CHANGE Today : สุทธิคุณ กองทอง
๙ ร่วมสร้าง ตามรอยพ่อ...
ต่อลมหายใจให้ “บ้านชินประชา”
เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศที่เคยไปเที่ยวจังหวัดภูเก็ต คงได้เคยไปเยี่ยชม “บ้านชินประชา” กันอย่างแน่นอน แต่จากคำบอกเล่าจาก นางจรูญรัตน์ ตัณฑวณิช หรือ ป้าแดง เจ้าของบ้านชินประชา กำลังถูกนายทุนเข้ามาฮุบเป็นเจ้าของเสียแล้ว เป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศต้องร่วมด้วยช่วยกัน !!!
แต่สาเหตุ ที่บ้านชินประชาหลังนี้กำลังถูกยึดหรือถูกขายทอดตลาดครั้งนี้ เรื่องราวความเป็นมาก็มีอยู่ว่า ลูกชายคนเล็กกับลูกสะใภ้ของ “ป้าแดง” เข้ามาพูดคุยแล้วมีความประสงค์ที่จะสืบทอดเจตนารมณ์เดียวกับป้าแดงในการอนุรักษ์ “บ้านชินประชา” ให้ดำรงอยู่คู่เมืองภูเก็ตต่อไป แล้วในที่สุดก็มีการโอน “บ้านชินประชา” ให้เป็นชื่อของลูกชาย…
เบื้องต้น “ป้าแดง” เล่าว่า ก่อนโอน “บ้านชินประชา” เพื่อให้ลูกชายและลูกสะใภ้มีสัจจะ จึงได้มีการสาบานกันเกิดขึ้นในห้องบูชาบรรพบุรุษว่าจะรักษา “บ้านชินประชา” ไม่ให้ไปตกอยู่ในมือของกลุ่มนายทุน แต่คำสาบานไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย วันเวลาผ่านไปไม่ได้เป็นไปดัง คำสัญญาหรือสาบานแต่อย่างใด ลูกชายและลูกสะใภ้ได้มีการฟ้องร้องขับไล่แม่(ป้าแดง) ให้ออกไปจาก “บ้านชินประชา” และเรียกค่าเสียหายด้วยวงเงิน 70 ล้านบาท
ล่าสุด !!!! ศาลจังหวัดภูเก็ต พิพากษาให้ “ป้าแดง” ชดใช้เงินให้กับลูกชายเป็นจำนวน 37.5 ล้านบาท?...
ทุกวันนี้ “ป้าแดง” ยอมรับว่าได้แต่ร้องไห้ทุกวัน ไม่นึกว่า ลูกชายและลูกสะใภ้ จะกล้าที่กระทำต่อผู้เป็นแม่ได้เช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ในลมสุดท้ายของ “ป้าแดง” ครั้งนี้ วอนและขอร้องคนไทยที่ใจบุญ หรือผู้ใหญ่ที่ใจบุญ ขอให้เข้ามาร่วมช่วยปกป้อง “บ้านชินประชา” ให้มีลมหายใจเพื่ออยู่เป็นสัญลักษณ์ให้กับภูเก็ตต่อไป ด้วยการบริจาคเงินคนละ ๙ บาท
สำหรับผู้มีจิตศรัทธา ๙ ร่วมสร้าง ตามรอยพ่อ... ต่อลมหายใจให้ “บ้านชินประชา”
ติดต่อ บ้านชินประชา ตั้งอยู่ เลขที่ 98 ถ.กระบี่ ต.ตลาดเหนือ อ.เมืองจ.ภูเก็ต
โทร 076-211281,โทร076-211167
ประวัติ บ้านชินประชาสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2446(ค.ศ.1903)หรือในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระพิทักษ์ชินประชา(ตันม่าเสียง) บิดาของท่านคือ หลวงบำรุงจีนประเทศ(ตันเนียวยี่) ท่านถือกำเนิดในประเทศจีนมณฑลฮกเกี้ยน รับราชการทหารในตำแหน่ง “บู๊เต็กจงกุน” ต่อมาท่านได้เดินทางมายังประเทศไทยในปี พ.ศ.2397(ค.ศ.1854)หรือในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4ได้ประกอบกิจการเหมืองแร่ดีบุกที่เกาะภูเก็ต และกิจการค้าขายที่เกาะปีนังในนามยี่ห้อ “เหลียนบี้ พระพิทักษ์ชินประชา(ตันม่าเสียง) ถือกำเนิดที่เกาะภูเก็ตในปีพ.ศ.2426 เมื่ออายุได้ 20 ปีท่านได้สร้างบ้านหลังนี้ตามแบบ “ชิโน – โปรตุกีส” เป็นหลังแรกของจังหวัดภูเก็ต หรือที่เรียกกันว่า “อังม่อเหลา” เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษจีน วัสดุส่วนอื่นของบ้านนั้น ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากการค้าขายทางเรือ ผ่านเกาะปีนังมายังภูเก็ต เช่นรั้วบ้านจากฮอลแลนด์ กระเบื้องปูพื้นจากอิตาลี่ฯลฯ ณ ปัจจุบัน “บ้านชินประชา” อายุมากกว่า 101ปีและมีลูกหลานนับเนื่องเป็นรุ่นที่ 6
นางจรูญรัตน์ ตัณฑวณิช หรือ ป้าแดง ภรรยาคุณประชา ตัณฑวณิช ทายาทรุ่นที่ 4 (ถึงแก่กรรมแล้ว) เล่าว่า พระพิทักษ์ชินประชา เป็นลูกชายหลวงบำรุงประเทศ (ตันเนียวยี่) ชาวมณฑลฮกเกี้ยน ที่เดินทางมาประกอบธุรกิจในประเทศไทยและเกาะปีนัง จนร่ำรวยถึงขั้นเศรษฐี และให้กำเนิดลูกชายคนโต คือ พระพิทักษ์ชินประชา ที่จังหวัดภูเก็ต
เมื่ออายุได้ 20 ปี พระพิทักษ์ชินประชาเริ่มสร้างบ้านหลังนี้ตามรูปแบบชิโน-โปรตุกีส เป็นหลังแรกของจังหวัดภูเก็ต หรือที่เรียกกันว่า "อังม่อเหลา" ด้วยตั้งใจว่าจะใช้เป็นเรือนหอ ใช้เวลาสร้างกว่า 2 ปีจึงแล้วเสร็จ ทว่า ภรรยากลับไม่ยอมย้ายมาอยู่ เนื่องจากสมัยนั้นบ้านหลังนี้อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ทั้งยังเป็นป่ารก พระพิทักษ์ชินประชาจึงเปิดบ้านนี้ไว้รับแขกและเพื่อนๆ ที่มาจากต่างจังหวัด
พระพิทักษ์ชินประชา เป็นนายเหมืองผู้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับภูเก็ตมาก และด้วยตระหนักถึงความสำคัญด้านการศึกษา จึงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนตัวสร้างโรงเรียนสตรีให้ชาวภูเก็ต ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่า "โรงเรียนสตรีตัณฑวณิชวิทยาคม" เป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีที่ปรากฏมาถึงทุกวันนี้ ส่วนบ้านชินประชา นั้นเป็นมรดกตกทอดชิ้นสำคัญที่ลูกหลานยังคงรักษาไว้ คล้ายเป็นที่ระลึกแห่งความทรงจำ
อักษรภาษาจีนที่อยู่เหนือประตูบ้านสลักคำว่า "เหลียนบี้" ซึ่งเป็นชื่อยี่ห้อสินค้าของหลวงบำรุงประเทศ ป้าแดง บอกว่า เหลียนบี้ แปลว่า ภูเขาดอกบัว เหตุที่นำอักษรสลักมาติดไว้ที่ประตูก็เพื่อเตือนใจให้รำลึกถึงความเหนื่อยยากของบรรพบุรุษที่ต่อสู้มาจนมีวันนี้
