คปภ. คลอดประกันภัย 7 บาท และประกันภัย 10 บาทพลัส โดยผนึกกำลังกับผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการฯ

คปภ. คลอดประกันภัย 7 บาท และประกันภัย 10 บาทพลัส โดยผนึกกำลังกับผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการฯ

 

 

 

 

คปภ. คลอดประกันภัย 7 บาท และประกันภัย 10 บาทพลัส โดยผนึกกำลังกับผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการฯ มอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน • ศิลปินดังและภาคธุรกิจร่วมจัดงานเปิดตัวโครงการฯ คาดกระแสตอบรับทะลุเป้า

 


ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. มีมาตรการเชิงรุกในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย และส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ได้มีการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้เอาประกันภัย ให้ได้รับความคุ้มครองที่ตรงกับความต้องการด้วยเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้เอาประกันภัยอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มสงกรานต์สุขใจ (ไมโครอินชัวรันส์) หรือประกันภัย 10 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มียอดจำหน่ายสูงถึง 1,327,193 ราย เพิ่มขึ้น 21.04 เท่า เมื่อเทียบกับกรมธรรม์ประกันภัย 100 ที่มียอดจำหน่าย 63,069 ราย ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 94.75 เท่า เมื่อเทียบกับกรมธรรม์ประกันภัย 222 ที่มียอดจำหน่าย 14,006 ราย ในช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากรมธรรม์ประกันภัยสงกรานต์อุ่นใจ หรือ ประกันภัย 10 บาท ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน และเป็นการพัฒนาต่อยอดกลยุทธ์ Connectivity เพื่อเชื่อมโยงระบบประกันภัยเข้ากับสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับการพัฒนาช่องทางการเข้าถึงระบบประกันภัยมากขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการด้านการประกันภัยของประชาชน โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงในการเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่กำลังจะมาถึง เลขาธิการ คปภ. จึงนำแนวคิดประกันภัย 10 บาท ซึ่งเป็นโครงการนำร่องและประสบความสำเร็จ มาต่อยอดพัฒนาเป็นกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม 7 บาท ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยที่ลดลงจาก 10 บาท เป็น 7 บาท และกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม 10 บาทพลัส ซึ่งมีความคุ้มครองในส่วนของค่ารักษาพยาบาลด้วย โดยกรมธรรม์ ทั้งสองแบบคุ้มครองเป็นระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ทำประกันภัย ในช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2562 โดยผู้ที่มีสิทธิเอาประกันภัยต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปี ถึง 70 ปีบริบูรณ์


ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัย 7 บาท จะให้ความคุ้มครองเหมือนกับประกันภัย 10 บาทเดิม โดยคุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ มือ เท้า สูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกายและ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครอง 100,000 บาท กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะมือ เท้า สูญเสียสายตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครอง 50,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 15 วันแรก นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย) จำนวน 5,000 บาท ส่วนกรมธรรม์ประกันภัย 10 บาทพลัส นอกจากจะให้ความคุ้มครองเหมือนกับกรมธรรม์ประกันภัย 7 บาทแล้ว ยังเพิ่มเติมความคุ้มครองในส่วนของค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุจ่ายตามจริงไม่เกิน 5,000 บาท


เพื่อแนะนำกรมธรรม์ประกันภัย 7 บาท และ 10 บาทพลัส สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดงานเปิดตัวกรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่อุ่นใจด้วยประกันภัย 7 บาท (ไมโครอินชัวรันส์) และกรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่อุ่นใจด้วยประกันภัย 10 บาทพลัส (ไมโครอินชัวรันส์) ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ณ สำนักงาน คปภ. โดยมีศิลปินดาราชื่อดัง พร้อมผู้บริหารของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ มาร่วมงานเปิดตัวด้วย


เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่อุ่นใจด้วยประกันภัย 7 บาท (ไมโครอิน ชัวรันส์) และกรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่อุ่นใจด้วยประกันภัย 10 บาทพลัส (ไมโครอินชัวรันส์) ครั้งนี้ ถือเป็นของขวัญให้กับประชาชนคนไทยที่ได้นำผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีราคาถูกอยู่แล้วมาพัฒนาต่อยอดและเพิ่มความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุเข้าไปด้วยราคาที่ถูก เพื่อขยายฐานการประกันภัยให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้นในราคาที่ผู้ประกอบการสามารถซื้อ เพื่อมอบความคุ้มครองให้กับพนักงานลูกจ้างของตน รวมทั้งลูกค้าผู้มีอุปการคุณ หรือบุคคลทั่วไปรวมตัวกันเป็นกลุ่มก็สามารถซื้อได้ ซึ่งสามารถซื้อได้โดยตรงที่บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 21 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทประกันชีวิต 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท เอไอเอ จำกัด บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท สหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)และบริษัทประกันวินาศภัย 16 บริษัท ได้แก่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)


บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนชาต ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิกน่า ประกันภัย จำกัด บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เจพี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัทเจนเนอราลี่ ประกันภัย (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน)


ในการนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ผนึกกำลังร่วมกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนให้การสนับสนุนกรมธรรม์ประกันภัย 7 บาท และ 10 บาทพลัส เพื่อมอบเป็นของสมนาคุณในช่วงเทศกาลปีใหม่ให้กับลูกค้า ผู้ใช้บริการ หรือพนักงานลูกจ้างขององค์กร ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในเบื้องต้น ได้แก่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าที่ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเอไอเอส บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าที่ชำระค่าสินค้าหรือบริการ บริษัท เทสโก้ เจเนอรัล อินชัวรันส์โบรคเกอร์ จำกัด มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าบัตรเครดิต Tesco บริษัท บิ๊กซี อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าที่ใช้บริการที่เคาน์เตอร์บิ๊กเซอร์วิส และเป็นสมาชิกบิ๊กการ์ด (Big C) ธนาคารออมสิน มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าที่ใช้บริการของธนาคารออมสิน และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าที่เป็นสมาชิกบัตรบางจากทุกประเภท


เมาไม่ขับ พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมสภาพร่างกายและตรวจสภาพรถให้พร้อม และปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญก่อนการเดินทาง ขอให้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยและวันหมดอายุของการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ด้วย แม้ว่าการทำประกันภัยไม่สามารถป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่การบริหารความเสี่ยงเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงภัย หากเกิดอุบัติเหตุแล้วการประกันภัยสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงินได้ หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการประกันภัย ตลอดจนประกันภัย 7 บาท และประกันภัย 10 บาทพลัส สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย