เมื่อลมหายใจยังมี หมั่นทำความดีให้ถึงที่สุด โชคดี ที่มีลมหายใจ
เมื่อลมหายใจยังมี หมั่นทำความดีให้ถึงที่สุด โชคดี ที่มีลมหายใจ
บทธรรมที่กลั่นเพื่อคุณค่าแห่งทุกลมหายใจ
สำนักพิมพ์วิช ร่วมกับ สำนักพิมพ์บุ๊คสไมล์ เปิดตัวหนังสือธรรมะ โชคดีที่มีลมหายใจ “ลมหายใจยังมี ทำความดีให้ถึงที่สุด”
“โชคดีที่มีลมหายใจ” หนังสือที่รวบรวมธรรมะบรรยายในวาระต่าง ๆ ของ พระครูปลัดสัมพิพัฒนธีราจารย์ (พระมหาวีรพล วีรญาโณ) พระธรรมวิทยากร ประธานเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา ผ่านเรื่องเล่าที่สอนให้เรารู้ว่า จงรู้สึกถึงความโชคดีที่เรายังมีลมหายใจ และได้เริ่มต้นชีวิตในแต่ละวันอย่างมีคุณค่า แม้ที่ผ่านมาจะทำสิ่งใดผิดพลาด แต่ชีวิตที่เหลืออยู่ คือโอกาสสำคัญที่จะได้เปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น
มีคนมาชมเรา โยมชอบไหม ?
มีใครมาด่าเรา โยมเกลียดไหม ?
ในแต่ละวัน ชีวิตเราชมคนอื่น กับนินทาคนอื่น โยมทำสิ่งไหนมากกว่ากัน ?
หากมีใครมานินทาว่าร้าย ภาวนาในใจบ่อย ๆ ว่า “ปากคุณ หูฉัน” เราห้ามปากเขาไม่ได้ ห้ามหูเราน่าจะง่ายกว่า แต่ทุกครั้งที่เราคิด พูด ทำ สิ่งที่แสดงออกไปคือผลที่จะกลับมาหาตัวเรา เพราะทุกอย่างเป็นไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติล้วนเกื้อกูลกันอยู่
“เรายกย่องเขา เขาก็ยกย่องเรา
เราเหยียบย่ำเขา เขาก็เหยียบย่ำเรา”
มีสุภาษิตจีนบทหนึ่งสอนว่า...
“อยากมีความสุข ๑ ชั่วโมง ให้นอนหลับพักผ่อน”
เมื่อเรารู้สึกเหนื่อยล้า ทนไม่ไหวจริง ๆ ก็อย่าไปฝืน นอนเป็นนอน พักเป็นพัก เดี๋ยวค่อยเริ่มต้นกันใหม่
“อยากมีความสุข ๑ วัน ให้ออกไปตกปลา”
เป็นการพักผ่อน เช่น พาครอบครัวไปเที่ยว ไปเยี่ยมผู้ใหญ่ ไปไหว้พระทำบุญ แบ่งปันบริจาคทาน
วิธีสร้างความสุขและสร้างสมดุลชีวิตใน ๑ วัน มีสูตรการบริหารเวลาให้คุ้มค่าง่าย ๆ คือ “๘ + ๘ + ๘” นอนพักผ่อน ๘ ชั่วโมง ทำงาน ๘ ชั่วโมง มีเวลาให้กับครอบครัว ๘ ชั่วโมง ถ้าใช้สูตรนี้ ความสุขย่อมเกิดขึ้น ความสมดุลชีวิตก็ทำหน้าที่
“อยากมีความสุข ๑ เดือน ให้แต่งงาน”
เราจะมีความสุขในช่วงเริ่มต้น หลังจาก ๑ เดือน ไปแล้ว ความจริงในชีวิตจะปรากฏ สุข ทุกข์ เริ่มทำหน้าที่ คล้าย ๆ กับช่วงรักหมดโปรโมชั่น แต่ก็พึงประคับประคองใจ บริหารความสุขให้ต่อเนื่อง
“อยากมีความสุข ๑ ปี ให้รับมรดก”
หลังจาก ๑ ปีไปแล้ว พี่ฟ้องน้อง น้องฟ้องพี่ ญาติพี่น้องทะเลาะเบาะแว้ง เพราะพ่อแม่ไม่อยู่ เป็นความโชคดีของเรา ที่เราเกิดมา พ่อแม่มีทรัพย์สินน้อย จะได้ไม่ตัดพี่ตัดน้อง ด้วยเพียงกระดาษใบบาง ๆ ที่เรียกว่า ธนบัตร ที่มีความคมมาก อาจถึงขั้นตัดพี่ตัดน้องกันได้ เราโชคดีที่ไม่ต้องไปทะเลาะเบาะแว้งเรื่องมรดกกับพี่น้องท้องเดียวกัน
“อยากมีความสุขตลอดไป ให้ช่วยเหลือผู้อื่น”
การเกื้อกูลแบ่งปัน เขาบ้าง เราบ้าง เรามี เราให้ เขามี เราขอ การเกื้อกูลแบ่งปันกันนี้ การให้ทำให้ชีวิตมีคุณค่า ดังเช่น ช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ คนไทยมีน้ำใจช่วยเหลือ แบ่งปันกันทั่วไทย วัดก็ตั้งโรงทาน ข้าราชการก็ขวนขวาย ชาวบ้านก็ร่วมมือแข็งขัน คนมีก็แบ่งปัน คนรับก็กินอิ่ม นอนอุ่น ตรงกับคำสอนของพระพุทธศาสนาว่า “ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก”
ประวัติผู้เขียน
พระครูปลัดสัมพิพัฒนธีราจารย์
