร่


“โครงการฯนี้เกิดมาแล้วกว่า 20 ปี อาคารที่มีอยู่ คลองส่งน้ำ ชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก อาคารควบคุมปล่อยน้ำปิดเปิดอัตโนมัติไม่ทำงาน ไม่สามารถส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพได้ จากสภาพภูมิประเทศที่เปลี่ยนไป มีผลกระทบกับอาคารชลประทาน น้ำที่เคยเก็บเต็มศักยภาพ 106 ล้าน ลบ.ม.แต่เก็บได้เพียง 70 ล้าน ลบ.ม.เพราะมีการรั่วออกไปมาก แต่พอหน้าน้ำน้ำที่นี่เต็ม ไม่สามารถระบายไปไหนได้ ภายนอกก็เต็มพื้นที่การเกษตรก็ถูกน้ำท่วมด้วย และหากสามารถบริหารจัดการน้ำได้ดี ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับแหล่งท่องเที่ยว”ทะเลบัวแดง” แต่จะส่งผลดีให้มีบัวบานมากขึ้น ส่วนระบบนิเวศซึ่งในพื้นที่มีโรงงานน้ำตาล เกษตรกร ที่ต้องการใช้น้ำดี ชลประทานมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ดูว่าปริมาณออกซิเจนมีเท่าไหร่ เพราะนอกจากเกษตรกรใช้น้ำเราแล้ว น้ำประปาของอำเภอก็ใช้จากที่นี่ปีละเกือบ 10 ล้าน ลบ.ม.ฉะนั้นน้ำที่นี่ต้องสะอาด เราจึงต้องช่วยกันดูแล” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวสรุป

 

 

ทะเลบัวแดงแห่งหนองหาน
มหัศจรรย์แห่งกุมภวาปี


หนองหาน กุมภวาปี จ.อุดรธานี ไม่ใช่หนองหาน จ.สกลนคร
หนองหาร สกลนคร ได้ชื่อเป็นหนองหารหลวง ในขณะหนองหาน กุมภวาปี ได้ชื่อหนองหารน้อย

แม้สะกดต่างกัน แต่อ่านเหมือนกันว่า หนอง-หาน ความหมายเดียวกัน นอกจากถิ่นอีสานแล้ว หาร-หาน ยังปรากฏคำนี้เป็นหนองน้ำในถิ่นใต้อีกด้วย

ทะเลบัวแดงเป็นทะเลสาบมหัศจรรย์อันดับ 2 ของโลกที่สำนักข่าวCNN เลือก เพราะนอกจากน้ำแล้ว ยังมีทะเลบัวแดงที่บานแดงสะพรั่งละลานตาในช่วงปลายปี ตั้งแต่ตุลาคม-มีนาคม

ทะเลบัวแดง เริ่มเป็นแหล่งเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากขึ้นตามลำดับ
"เดิมมีท่าเรือสำหรับนักท่องเที่ยวเช่าเรือไปดูดอกบัวแดงในหนองหานเพียงท่าเดียว ปัจจุบันเพิ่มขึ้นหลายท่าเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทึ่หลั่งไหลเข้าไปชมบัวงาม" นายนภดล น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี กรมชลประทานเล่า

บัวแดงเหล่านี้เป็นบัวสายและเป็นบัวธรรมชาติ น่าจะมีอยู่นานแล้ว จนเมื่อกระแสน้ำพัดเอาตะกอนน้ำลอยได้ออก เปิดที่ว่างให้แสงอาทิตย์ส่องถึง บัวแดงจึงเจริญเติบโตให้ดอก แรกๆไม่มากและไม่พร้อมกัน นานวันเข้ากระจายไปกว้างสีสันแดงสะพรั่งไปทั่วท้องน้ำด้านเหนือของหนองหาน ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าหาไม่ต่างจากฝูงแมลงภู่ผึ้ง

"ในทางชลประทาน เราถือเป็นวัชพืช แต่เมื่อเป็นทะเลบัวแดงและเป็นแหล่งท่องเที่ยว เราก็ต้องทำให้อยู่ร่วมกันให้ได้เพื่อประโยชน์ของชาวบ้านและประเทศ"

แผนการพัฒนาหนองหาน โดยเพิ่มความจุหนองหานจากปัจจุบัน 70 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 106 ล้านลูกบาศก์เมตร นายนภดลกล่าวว่า ไม่กระทบต่อบัวแดง เพราะเป็นระดับเดิมของหนองหานและบัวแดงสามารถยืดก้านใบขึ้นมาได้ จึงไม่ใช่ประเด็นปัญหา กลับกันน้ำที่เพิ่มขึ้น36 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังทำให้ทะเลบัวแดงน่าเดินทางเข้าไปชมมากขึ้นหลังหมดฤดูฝนที่สิ้นสุดในเดือนตุลาคม ซึ่งบัวแดงเริ่มผลิดอกและบานนานจนถึงกุมภาพันธ์หรือมีนาคม

 


สอบถามรายละเอียดได้ที่
กรมชลประทาน
811 ถนนสามเสน แขวง ถนนนครไชยศรี เขต ดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ :: 02 241 0740