ลักษณะบ้านชินประชา เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ทางเข้ามีมุขยื่นออกมา หลังคาจั่ว ทาสีบ้านเป็นสีขาว ที่ประหน้าต่างทาสีเทา สีฟ้า ส่วนประตูหน้าสลักลวดลายและลงรักปิดทอง สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในความเป็นชิโน-โปรตุกีส หรือศิลปะผสมผสานของชาติตะวันออกกับตะวันตกของบ้านชินประชา คือ ซุ้มประตูมีลวดลายแบบโปรตุกีส หน้าต่างโปร่งเป็นแบบดัตช์ แต่ด้านข้างและด้านบนหน้าต่างมีลวดลายสวยงามตามอย่างฝรั่งเศส ส่วนลวดลายแกะสลักลงรักปิดทองสวยงามตามรูปแบบจีน ฯลฯ
สังเกตที่ประตูข้างบ้าน มีรถลากประดับด้วยผ้าแพรสีสันสวยงามจอดอยู่ ป้าแดง บอกว่า บ้านชินประชา เป็นสถานที่จำลองการจัดงานแต่งงานแบบจีนโบราณผสมผสานรูปแบบพื้นเมืองภูเก็ตที่เรียกว่า "บาบ๋า" ซึ่งเมื่อถึง บ้านชินประชา ก็จะเปิดรับคู่รักคู่แต่งงานที่ประสงค์จะถ่ายภาพร่วมกัน ณ เคหสถานแห่งนี้
เมื่อเปิดประตูผ่านเข้าไปในตัวบ้าน สิ่งแรกที่สร้างความแปลกตาให้กับผู้พบเห็นก็คือ "ซิมแจ้" หรือ บ่อน้ำกลางบ้าน ป้าแดงบอกว่า ซิมแจ้ เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของบ้านชินประชา ซึ่งนอกจากจะช่วยระบายอากาศ ทำให้บ้านไม่ร้อนแล้ว ยังถูกหลักฮวงจุ้ยด้วย
สีสวยๆ ของกระเบื้องปูพื้น เป็นอีกหนึ่งความสนใจที่จะพลาดชมไม่ได้ เพราะพื้นหินอ่อนลายๆ แบบนี้สั่งมาโดยตรงจากประเทศอิตาลี วัสดุที่มาพร้อมๆ กัน คือรั้วบ้านจากฮอลแลนด์ เป็นรั้วเหล็กที่สั่งหล่อพิเศษเป็นรูปดอกไม้ ปัจจุบันไม่มีให้ชมแล้ว เพราะการปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ทำให้มีการทุบทิ้งโบราณวัตถุที่เป็นสมบัติของประเทศชิ้นนี้ไป
เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นมรดกตกทอดที่หลวงบำรุงประเทศนำมาจากเมืองจีน อย่างเก้าอี้มุขกับเครื่องกังไสก็เป็นอุปกรณ์ถ่วงน้ำหนักเรือ ในคราวที่อพยพมาเมืองไทยด้วยเรือสำเภา นอกจากนี้ยังมีเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ที่โดยมากซื้อหามาจากเกาะปีนัง ด้วยสมัยนั้นการซื้อขายทางเรือผ่านเกาะปีนังสะดวกกว่าเดินทางเข้ามาเมืองหลวงมาก ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ที่มีจำหน่ายบนเกาะปีนังก็มักจะเป็นสินค้าจากประเทศตะวันตก เจ้าของบ้านจึงหาซื้อมาใช้สอยเพื่อความสะดวกสบายตามแบบฉบับเจ้าสัวกิจการเหมืองแร่ ซึ่งร่องรอยความทันสมัยในยุคนั้นที่ผ่านมาถึงยุคนี้ ได้แก่ นาฬิกาผู้หญิงถือโคมไฟมาจากฝรั่งเศส เตียงนอนทรงหรูจากอังกฤษ พัดลมใช้น้ำมันก๊าดจากอเมริกา ชุดเฟอร์นิเจอร์ไม้จากปีนัง ฯลฯ และบ้านชินประชาหลังนี้เคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ไทย และต่างประเทศมาแล้วหลายเรื่อง
เชื่อความศรัทธาจะช่วยต่อลมหายใจ “บ้านชินประชา” ??????
ขอบคุณข้อมูล
(ตามตะวัน)ปาณิศรา ชูผล มทศ.
สารานุกรม มทศ.
(ตามตะวัน)ปาณิศรา ชูผล มทศ.
สารานุกรม มทศ.