บรรพชาเป็นสามเณร ตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี ณ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) จังหวัดกาญจนบุรี และอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ วัดยานนาวา ได้รับฉายาว่า “วีรญาโณ” หมายถึงผู้มีความรู้อันแกล้วกล้า ศึกษาพระธรรมวินัยตามวัยอันสมควรตั้งแต่เป็นสามเณร สำเร็จการศึกษานักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม ๓ ประโยค สำนักเรียนวัดยานนาวา สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.วค.), สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสำเร็จการศึกษาปริญญาโท สังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทำหน้าที่เป็นพระธรรมวิทยากร เผยแผ่ธรรม เป็นประธานเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี มีเพื่อนพ้องน้องพี่ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่พระธรรมวิทยากร บรรยายในหน่วยงาน องค์กร สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ปีละประมาณ ๓๐๐ งาน พร้อมทั้งสนองงานวัด คณะสงฆ์ และเกื้อกูลสังคม การนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับพระราชทานรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา (เสมาธรรมจักรพระราชทาน) สาขาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาภายในประเทศ
ปัจจุบัน ได้รับความเมตตาในเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (เขมงฺกรเถร) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ให้ดำรงตำแหน่งฐานานุกรมที่ “พระครูปลัดสัมพิพัฒนธีราจารย์” ปฏิบัติหน้าที่พระธรรมวิทยากร ทำหน้าที่เผยแผ่ธรรม พร้อมกันนี้ เป็นพระธรรมทูตพิเศษสายต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา และบูรณาการงานสาธารณสงเคราะห์ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ตั้งใจอุทิศตนเพื่อเพียรพยายามฝึกฝนการดำเนินชีวิตให้สามารถพึ่งตนเองได้ ทั้งภายในและภายนอก เพื่อเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้ตามแนวทางพระพุทธศาสนา และส่งต่อโอกาสแก่พระหนุ่มเณรน้อยและเยาวชนผู้กำลังเดินทางของชีวิต
โชคดีที่มีลมหายใจ
ลมหายใจยังมี ทำความดีให้ถึงที่สุด
รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ : โชคดีที่มีลมหายใจ
ผู้เขียน : พระครูปลัดสัมพิพัฒนธีราจารย์ (พระมหาวีรพล วีรญาโณ)
ขนาด : 12.8 x 18.5 เซนติเมตร
จำนวนหน้า : 96 หน้า
กระดาษเนื้อใน : กระดาษปอนด์ 70 แกรม พิมพ์ 4 สี
กระดาษปก : อาร์ตการ์ด 260 แกรม พิมพ์ 4 สี เคลือบด้าน สปอต
ราคา : 29 บาท
ISBN : 978-616-8056-57-8
Barcode : 978-616-8056-57-8
สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์วิช
เดือนที่ออก : มกราคม 2564
ประเภท : ธรรมะประยุกต์
จำนวนที่พิมพ์ : 25,000 เล่ม
จัดจำหน่าย : บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
คำนำ Book Smile
ในวันที่โลกหมุนเวียนเปลี่ยนเร็ว การใช้ชีวิตจึงต้องปรับตัวและปรับใจตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แม้วันนี้เส้นทางเดินของชีวิตจะพบอุปสรรคและปัญหานานัปการ หากเรารู้สึกท้อแท้หรือหมดกำลังใจ ให้เรียนรู้และคิดไว้เสมอว่า “โชคดีที่มีลมหายใจ” เพราะชีวิตที่โชคดีที่สุด คือชีวิตที่ยังมีลมหายใจ พร้อมกับได้ใช้ลมหายใจนั้นสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง สังคม และโลกใบนี้ โดยได้รับความสุขจากการทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด
พระครูปลัดสัมพิพัฒนธีราจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา หรือที่รู้จักในนาม พระมหาวีรพล วีรญาโณ พระธรรมวิทยากร ประธานเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี ได้เมตตาถ่ายทอดบทธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินชีวิตและมีวิธีคิดที่ถูกต้องตามแนวทางวิถีแห่งพุทธะ ซึ่งแฝงด้วยคติเตือนใจว่า ชีวิตคือการดำรงอยู่เพื่อเอาชนะความสิ้นหวัง และสร้างความดีตราบที่ยังมีลมหายใจ
สำนักพิมพ์บุ๊คสไมล์ มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมเผยแพร่หนังสือดีมีคุณภาพสำหรับคนไทยทุกคน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นานาสาระธรรมในหนังสือเล่มนี้ จะเป็นดั่งกัลยาณมิตรที่นำทางสว่างเพื่อให้ผู้อ่านพบกับความสุข ผ่านพ้นสรรพวิกฤติที่ต้องเผชิญ หากรู้สึกท้อแท้กับชีวิต ก็ให้คิดว่า “โชคดีที่มีลมหายใจ” เพื่อก้าวเดินต่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางดังที่มุ่งหวัง
สำนักพิมพ์บุ๊คสไมล์
คำนำ Wish Books
ความโชคดีเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา โดยความโชคดีของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวิธีคิดและมุมมองการใช้ชีวิต บางคนมองว่า การมีครอบครัวที่ดี มีการศึกษา มีงานทำ มีสุขภาพแข็งแรง มีโอกาสช่วยเหลือสังคม คือโชคดีที่สุดแล้ว แต่ความโชคดีที่สุดของความเป็นมนุษย์แท้จริง คือ การที่เรายังมีลมหายใจ ดังนั้น จงใช้ความโชคดีของการมีชีวิตอยู่ให้คุ้มค่ากับที่เราได้เกิดมา
“โชคดีที่มีลมหายใจ” หนังสือที่รวบรวมธรรมะบรรยายในวาระต่าง ๆ ของ พระมหาวีรพล วีรญาโณ พระธรรมวิทยากร ประธานเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี หรือ พระครูปลัดสัมพิพัฒนธีราจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา ผ่านเรื่องเล่าที่สอนเราให้รู้ว่า จงรู้สึกโชคดีที่ยังมีลมหายใจ และได้เริ่มต้นชีวิตในแต่ละวันอย่างมีคุณค่า แม้ที่ผ่านมาจะทำสิ่งใดผิดพลาด แต่ชีวิตที่เหลืออยู่ คือโอกาสสำคัญที่จะได้เปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น
สำนักพิมพ์วิช ขอกราบนมัสการขอบพระคุณ พระครูปลัดสัมพิพัฒนธีราจารย์ ที่เมตตามอบสาระธรรมที่แฝงด้วยข้อคิดคติเตือนใจเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน พระเอกชัย อรินทโม แห่ง DHAMMA ON LENS และ GRAPHIC งานวัด ที่ได้รังสรรค์หนังสือเล่มนี้กระทั่งเสร็จสมบูรณ์ เป็นการสื่อสารบทธรรมผ่านตัวอักษรและภาพถ่าย ซึ่งเป็นศาสตร์และศิลป์ที่มีความงดงามอย่างลงตัว
สำนักพิมพ์วิช ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งมอบธรรมะเป็นของขวัญปีใหม่ เพื่อส่งแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านได้ค้นพบและมีความสุขที่แท้จริง เพื่อใช้ลมหายใจนี้ให้ชีวิตมีคุณค่าในทุกวัน ตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
สำนักพิมพ์วิช
คำนำผู้เขียน
ครั้งหนึ่ง มีโยมท่านหนึ่งถามว่า “อะไรคือความโชคดีของชีวิต” ตอบโยมไปทันทีว่า “โชคดีที่มีลมหายใจ” เพราะอะไรโยมทราบไหม
พระพุทธเจ้าเคยตรัสถามพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธอคิดถึงความตายวันละกี่ครั้ง ?”
พระอานนท์ตอบว่า “วันละเจ็ดครั้งพระพุทธเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “น้อยไปอานนท์ เธอควรคิดถึงความตายทุกลมหายใจเข้า-ออก”
วันนี้ เรายังมีลมหายใจ โชคดีที่สุดแล้วโยม ดังโบราณท่านกล่าวว่า
“มีลมก็มีเรื่อง หมดลมก็หมดเรื่อง”
หากโยมอยากหมดเรื่อง ก็ต้องหมดลม
หากเรายังมีลมหายใจอยู่ ควรฝึกหายใจให้เป็น
เพราะลมหายใจที่เย็นมีแต่ความสุข
วันนี้ ลมหายใจยังมี ไม่จำเป็นต้องเอาเป็นเอาตายไปทุกเรื่อง เบาได้เบานะโยม โกรธเกลียดใคร นึกถึงความตาย ความโกรธเกลียดจะคลายลง
หนังสือ “โชคดีที่มีลมหายใจ” เป็นการรวบรวมเรื่องราวที่ได้บรรยายธรรมในองค์กรต่าง ๆ มาร้อยเรียงเป็นแนวธรรมะอารมณ์ดี : สนุก สุข ซึ้ง กินใจ อ่านแล้วจะรู้ว่า ชีวิตมีอีกหลายเรื่องที่สำคัญ
ขอส่งต่อความโชคดี ด้วยธรรมมงคล ปีใหม่พุทธศักราช ๒๕๖๔ นี้
ขอให้ทุกท่านโชคดี คือความเพียรพยาม ระวังพาลภายในคือใจเราเอง
สำเร็จ สัมฤทธิ์ ทุกกิจการงาน สาธุดัง ๆ สตางค์เยอะ ๆ
พระครูปลัดสัมพิพัฒนธีราจารย์
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา
สารบัญ
๑. สองกำลังสำคัญ
๒. สูตรของความสุข
๓. พลัง ๔ ประการ สำหรับคนทำงาน
๔. วิธีสร้างเสน่ห์ของคนทำงาน
๕. บริหารใจให้ปกติ
๖. งาน (วุ่น) ทั้งวันจะปฏิบัติธรรมได้อย่างไร
๗. เราไม่ได้สูงขึ้นหรือจมลง เพราะน้ำลายใคร
๘. เรื่องบางเรื่อง เราต้องเข้าใจให้ชัดเจน
๙. คนที่นับได้ว่ามีโชคดี
๑๐. ผ่อนสั้นผ่อนยาวบ้าง ชีวิตจะง่ายขึ้น
๑๑. โบราณว่าไว้
๑๒. จงระวังเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
๑๓. สิ่งที่ซ่อนอยู่ในคำตำหนิ
๑๔. คนฉลาด กับคนฉลาดกว่า
๑๕. คนดี ๑ คน คนเลว ๑ คน คนทั้งสองคือครูของเรา
๑๖. นึกถึงคุณค่าชีวิตไว้
๑๗. ความสุขที่จำเป็นที่สุดของความเป็นมนุษย์
๑๘. สัตว์ ๔ ชนิดในองค์กร
๑๙. งานนอกต้องงอกงาม งานในก็ต้องเยือกเย็น
๒๐. เก่งอย่างเดียวไม่พอ
๒๑. ทำอย่างไรให้เราเป็นคนเฮงมากกว่าคนเก่ง
๒๒. อนาคต เกิดขึ้นจากปัจจุบัน
๒๓. วุฒิการศึกษา ไม่สำคัญเท่าวุฒิภาวะ
๒๔. คติทองของการทำงาน
๒๕. การทำงานไม่คั่งค้าง
๒๖. การปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญ
๒๗. เจอคนเก๋า ให้หลบหลีก
๒๘. ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
๒๙. รู้ประมาณตนเอง
ตัวอย่างเนื้อหาบางส่วน
๑. สองกำลังสำคัญ
หากถามว่า “กำลังอะไรสำคัญในชีวิต ?”
ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี ยาจก วณิพก คนขอทาน คนรวยเป็นร้อยล้าน มีสามีหรือภรรยาดีแค่ไหนก็ตาม มีอยู่ ๒ กำลัง ที่ทุกคนในโลกนี้ต้องการ คือ “กำลังใจ” และ “กำลังกาย”
เมื่อกายกับใจ หรือรูปกับนาม เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ต้องแยกส่วนพิจารณา บางคนสุขภาพกายไม่ดี แต่สุขภาพใจแข็งแรง บางคนสุขภาพกายดี แต่สุขภาพใจไม่ดี
กายกับใจอยู่ด้วยกัน แต่บางคราวต้องแยกกันให้ชัด เหมือนเขาด่าเรา บางครั้งเราไม่ได้เจ็บใจ แต่เรารู้สึกเสียหน้า เสียเกียรติ ซึ่งเป็นเรื่องของกาย เรารู้สึกว่าเจ็บใจ แต่ต้องอดกลั้นไว้
ในสมัยหนึ่ง มีพราหมณ์คนหนึ่ง โกรธโมโหภรรยามาก ด้วยเหตุที่ว่า ทุกครั้งที่ภรรยาตกใจหรือดีใจอะไร จะอุทานตลอดว่า “นะโม ๆ” หรือ “พุทโธ ๆ” พราหมณ์คนนั้นจึงกล่าวกับภรรยาว่า “พรุ่งนี้ ฉันจะเลี้ยงอาหารพราหมณ์ ห้ามเธออุทานถึงพระพุทธเจ้าเธอเด็ดขาด ถ้าเธออุทาน ฉันจะฟันกายเธอให้ขาดเป็นสองท่อน”
ภรรยาพราหมณ์ได้แต่ภาวนาในใจว่า ถึงแม้เขาจะฟันกายเรา แต่เราก็ยังจะระลึกถึงพระพุทธเจ้าเช่นเดิม เมื่อถึงเช้าวันเลี้ยงอาหารพราหมณ์มาถึง ในขณะที่ภรรยากำลังจัดเตรียมอาหารอยู่ เกิดพลาดเดินสะดุด จึงอุทานขึ้นเสียงดังว่า “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”
พราหมณ์โกรธมาก ตำหนิภรรยาว่า “ทำไมเธอจึงอุทานออกมาอย่างนี้ ฉันบอกเธอแล้วใช่ไหมว่า อย่าอุทานถึงพระพุทธเจ้าของเธอ”
พราหมณ์คิดจะฟันภรรยาตามที่กล่าวไว้ แต่หวนนึกได้ว่า เธอเป็นภรรยา จึงกล่าวขึ้นว่า “หญิงถ่อย ฉันจะไปต่อว่าพระศาสดาของเธอ”
ภรรยาจึงกล่าวว่า “ไปเถิดพี่ ฉันยังไม่เคยเห็นใครเขาไปต่อว่าพระพุทธเจ้าได้เลย ถ้าพี่ไปแล้ว ช่วยทูลถามปัญหาให้ฉันด้วยนะ”
เมื่อพราหมณ์ไปถึงสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว ด้วยความโกรธจึงไม่แสดงความเคารพ แต่ถามว่า “ฆ่าอะไรได้ จึงอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไร จึงไม่เศร้าโศก ท่านสมณโคดม ท่านชอบการฆ่าอะไร ซึ่งเป็นธรรมอันเอก”
พระพุทธเจ้าจึงตรัสกับพราหมณ์ว่า “บุคคลฆ่าความโกรธได้ จึงอยู่เป็นสุข จึงไม่เศร้าโศก”
พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญการฆ่าความโกรธ อันมีรากเป็นพิษ มียอดอันหวาน เพราะเมื่อบุคคลนั้นฆ่าความโกรธได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก
หลายครั้งที่เราโกรธ เราควรฆ่าความโกรธด้วยขันติ เพราะ “อดทนเป็นเรื่องของกาย อดกลั้นเป็นเรื่องของใจ” แต่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับกายมากกว่าใจ เสื้อผ้า หน้าผม สวยหล่อ นั่นคือ “กาย” แต่ความเยือกเย็น ความเกื้อกูล การให้เกียรติ การให้อภัย นั่นคือ “ใจ”
๒. สูตรของความสุข
มีคนมาชมเรา โยมชอบไหม ?
มีใครมาด่าเรา โยมเกลียดไหม ?
ในแต่ละวัน ชีวิตเราชมคนอื่น กับนินทาคนอื่น โยมทำสิ่งไหนมากกว่ากัน ?
หากมีใครมานินทาว่าร้าย ภาวนาในใจบ่อย ๆ ว่า “ปากคุณ หูฉัน” เราห้ามปากเขาไม่ได้ ห้ามหูเราน่าจะง่ายกว่า แต่ทุกครั้งที่เราคิด พูด ทำ สิ่งที่แสดงออกไปคือผลที่จะกลับมาหาตัวเรา เพราะทุกอย่างเป็นไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติล้วนเกื้อกูลกันอยู่
“เรายกย่องเขา เขาก็ยกย่องเรา
เราเหยียบย่ำเขา เขาก็เหยียบย่ำเรา”
มีสุภาษิตจีนบทหนึ่งสอนว่า...
“อยากมีความสุข ๑ ชั่วโมง ให้นอนหลับพักผ่อน”
เมื่อเรารู้สึกเหนื่อยล้า ทนไม่ไหวจริง ๆ ก็อย่าไปฝืน นอนเป็นนอน พักเป็นพัก เดี๋ยวค่อยเริ่มต้นกันใหม่
“อยากมีความสุข ๑ วัน ให้ออกไปตกปลา”
เป็นการพักผ่อน เช่น พาครอบครัวไปเที่ยว ไปเยี่ยมผู้ใหญ่ ไปไหว้พระทำบุญ แบ่งปันบริจาคทาน
วิธีสร้างความสุขและสร้างสมดุลชีวิตใน ๑ วัน มีสูตรการบริหารเวลาให้คุ้มค่าง่าย ๆ คือ “๘ + ๘ + ๘” นอนพักผ่อน ๘ ชั่วโมง ทำงาน ๘ ชั่วโมง มีเวลาให้กับครอบครัว ๘ ชั่วโมง ถ้าใช้สูตรนี้ ความสุขย่อมเกิดขึ้น ความสมดุลชีวิตก็ทำหน้าที่
“อยากมีความสุข ๑ เดือน ให้แต่งงาน”
เราจะมีความสุขในช่วงเริ่มต้น หลังจาก ๑ เดือน ไปแล้ว ความจริงในชีวิตจะปรากฏ สุข ทุกข์ เริ่มทำหน้าที่ คล้าย ๆ กับช่วงรักหมดโปรโมชั่น แต่ก็พึงประคับประคองใจ บริหารความสุขให้ต่อเนื่อง
“อยากมีความสุข ๑ ปี ให้รับมรดก”
หลังจาก ๑ ปีไปแล้ว พี่ฟ้องน้อง น้องฟ้องพี่ ญาติพี่น้องทะเลาะเบาะแว้ง เพราะพ่อแม่ไม่อยู่ เป็นความโชคดีของเรา ที่เราเกิดมา พ่อแม่มีทรัพย์สินน้อย จะได้ไม่ตัดพี่ตัดน้อง ด้วยเพียงกระดาษใบบาง ๆ ที่เรียกว่า ธนบัตร ที่มีความคมมาก อาจถึงขั้นตัดพี่ตัดน้องกันได้ เราโชคดีที่ไม่ต้องไปทะเลาะเบาะแว้งเรื่องมรดกกับพี่น้องท้องเดียวกัน
“อยากมีความสุขตลอดไป ให้ช่วยเหลือผู้อื่น”
การเกื้อกูลแบ่งปัน เขาบ้าง เราบ้าง เรามี เราให้ เขามี เราขอ การเกื้อกูลแบ่งปันกันนี้ การให้ทำให้ชีวิตมีคุณค่า ดังเช่น ช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ คนไทยมีน้ำใจช่วยเหลือ แบ่งปันกันทั่วไทย วัดก็ตั้งโรงทาน ข้าราชการก็ขวนขวาย ชาวบ้านก็ร่วมมือแข็งขัน คนมีก็แบ่งปัน คนรับก็กินอิ่ม นอนอุ่น ตรงกับคำสอนของพระพุทธศาสนาว่า “ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก”